แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ความผิดอันยอมความไม่ได้ หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วโจทก์ไม่อาจถอนฟ้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 35 แต่คำร้องถอนฟ้องของโจทก์มีเจตนาถอนฟ้องฎีกานั่นเองศาลฎีกาย่อมอนุญาตให้โจทก์ถอนฎีกา จำหน่ายคดี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 บุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59, 83, 91, 362, 363, 365
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365(2) จำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ1,800 บาท จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362, 365 (2), 86 ลงโทษจำคุก 8 เดือน ปรับ 1,200 บาทคำให้การของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้างเห็นสมควรปรานีลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 คนละ 9 เดือนปรับคนละ 1,200 บาท และจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 5 เดือน10 วัน ปรับ 800 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8ไว้มีกำหนด2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า เมื่อลดโทษให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 2ถึงที่ 8 คนละ 8 เดือน ปรับคนละ 1,200 บาทยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ยื่นคำร้องว่าไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 อีกต่อไป ขอถอนฟ้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีอาญาซึ่งเป็นความผิดอันยอมความไม่ได้ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วโจทก์ไม่อาจถอนฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 35 แต่คดีนี้สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ยุติแล้วในศาลอุทธรณ์คงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะคดีของจำเลยที่ 1 ตามฟ้องเท่านั้น การที่โจทก์ยื่นคำร้องว่าไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 อีกต่อไป ขอถอนฟ้อง ย่อมถือได้ว่าโจทก์มีเจตนาที่จะถอนฟ้องฎีกาจำเลยที่ 1 นั่นเองจึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องฎีกาจำเลยที่ 1 ได้ จำหน่ายคดีจากสารบบความศาลฎีกา