คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 667/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากบ้านเช่าซึ่งมีค่าเช่าเดือนละ 95 บาท จำเลยมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ หรือมิได้ยกข้อโต้เถียงในเรื่องแปลความหมายแห่งข้อความในสัญญาเช่า คดีต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเว้นแต่จะมีการรับรองหรืออนุญาตให้อุทธรณ์ได้
จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งไม่อาจทำให้จำเลยชนะคดีได้ ย่อมไม่เป็นสารแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย
ผู้อุทธรณ์มีหน้าที่ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาให้ถูกต้องตามกฎหมาย แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับอุทธรณ์ซึ่งต้องห้าม และศาลอุทธรณ์พิพากษายก ก็เป็นความบกพร่องของผู้อุทธรณ์เอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ซึ่งเช่าห้องพิพาทของโจทก์เป็นที่อยู่อาศัย ค่าเช่าเดือนละ ๙๕ บาท ได้ผิดสัญญายอมให้จำเลยที่ ๒เข้าอยู่ในห้องพิพาทโดยมิได้รับอนุญาตจากโจทก์เป็นลายลักษณ์อักษรโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแล้ว ขอให้ขับไล่ และให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย
จำเลยทั้งสองต่อสู้ว่า จำเลยที่ ๑ ได้แจ้งให้โจทก์ทราบแล้วว่าขอให้จำเลยที่ ๒ อยู่ในห้องพิพาท และจำเลยที่ ๒ กับบริวารได้อยู่ในห้องพิพาทมา ๒ ปีเศษ โดยโจทก์มิได้ทักท้วง ถือได้ว่าโจทก์ยินยอมห้องพิพาทเป็นเคหะ โจทก์ขับไล่จำเลยไม่ได้
ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยที่ ๑ ผิดสัญญา เพราะให้จำเลยที่ ๒เข้าอยู่ในห้องพิพาทโดยมิได้รับอนุญาตจากโจทก์เป็นลายลักษณ์อักษรทั้งโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเช่า และจำเลยที่ ๑ ก็ออกไปจากห้องพิพาทแล้ว จึงมิใช่ผู้ใช้ประโยชน์ในการเช่าห้องเป็นที่อยู่อาศัย ส่วนจำเลยที่ ๒ มิใช่คู่สัญญากับโจทก์ ไม่มีสิทธิอยู่ในห้องพิพาทพิพากษาขับไล่ และให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง และบางข้อไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย เป็นอุทธรณ์ต้องห้ามตามกฎหมายพิพากษาให้ยกอุทธรณ์
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับเฉพาะฎีกาข้อ ๕ ซึ่งจำเลยฎีกาว่าศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยอย่างคดีแพ่งสามัญ แต่ศาลอุทธรณ์ว่าเป็นอุทธรณ์ต้องห้าม ขัดแย้งกันอยู่การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยไว้ จำเลยจึงไม่มีโอกาสที่จะขอให้รับรองในปัญหาข้อเท็จจริง ทำให้เสียสิทธิอุทธรณ์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากห้องเช่าซึ่งมีค่าเช่าเดือนละ ๙๕ บาท จำเลยมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ หรือยกข้อโต้เถียงในเรื่องแปลความหมายแห่งสัญญาเช่าคดีจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๔ แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับอุทธรณ์มา ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจที่จะไม่วินิจฉัยได้ ปัญหาที่จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ ๒ได้รับอนุญาตให้อยู่ในห้องพิพาทโดยปริยาย และจำเลยที่ ๑ ยังไป ๆ มา ๆ ถือไม่ได้ว่า ออกไปจากห้องของโจทก์แล้วนั้น เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า จำเลยเช่าห้องพิพาทอยู่อาศัยได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านั้นคู่ความรับกันว่า จำเลยที่ ๑ เข้าอยู่อาศัย จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย แต่ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยที่ ๑ ออกจากห้องพิพาทไปแล้ว และจำเลยที่ ๒ เข้าอยู่โดยอาศัยสิทธิจำเลยที่ ๑ ยกพระราชบัญญัติควบคุมการเช่าฯ เป็นข้ออ้างไม่ได้อุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยจึงไม่เป็นสาระอันควรวินิจฉัย เพราะไม่เป็นเหตุให้จำเลยชนะคดีได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยมีหน้าที่ดำเนินกระบวนพิจารณาให้เป็นไปตามกฎหมาย การที่จำเลยเพียงแต่อุทธรณ์ขึ้นไปเฉย ๆ โดยไม่แสดงให้ปรากฏว่า จะให้มีการรับรองอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงก็ดี และการที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยเฉย ๆ โดยไม่ได้รับรองให้จำเลยอุทธรณ์ให้จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงก็ดีเหล่านี้เกิดจากการดำเนินกระบวนพิจารณาของจำเลยเองในเบื้องต้นเมื่อไม่ได้ผลตามที่ต้องการ จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นความบกพร่องของผู้อื่น หากแต่เป็นความผิดพลาดบกพร่องของจำเลยเอง
พิพากษายืน.

Share