แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาซื้อขายแว่นตาระบุลักษณะของแว่นตาไว้และมีข้อความกล่าวถึงกรณีที่สินค้าส่งมาไม่เหมือนตัวอย่าง หรือลักษณะที่ตกลงกันไว้อีกด้วย คู่ความจึงนำสืบพยานบุคคลตีความในสัญญานั้นได้ ว่าก่อนทำสัญญาได้ดูตัวอย่างเป็นที่พอใจแล้ว จึงให้สั่งแว่นตานั้นมาอันเป็นสัญญาซื้อขายตามตัวอย่าง ไม่ใช่ซื้อตามคำพรรณนา
การเรียกให้ผู้ขายรับของที่ส่งมอบไม่ตรงตามตัวอย่างคืนและหักเงินที่ชำระราคาล่วงหน้าไปแล้วผู้ซื้อฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับแต่วันส่งมอบ คดีขาดอายุความ
จำเลยให้การและฟ้องแย้งให้โจทก์รับของที่โจทก์ส่งมอบไม่ตรงตามตัวอย่างคืนทั้ง 5 งวด และหักเงินราคาให้จำเลยแต่ได้ความว่าคดีของจำเลยขาดอายุความเสีย 4 งวดจำเลยสืบพยานถึงจำนวนของแต่ละงวดโดยประมาณ ซึ่งรับฟังไม่ได้ศาลให้จำเลยแถลงเพิ่มเติมว่าจำนวนและราคาแน่นอนเท่าใดเมื่อเสร็จสำนวนแล้ว คำแถลงนี้รับฟังไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1951 (พ.ศ. 2494)จำเลยทำสัญญาให้โจทก์ส่งสินค้ากระจกแว่นตา ของดอกเตอร์เฮนริช จากประเทศเยอรมัน หลายชนิด หลายจำนวน ตามคำพรรณนารายละเอียดเป็นสัญญา 2 ฉบับ คือเลขที่ 167 และ 167 เอ. ลงวันเดียวกัน การส่งสินค้าเป็น 5 งวด เมื่อสินค้ามาถึงแล้ว จำเลยขอแบ่งรับสินค้าไปเป็นจำนวนย่อย ๆ หลายครั้ง และได้ชำระเงินให้โจทก์ตลอดมา ระหว่าง พ.ศ. 2495 จำเลยเคยขอให้โจทก์ติดต่อกับผู้ส่งของว่า สินค้าไม่เหมือนตัวอย่าง ทางต่างประเทศได้ยืนยันมาว่ากระจกแว่นตาของเขาได้ผลิตตามหลักวิชา ทั้งได้ส่งมาให้ถูกต้องตามคำพรรณนาที่สั่งไปแล้ว จึงไม่ยอมรับผิด หลังจากจำเลยได้ทราบผลที่ห้างต่างประเทศชี้แจงมาแล้ว จำเลยยอมรับสินค้าที่ยังเหลือเป็นจำนวนสุดท้ายจากโจทก์เป็นราคา 72,043 บาท 95 สตางค์ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2497 ดังปรากฏตามใบรับสินค้าและบัญชีรายละเอียด (พร้อมคำแปลท้ายฟ้องหมาย 4, 5) ต่อมาโจทก์ส่งคนไปเก็บเงินหลายครั้งจำเลยขอผัด ในที่สุดเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2497 จำเลยได้บันทึกตกลงยินยอมชำระเงินให้โจทก์ทั้งหมดตามบิล 72,043 บาท 95 สตางค์ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2497 แต่จำเลยก็ผิดนัด จึงขอให้บังคับจำเลยชำระเงินซึ่งจำเลยยินยอมแล้ว 72,043 บาท 95 สตางค์ให้โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ทำสัญญากับโจทก์จริง แต่จำเลยถือว่าเป็นสัญญาจะซื้อขาย เวลาทำสัญญาโจทก์ก็ได้แสดงตัวอย่างชนิดของกระจก แว่นตาทุกชนิดที่ตกลงซื้อขายกันซึ่งจำเลยเห็นชอบและตกลงด้วย