คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 881/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยมีถิ่นที่อยู่ 2 แห่ง โจทก์จะถือเอาแห่งหนึ่งแห่งใดเป็นภูมิลำเนาของจำเลยเพื่อยื่นคำฟ้องก็ได้.
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(2) ที่บัญญัติให้เสนอคำฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล. ก็เพื่อให้จำเลยได้ฟังคดีของตนและต่อสู้คดีได้เต็มที่.เมื่อจำเลยได้ทราบคำฟ้องและต่อสู้คดีเต็มที่แล้ว จึงหาขัดกฎหมายไม่ (อ้างฎีกาที่ 1233/2506).
โจทก์ฟ้องเรียกหนี้ 2 รายรวม 2,387 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัด รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,729.93บาท. ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ 1 รายจำนวน774 บาทพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง. ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยชำระเงินเต็มตามฟ้อง ถือว่าแก้ไขเพียงเล็กน้อยต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องเรียกหนี้ค่าซื้อไม้แปรรูปจากจำเลย 2 ราย รวม 2,387บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดรวมทั้งสิ้น 2,729.93 บาท จำเลยต่อสู้ปฏิเสธหนี้ และตัดฟ้องว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ โจทก์ไม่ได้ขออนุญาตศาลก่อนฟ้อง ไม่มีอำนาจฟ้องศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ 1 ราย จำนวน 774 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง โจทก์จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยชำระหนี้ทั้ง 2 ราย 2,387 บาทพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัด จำเลยฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้มีทุนทรัพย์ 2,729.93 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขเล็กน้อย ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ปัญหาข้อตัดฟ้องที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่โดยไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฟ้องไม่ได้นั้น ข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาได้ความว่า จำเลยมีบ้านอยู่ตำบลพระสิงห์1 หลัง ซึ่งมารดาและบุตรจำเลยก็อยู่บ้านหลังนี้ จำเลยก็รับว่าขึ้นล่องเชียงใหม่ – กรุงเทพฯ เป็นประจำ ปรากฏตามรายงานการส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องว่า จำเลยมาศาล เมื่อเจ้าหน้าที่ส่งหมายให้จำเลย จำเลยไม่ยอมรับ กลับแจ้งให้เจ้าหน้าที่นำหมายไปปิดที่บ้านตามฟ้องหาได้โต้แย้งเกี่ยวกับภูมิลำเนาไม่ ต่อมาเจ้าพนักงานก็ได้นำหมายเรียกไปส่งให้จำเลยที่บ้าน ไม่พบจำเลย คนที่อยู่ร่วมกับจำเลยว่า จำเลยไปธุระนอกบ้าน และไม่ยอมรับหมายแทนเจ้าพนักงานผู้ส่งจึงปิดหมาย พฤติการณ์ดังกล่าวนี้ถือได้แล้วว่าถิ่นที่อยู่ของจำเลยมีอยู่ 2 แห่ง คือ จังหวัดพระนครและเชียงใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 45 บัญญัติว่า ให้ถือเอาแห่งหนึ่งแห่งใดเป็นภูมิลำเนาก็ได้ และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(2) ให้เสนอคำฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลนั้น ก็มีความมุ่งหมายเพื่อให้จำเลยได้ฟังคดีของตนและต่อสู้คดีได้เต็มที่ เมื่อปรากฏว่าคดีนี้จำเลยได้ทราบฟ้อง และยื่นคำให้การต่อสู้คดีเต็มที่แล้วจึงหาขัดกฎหมายไม่ ดังนัยฎีกาที่ 1233/2506 พิพากษายืน.

Share