คำสั่งคำร้องที่ 775/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า ฎีกาจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก จึงไม่รับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เห็นว่า ฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5เป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของ จำเลยที่ 2ถึงที่ 5 ไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 142)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335,336 ทวิ จำคุกคนละ 6 ปี คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นประโยชน์แก่การ พิจารณาลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 4 ปี ฯลฯ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(7)(8) วรรคสาม ประกอบมาตรา336 ทวิ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว(อันดับ 138)
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 142)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2ถึงที่ 5 คนละ 4 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคแรก ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฎีกาว่า ปลาคดีนี้เป็นปลาที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จับได้ในบึงสีไฟซึ่งเป็นบึงสาธารณะที่ประชาชนทั่วไปมีสิทธิที่จะจับเอาไปได้ และบึงดังกล่าวมิได้อยู่ในความครอบครองดูแลของสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพิจิตร การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงไม่เป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริตนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2ถึงที่ 5 ได้ร่วมกันลักปลาคดีนี้ของสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพิจิตรไปฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายข้างต้น ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

Share