เฉพาะชนิดฟาร์เกลกรุน และโซลอพตา ฟาร์เกล ซึ่งปรากฏตามสัญญาหมาย 2 ท้ายฟ้อง สีมืดและสีสว่างในกระจกแต่ละอันให้ทำค่อย ๆจางลงไป ปรากฏตามตัวอย่างที่จำเลยเสนอมาพร้อมคำให้การหมาย 1เมื่อทำสัญญาแล้ว โจทก์ได้ส่งกระจกแว่นตาชนิดต่าง ๆ มาขายให้จำเลย 5 ครั้ง ครั้งแรกส่งมาถูกต้องตามที่ตกลงกันทุกชนิด แต่ต่อมาอีก 4 ครั้งหลังกระจกแว่นตาชนิดฟาร์เกลกรุนและโซลอพตาฟาร์เกลหาถูกต้องตามตัวอย่างทั้งหมดไม่ มีที่ไม่ถูกต้องตามตัวอย่างปะปนมา ทุกคราวคือกระจกแว่นมีสีมืดกับสีสว่างไม่ได้ทำให้ค่อย ๆจางลงไปตามที่ตกลงกันแต่แยกสีกันทันที เป็นเหตุให้เกิดเส้นคั่นขึ้นในระหว่างสีมืดกับสีสว่าง ตามตัวอย่างที่จำเลยเสนอมาท้ายคำให้การหมาย 2 กระจกที่ผิดไปตามตัวอย่างนี้ทำให้ผู้ใช้เวียนศีรษะ เป็นอันตรายแก่สายตา จำเลยจึงมีหนังสือลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2495 ถึงโจทก์ตามสำเนาหนังสือหมาย 3 ว่ากระจกไม่เหมือนตามตัวอย่าง ขอให้โจทก์รับคืนไป โจทก์ตอบมาว่าโจทก์จะส่งหนังสือของจำเลยไปยังดอกเตอร์ชไนเดอร์ เพื่อการตรวจพิเคราะห์แล้วจะแจ้งให้จำเลยทราบ ตามสำเนาหนังสือท้ายคำให้การหมาย 4 แต่แล้วโจทก์ก็หาได้ปฏิบัติประการใดไม่
กระจกแว่นตาชนิดฟาร์เกลกรุน และโซลอพตาฟาร์เกลที่โจทก์ส่งให้จำเลยไม่ถูกต้องตามที่ตกลงกัน และให้โจทก์รับคืนไปนั้นรวมจำนวน 774 คู่เป็นเงินที่โจทก์คิดเอาจากจำเลย 100,544 บาท 46 สตางค์ เงินจำนวนนี้โจทก์ต้องคืนให้จำเลย เมื่อคิดหักกับเงินที่โจทก์ฟ้อง โจทก์กลับเป็นหนี้จำเลยอีก 28,500 บาท 51 สตางค์
จำเลยชำระเงินให้โจทก์ล้ำจำนวนไปโดยมิได้คิดค่ากระจกแว่นตาที่โจทก์ส่งให้ผิดจากข้อตกลง ก็โดยจำเลยคิดว่าควรจะหักกันได้ในงวดสุดท้าย เพราะจำเลยได้โต้แย้งให้โจทก์รับกระจกแว่นตาที่ไม่ถูกต้องคืนไปแล้ว ที่จำเลยไม่ยอมชำระเงินงวดสุดท้ายให้โจทก์ก็เป็นความผิดของโจทก์เองที่ไม่ยอมตกลงกับจำเลยในเรื่องที่จำเลยได้โต้แย้งไว้ ที่โจทก์กล่าวในฟ้องว่า จำเลยได้บันทึกตกลงยินยอมชำระเงินให้โจทก์ทั้งหมด 72,043 บาท 95 สตางค์ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2497 นั้น จำเลยขอปฏิเสธว่า ไม่เป็นความจริงเป็นแต่จำเลยบันทึกในบิลเก็บเงินเพื่อให้รู้วันว่าให้มาเก็บใหม่เมื่อใดเท่านั้น ซึ่งจำเลยคิดว่าโจทก์จำเลยอาจตกลงกันก่อนวันนั้นได้การบันทึกเช่นนี้หามีลักษณะเป็นคำรับรองหรือรับสารภาพหนี้แต่อย่างใดไม่
จำเลยตัดฟ้องว่า ตามสัญญาข้อ 10 มีว่า หากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นจากสัญญา ทั้งสองฝ่ายจะยินยอมให้หอการค้าไทยเป็นอนุญาโตตุลาการวินิจฉัย โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องยังศาลก่อนไม่ได้
