คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1001/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 297 เป็นเหตุที่ทำให้ผู้กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามมาตรา 295 ต้องรับโทษหนักขึ้นเพราะผลที่เกิดจากการกระทำ โดยที่ผู้กระทำไม่จำต้องประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลถึงอันตรายสาหัสนั้น ดังนั้น แม้จำเลยจะทำร้ายร่างกายผู้เสียหายโดยไม่มีเจตนาทำให้แท้งลูกก็ตาม เมื่อผลจากการทำร้ายนั้นทำให้ผู้เสียหายต้องแท้งลูกแล้ว จำเลยต้องมีความผิดตามมาตรา 297 (5) ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าผู้เสียหายสมัครใจทะเลาะวิวาทกับจำเลยนั้นเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาข้อนี้ขึ้นมา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำร้ายนางคำสา มิ่งขวัญ ผู้เสียหาย โดยจับศีรษะผู้เสียหายกระแทกเสาเรือนและใช้เท้าถีบท้องของผู้เสียหายซึ่งอยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ 3 เดือน เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสแท้งลูก ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (5) จำคุก 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายประการแรกว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกทำร้ายได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (5) หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า จำเลยกระทำไปโดยไม่มีเจตนาพิเศษประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลว่าการทำร้ายร่างกายนั้นจะเป็นเหตุให้ผู้เสียหายแท้งลูก จำเลยจึงไม่ควรมีความผิดฐานนี้นั้น เห็นว่า ความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 เป็นเหตุที่ทำให้ผู้กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามมาตรา 295 ต้องรับโทษหนักขึ้นเพราะผลที่เกิดจากการกระทำ โดยที่ผู้กระทำไม่จำต้องประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลถึงอันตรายสาหัสนั้น ดังนั้น แม้จำเลยจะทำร้ายผู้เสียหายโดยหามีเจตนาทำให้แท้งลูกตามฎีกาก็ตาม เมื่อผลจากการทำร้ายนั้นทำให้ผู้เสียหายต้องแท้งลูกแล้ว จำเลยก็ต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (5) ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาข้อต่อไปว่า ผู้เสียหายสมัครใจทะเลาะวิวาทกับจำเลย ผู้เสียหายจึงมิได้เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย ไม่มีสิทธิแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจและพนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยนั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส จำคุก 2 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงว่า ขณะผู้เสียหายนั่งอยู่บนแคร่ จำเลยเดินเข้าไปตบผู้เสียหายจนตกจากแคร่ แล้วจิกผมให้ศีรษะผู้เสียหายกระแทกกับเสา เมื่อมีผู้เข้ามาห้าม จำเลยก็ถีบที่ท้องของผู้เสียหาย อันเป็นพฤติการณ์ที่จำเลยทำร้ายผู้เสียหายเพียงฝ่ายเดียว ดังนั้น ที่จำเลยฎีกามาว่าผู้เสียหายสมัครใจทะเลาะวิวาทกับจำเลยจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 3 เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาข้อนี้ขึ้นมา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share