จึงฟ้องแย้งให้โจทก์ใช้เงินจำเลย 28,500 บาท 51 สตางค์และให้โจทก์รับกระจกแว่นตาที่ผิดข้อตกลงรวม 774 คู่คืนไปและให้ชำระดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยจะฟ้องแย้งเรียกราคากระจกแว่นตา รวม 774 คู่นั้นไม่ได้ และไม่ถูกต้อง เพราะการส่งมอบสินค้างวดสุดท้ายนี้มีกระจกแว่นทั้งสองอย่างนี้เพียง 309 คู่ซึ่งเมื่อคิดราคาตามส่วนเฉลี่ยเป็นเงินไทยเพียง 35,350 บาท 09 สตางค์เท่านั้น การซื้อขายในงวดก่อน ๆ จำเลยได้รับสินค้าและชำระราคาแล้ว โจทก์ไม่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 508(3) ทั้งคดีก็ขาดอายุความตาม มาตรา 504, 467, 474 แล้ว
เมื่อจำเลยทักท้วงมา ฝ่ายโจทก์ก็ได้จัดการตามเอกสารหมาย 4 (ท้ายคำให้การฟ้องแย้งของจำเลย) เมื่อผู้ส่งสินค้าได้ตอบชี้แจงโจทก์ก็ได้แจ้งให้จำเลยทราบตามจดหมายของโจทก์ ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1952 (หมาย 6-7 ท้ายคำให้การของโจทก์) แล้วต่อมาวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2497 จำเลยก็ยังยอมรับสินค้างวดที่ 5 ทั้งที่จำเลยทราบว่ากระจกมีสภาพดังที่ปรากฏอยู่โดยไม่อิดเอื้อนโจทก์ไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 472 การซื้อขายงวดที่ 5 นี้สมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว ยังเหลือก็คือจำเลยยังไม่ได้ชำระเงินให้โจทก์เท่านั้น
ก่อนลงมือสืบพยานจำเลย จำเลยยื่นคำร้องว่า ตามสัญญาจะซื้อขาย ข้อ 10 มีว่า ผู้ซื้อและผู้ขายได้ยินยอมตกลงกันว่า หากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย จะยินยอมให้หอการค้าไทยเป็นอนุญาโตตุลาการวินิจฉัย โจทก์จะนำคดีมาฟ้องก่อนไม่ได้ ขอให้ศาลชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหานี้ก่อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 24 ศาลสั่งให้รวมไว้มีคำสั่งในเวลาพิพากษาคดี
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยคำร้องของจำเลยที่ขอให้ชี้ขาดเบื้องต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 เห็นว่าตามสัญญาข้อ 10 มีคำแต่เพียงว่าจะยินยอมให้หอการค้าไทยเป็นอนุญาโตตุลาการวินิจฉัย ไม่มีข้อความชัดว่าจะต้องเสนอข้อพิพาทให้หอการค้าไทยวินิจฉัยก่อน โจทก์จึงอาจนำคดีมาฟ้องยังศาลได้โดยตรง ไม่จำเป็นต้องเสนอให้หอการค้าไทยเป็นอนุญาโตตุลาการคำร้องของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนการซื้อขายรายนี้เป็นสัญญาซื้อขายตามพรรณนาหรือซื้อขายตามตัวอย่าง เห็นว่าเป็นการซื้อขายตามตัวอย่าง เพราะได้ความว่าจำเลยได้ดูตัวอย่างก่อนทำสัญญา และตามสัญญาข้อ 9 มีข้อความว่า “ในกรณีที่ผู้ซื้อเรียกร้องว่า สินค้าที่มาถึงไม่เหมือนตามตัวอย่างฯลฯ” ทั้งจำเลยยังมีเอกสารหมาย จ.3 ประกอบด้วย
เมื่อฟังว่าเป็นการซื้อขายตามตัวอย่างแล้ว หากโจทก์ส่งของมาผิดกับตัวอย่าง โจทก์ก็ต้องรับผิดต่อจำเลยในสิ่งของที่ไม่ตรงกับตัวอย่างนั้น เมื่อจำเลยรับสินค้าแล้วจำเลยก็มีหนังสือแจ้งแก่โจทก์ว่าสินค้าบางอย่างไม่ตรงตามตัวอย่าง ขอคืนให้โจทก์ ถือว่าจำเลยรับมอบของโดยมีการอิดเอื้อน ซึ่งจำเลยย่อมมีสิทธิฟ้องได้แต่จำเลยรับมอบสินค้างวดที่ 2 และที่ 3 เมื่อ ค.ศ. 1952 ตรงกับ พ.ศ. 2495 เมื่อนับถึงวันที่จำเลยฟ้องแย้งเกินเวลา 1 ปีแล้วนับแต่วันที่รับมอบ คดีจึงขาดอายุความเฉพาะการรับมอบงวดที่ 2 และที่ 3 ส่วนงวดที่ 4 ที่ 5 นั้น จำเลยได้ใช้สิทธิฟ้องแย้งยังไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันรับมอบ จึงมีสิทธิฟ้องให้โจทก์รับผิดในสินค้าที่ไม่ตรงตามตัวอย่างนั้นได้ส่วนการรับมอบสินค้างวดที่ 5 จำเลยรับว่ายังไม่ได้ชำระราคาให้แก่โจทก์เลย
ที่โจทก์อ้างว่า หลังจากจำเลยรับมอบสินค้างวดที่ 5 แล้วจำเลยได้เคยบันทึกยินยอมชำระให้โจทก์ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2497 จำเลยย่อมต้องรับผิดต่อโจทก์เต็มตามราคาสินค้างวดที่ 5 นั้นข้อนี้จำเลยต่อสู้และนำสืบว่า ข้อความที่เขียนนั้นเป็นข้อความที่จำเลยประสงค์จะให้ผู้เก็บเงินมาเก็บเงินใหม่ในวันที่ 11พฤษภาคม 2497 ไม่ได้หมายความว่า จำเลยจะยอมชำระราคาให้ในวันนั้น จำเลยเขียนคำว่า “Pay off 11 May 1954” ในเอกสาร จ.2 และฝ่ายโจทก์ได้แปลคำนี้ว่า “จ่ายหมด 11 พฤษภาคม 1954″ เมื่อพิเคราะห์ถ้อยคำนี้แล้ว ศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นถ้อยคำไม่ชัดเจนอาจหมายความว่าจะจ่ายหมดในวันนั้นเฉพาะราคาสินค้าที่ถูกต้องตามตัวอย่างก็ได้ เพราะจำเลยได้ทักท้วงไว้แต่แรกว่ามีสินค้าที่ไม่ถูกต้องตามตัวอย่างปะปนรวมอยู่ด้วย จะฟังเป็นคำรับสารภาพหนี้ว่าจะจ่ายหมดจำนวนสินค้าที่เซ็นรับเอาไปนั้นยังไม่ได้ เมื่อสินค้าในงวดที่ 5 นี้มีสินค้าที่ไม่ตรงตามตัวอย่างปะปนมาด้วยและจำเลยก็เสนอส่งมอบคืนแก่โจทก์แต่แรกแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะขอให้โจทก์รับคืนได้เมื่อยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่วันรับมอบ
ข้อเท็จจริงที่ว่า จำเลยได้รับมอบสินค้าแว่นตาที่ผิดตัวอย่างในงวดที่ 4 งวดที่ 5 เป็นจำนวนงวดละเท่าใดนั้น จำเลยได้สาบานตัวเบิกความว่าในงวดที่ 4 จำเลยได้รับมอบแว่นตากันแดดที่ผิดตัวอย่างประมาณ 210 คู่ ในงวดที่ 5 จำเลยได้รับมอบแว่นตากันแดดที่ผิดตัวอย่างประมาณ 309 กว่าคู่ ส่วนโจทก์ไม่ได้นำสืบแก้ในข้อนี้ ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยเบิกความใช้คำว่าประมาณ ส่วนจำนวนแว่นตากันแดดที่ผิดตัวอย่างทั้งหมดตามคำฟ้องแย้งของจำเลยได้กล่าวไว้ชัดแล้วว่าเป็นจำนวน 774 คู่และราคาทั้งหมด 100,544 บาท 46 สตางค์ จึงควรสอบถามให้ชัดว่าเฉพาะงวดที่ 4 งวดที่ 5จำเลยรับมอบแว่นตาที่ผิดตัวอย่างเป็นจำนวนและราคางวดละเท่าใดจำเลยได้ยื่นคำแถลงว่างวดที่ 4 จำเลยรับมอบ 330 คู่ คิดเป็นเงิน23,125 บาท งวดที่ 5 จำเลยรับมอบ 309 คู่ คิดเป็นเงิน 55,090 บาท 46 สตางค์ รวมทั้ง 2 งวด เป็นจำนวน 539 คู่เป็นเงิน 78,215 บาท 46 สตางค์ โจทก์ได้คัดค้านว่าศาลไม่ควรรับฟังคำแถลงของจำเลยเพราะคดีเสร็จสำนวนแล้ว ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยแถลงได้โดยเป็นการชี้แจงรายละเอียดแยกเป็นงวด ๆ ซึ่งจำเลยได้นำสืบถึงจำนวนรวมและราคาที่รวมทั้งหมดไว้แล้ว ไม่ใช่แถลงแก้จำนวนและราคาที่ได้ฟ้องแย้งไว้ ข้อเท็จจริงควรรับฟังว่าในงวดที่ 4 งวดที่ 5 จำเลยได้รับมอบแว่นตากันแดดที่ผิดตัวอย่าง รวม 539 คู่ ราคา 78,215 บาท 46 สตางค์ จึงพิพากษาให้จำเลยชำระเงินราคาสินค้างวดที่ 5 แก่โจทก์เป็นเงิน 72,043 บาท 95 สตางค์และให้โจทก์รับคืนแว่นตาที่ส่งมอบให้แก่จำเลยผิดตัวอย่างเฉพาะแว่นตาที่จำเลยรับมอบในงวดที่ 4 ที่ 5 และให้โจทก์คืนราคาแว่นตาที่ผิดตัวอย่างในงวดที่ 4 ที่ 5 นั้น ให้แก่จำเลยตามราคาที่ตกลงซื้อขายกันไว้ในสัญญารวม 539 คู่ เป็นเงิน 78,215 บาท 46 สตางค์คำฟ้องของโจทก์และคำฟ้องแย้งของจำเลยที่ไม่ตรงกับคำวินิจฉัยนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นเป็นส่วนมากเว้นแต่กระจกแว่นตาที่จำเลยรับมอบในงวดที่ 4 จนถึงวันจำเลยฟ้องแย้งเกิน 1 ปีแล้ว คดีขาดอายุความ จำเลยคงมีสิทธิฟ้องแย้งได้เฉพาะสินค้าที่ผิดตัวอย่างงวดที่ 5 เท่านั้น และที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยแถลงต่อศาลว่ากระจกแว่นตาที่ว่าผิดตัวอย่าง 774 คู่ในงวดที่ 2, 3, 4, 5 งวดละเท่าใด ราคาเท่าใด ไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 187 เพราะจำเลยมีหน้าที่นำสืบแต่ไม่นำสืบให้สม ผลร้ายย่อมตกอยู่แก่จำเลยเอง ศาลอุทธรณ์จึงไม่ถือเอาคำแถลงของจำเลยเรื่องจำนวนและราคาแต่ละงวดที่จำเลยแถลงเพิ่มเติมไว้นั้น เป็นหลักฐานในสำนวนและฟังข้อเท็จจริงว่ากระจกแว่นตาที่ผิดตัวอย่างปะปนมาในงวดที่ 5 มีเพียง 309 คู่เป็นราคาเงิน 35,350 บาทเท่านั้น ซึ่งโจทก์มีหน้าที่จะต้องรับคืน เมื่อหักกับราคากระจกงวดที่ 5 ทั้งหมดซึ่งเป็นราคา 72,043 บาท 95 สตางค์ ยังเหลือเงินที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์ 36,693 บาท 95 สตางค์ ข้ออุทธรณ์ปลีกย่อยอื่น ๆ ไม่จำต้องวินิจฉัยจึงพิพากษาแก้ว่าให้จำเลยใช้เงิน 36,693 บาท 95 สตางค์ พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ และให้โจทก์รับคืนกระจกแว่นตาที่ผิดตัวอย่างงวดที่ 5 จำนวน 309 คู่ ราคา 35,350 บาท จากจำเลย นอกจากนี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยต่างฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาปรึกษาคดีนี้แล้ว โจทก์คัดค้านว่า หนังสือสัญญาซื้อขายได้กล่าวพรรณนาถึงลักษณะของที่ซื้อขายไว้ชัดเจน จำเลยจะนำสืบว่าเป็นการขายตามตัวอย่างไม่ได้ เพราะสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อสัญญานั้น ได้พิเคราะห์สัญญาซื้อขายนั้นแล้ว ด้านหน้ามีข้อความว่า”สินค้ากระจกแว่นตาดอกเตอร์เฮนริชสไนเดอร์ ดังลักษณะจำเพาะและคุณภาพดังต่อไปนี้ ฯลฯ” แต่สัญญาข้อ 9 ที่พิมพ์เป็นแบบฟอร์มไว้ด้านหลังมีข้อความว่า “ในกรณีที่ผู้ซื้อเรียกร้องว่าสินค้าที่ส่งมาถึงไม่เหมือนตามตัวอย่างหรือตามลักษณะที่ตกลงกันไว้ ฯลฯ” ความจึงไม่แน่ชัดว่าเป็นสัญญาซื้อขายตามคำพรรณนาหรือซื้อขายตามตัวอย่าง คู่ความย่อมมีสิทธิจะนำพยานบุคคลสืบประกอบเป็นการตีความหมายแห่งสัญญานั้นได้ไม่ใช่เป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไข
จำเลยนำสืบได้ความว่า ก่อนจะเซ็นสัญญาซื้อขาย ได้ดูตัวอย่างแว่นตาเป็นที่พอใจแล้ว จึงตกลงให้บริษัทโจทก์จัดการสั่งจากประเทศเยอรมัน แม้นายนิมฟิวส์ ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์และมีหน้าที่เป็นผู้สั่งของจากต่างประเทศเบิกความเป็นพยานจำเลยว่าก่อนทำสัญญาซื้อขาย พยานได้รับตัวอย่างกระจกแว่นตาจากต่างประเทศและได้ให้จำเลยดูก่อนทำสัญญา ทั้งจำเลยยังมีพยานเอกสารเป็นจดหมายของนายอนันต์ (หมาย ล.3) ซึ่งเคยทำงานที่บริษัทโจทก์ถึงนายบุญเท่งผู้จัดการบริษัทจำเลยมีข้อความว่า “ควรผ่อนมาบ้างก็ได้ ส่วนที่ผิดตัวอย่างนั้น เฮียขอรับรองว่าจะจัดการให้เป็นที่เรียบร้อยจงได้ ฯลฯ” จึงฟังได้ว่าเป็นการซื้อขายตามตัวอย่างดังที่ศาลทั้งสองวินิจฉัย
จำเลยได้รับกระจกแว่นตาจากบริษัทโจทก์รวม 5 งวด เฉพาะงวดแรกจำเลยรับว่า บริษัทโจทก์ส่งมาถูกต้องตามตัวอย่างทุกชนิด แต่ 4 งวดหลังมีที่ผิดจากตัวอย่างปะปนมาด้วยทุกคราวจำเลยจึงฟ้องแย้งขอให้โจทก์รับคืนกระจกแว่นตาที่ส่งผิดจากตัวอย่างตั้งแต่งวดที่ 2, 3, 4, 5 รวม 774 คู่เป็นเงิน 100,544บาท 46 สตางค์ แต่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยคงมีสิทธิฟ้องได้เฉพาะงวดที่ 4 และที่ 5 เท่านั้น ส่วนงวดที่ 2 และที่ 3 ขาดอายุความแล้ว เพราะจำเลยได้รับมอบมาจนถึงวันฟ้องแย้งเกิน 1 ปี จำเลยยอมตามคำชี้ขาดของศาลชั้นต้น หาได้อุทธรณ์คัดค้านไม่แต่ต่อมาศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในคดีที่โจทก์อุทธรณ์ว่างวดที่ 4 คดีก็ขาดอายุความอีกด้วย คงมีสิทธิฟ้องเฉพาะงวดที่ 5 เท่านั้นจำเลยจึงคัดค้านขึ้นมาในชั้นนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าฟ้องแย้งของจำเลยที่ขอให้บริษัทโจทก์รับคืนกระจกแว่นตาซึ่งผิดจากตัวอย่างในงวดที่ 2 และที่ 3 นั้นได้ยุติเพียงศาลชั้นต้นแล้ว ส่วนงวดที่ 4คงเห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ว่าคดีขาดอายุความฟ้องร้องแล้วจริงเพราะได้ความจากนายบุญเท่ง ผู้จัดการบริษัทจำเลยเองว่าได้รับสินค้างวดที่ 4 เมื่อวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1953 (ตรงกับ พ.ศ. 2496) และนายรามิน พยานโจทก์ว่าส่วนของงวดสุดท้ายรับเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1954 ซึ่งเว้นมาปีกว่า จึงฟังได้ว่างวดที่ 4ได้ส่งมอบกันเกินหนึ่งปีถึงวันที่จำเลยฟ้องแย้ง เหลือแต่งวดที่ 5 ซึ่งยังไม่ขาดอายุความ แต่ก็ปรากฏว่า จำเลยยังไม่ได้ชำระเงินราคาของให้บริษัทโจทก์ในงวดนี้เลย จำเลยนำสืบว่า เพราะมีกระจกแว่นตากันแดดผิดตัวอย่างปะปนมาประมาณ 309 กว่าคู่จำเลยจึงไปติดต่อกับนายรามินผู้จัดการใหญ่บริษัทโจทก์ด้วยตนเองบ้างทางโทรศัพท์บ้าง นายรามินเอาจดหมายของเมืองนอกให้ดูว่ากระจกที่ส่งมาตรงตามตัวอย่างแล้วจำเลยจึงไม่ยอมชำระราคาให้โจทก์อ้างเอกสารหมาย จ.2 และ จ.5 ยันว่า จำเลยได้ยอมตกลงซื้อขายของที่ผิดตัวอย่างเสร็จเด็ดขาดแล้วจำเลยไม่มีสิทธิฟ้องแย้ง คงมีหน้าที่แต่ชำระเงินราคาของงวดที่ 5 ให้บริษัทโจทก์เท่านั้นเอกสารหมาย จ.2 มีข้อความว่า จ่ายหมดในวันที่ 11 พฤษภาคม 1954 และเอกสารหมาย จ.5 เป็นจดหมายของจำเลยมีข้อความว่า “ข้าพเจ้าได้คัดจำนวนกระจกที่ผิดตัวอย่างออกดูแล้วปรากฏว่าเป็นจำนวนมากมายที่ใช้ไม่ได้ เพราะผิดจากตัวอย่างที่ตกลงสั่งกันถ้าท่านจะตัดราคาลง 40 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนในบิลฉบับสุดท้าย ฯลฯ ข้าพเจ้าจะยอม ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลทั้งสองว่า ข้อความในเอกสารหมาย จ.2 อาจหมายความว่าจะจ่ายหมดในวันนั้นเฉพาะราคาสินค้าที่ถูกต้องตามตัวอย่างก็ได้ เพราะจำเลยได้ทักท้วงไว้แล้วว่ามีสินค้าที่ไม่ถูกต้องตามตัวอย่างปะปนมาด้วย จึงไม่ใช่เป็นคำรับสภาพหนี้ ส่วนข้อความในเอกสารหมาย จ.5 เมื่อโจทก์ มิได้ตกลงยินยอมลดราคาให้จะถือว่าเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดแล้วยังไม่ได้
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า กระจกแว่นตาที่โจทก์สั่งให้จำเลยผิดตัวอย่างรวม 774 คู่ เป็นเงิน 100,544 บาท 46 สตางค์ เป็นหน้าที่ของจำเลยต้องนำสืบให้ปรากฏว่างวดใดจำนวนเท่าใดและราคาเท่าใดแต่จำเลยหาได้นำสืบให้แจ้งชัดไม่ เมื่อศาลชั้นต้นสืบพยานทั้งสองฝ่ายเสร็จแล้วมีคำสั่งให้จำเลยแถลงเพิ่มเติมว่ากระจกแว่นตาที่บริษัทโจทก์ส่งผิดตัวอย่างงวดใด จำนวนเท่าใดราคาเท่าใด ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 187 เพราะทำให้โจทก์เป็นฝ่ายเสียเปรียบ เมื่อจำเลยไม่นำสืบให้ได้ความชัดแจ้ง ผลร้ายย่อมตกอยู่แก่จำเลยเองนั้นถูกต้องแล้ว
เฉพาะแว่นตาที่บริษัทโจทก์ส่งผิดจากตัวอย่างในงวดที่ 5 จำเลยนำสืบว่าเป็นจำนวน 309 กว่าคู่ แต่ไม่ปรากฏว่าเป็นราคาเท่าใด เมื่อไม่ฟังคำแถลงเพิ่มเติมของจำเลยมีจำนวน 309 คู่ ราคา 55,090 บาท 46 สตางค์แล้ว จึงต้องถือตามคำให้การของโจทก์ที่แก้ฟ้องแย้งว่ากระจกแว่นตา 309 คู่ คิดราคาตามส่วนเฉลี่ยจะเป็นเงินไทยเพียง 35,350 บาท 9 สตางค์ เท่านั้น
แต่ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์มีหน้าที่จะต้องรับคืนกระจกแว่นตา 309 คู่ คิดเป็นราคาเงิน 35,350 บาท (ขาดไป 9 สตางค์) ไปจากจำเลย และเมื่อหักกับราคากระจกงวดที่ 5 ทั้งหมดซึ่งเป็น ราคา 72,043 บาท 95 สตางค์ ยังเหลือเงินที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์ 36,693 บาท 95 สตางค์ และชี้ขาดตัดสินให้จำเลยใช้เงินตามจำนวนดังกล่าวนี้พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี และให้โจทก์รับคืนกระจกแว่นตาที่ผิดตัวอย่างงวดที่ 5 จำนวน 309 คู่ ราคา 35,350 บาท จากจำเลยนั้นหาเป็นการชอบไม่ เพราะจำเลยยอมตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้วที่ให้จำเลยชำระเงินราคาสินค้างวดที่ 5 แก่โจทก์เป็นเงิน 72,043 บาท 95 สตางค์ แต่ให้โจทก์รับคืนแว่นตาที่ส่งมอบให้แก่จำเลยผิดตัวอย่าง ฯลฯ เมื่อจำเลยยังมิได้ส่งกระจกแว่นตาที่ผิดตัวอย่างในงวดที่ 5 คืนบริษัทโจทก์จำเลยก็มีหน้าที่ต้องชำระราคากระจกแว่นตาที่ได้รับมาในงวดที่ 5 ทั้งหมดให้โจทก์ก่อน
จึงพิพากษาแก้ว่า ให้จำเลยชำระเงิน 72,043 บาท 95 สตางค์ แก่บริษัทโจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้บริษัทโจทก์รับคืนกระจกแว่นตาที่ผิดตัวอย่างงวดที่ 5 จำนวน 309 คู่ ราคา 35,350 บาท 9 สตางค์ จากจำเลย แล้วหักราคาค่าแว่นตาที่รับคืนให้จำเลยด้วย ค่าธรรมเนียมและค่าทนายความในชั้นนี้ให้เป็นพับ นอกจากนี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์