คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7314/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานของโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันความเสียหายของจำเลยที่ 1 ขณะปฏิบัติหน้าที่ จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่โดยลำพังมิได้รับอนุญาตหรือได้รับมอบหมายจากโจทก์อันเป็นความประมาทเลินเล่อ ทำให้โจทก์เสียหายอย่างร้ายแรง คิดเป็นเงินจำนวน 349,494.55 บาท จำเลยที่ 1 จึงได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ว่าจะชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์ จึงถือว่าฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ อีกทั้งข้ออ้างที่อาศัยหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว หาเป็นคำฟ้องที่ขัดกันเองไม่ ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
จำเลยที่ 1 เป็นทนายความว่าความให้โจทก์ จึงถือว่าโจทก์เป็นตัวการและจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทน เมื่อโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดฐานะเป็นตัวแทนกระทำการโดยประมาทเลินเล่อ ทำให้โจทก์ผู้เป็นตัวการเสียหายซึ่งมิได้มีบทบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะแล้วย่อมมีอายุความฟ้องร้องสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม (มาตรา 193/30 ที่แก้ไขใหม่)หาใช่เป็นกรณีละเมิดที่ต้องใช้อายุความหนึ่งปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420, 448 ไม่ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีภายในสิบปีแล้ว ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ
เมื่อโจทก์ได้ทำบันทึกวิธีปฏิบัติในการประนีประนอมยอมความทางศาลให้นิติกรหรือทนายความของโจทก์ทราบก่อนที่จำเลยที่ 1 ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นนิติกรของโจทก์ว่าแม้ทนายความซึ่งได้แต่งตั้งโดยให้มีอำนาจให้ทำการประนีประนอมยอมความได้ก็ตาม หากจะประนีประนอมยอมความแล้ว ให้ทนายความเสนอความเห็นพร้อมด้วยรายละเอียดในเรื่องที่จะประนีประนอมยอมความต่อผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นตัวแทน แล้วให้ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นตัวแทนเสนอขออนุมัติต่อการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคโจทก์ก่อนทุกครั้ง ซึ่งบันทึกวิธีปฏิบัติดังกล่าวได้เวียนไปให้หน่วยงานต่าง ๆในสังกัดโจทก์ทราบ และได้รวบรวมไว้เป็นเล่มแต่ละปี สามารถตรวจสอบได้ง่ายและนิติกรทุกคนได้ทราบวิธีปฏิบัติดังกล่าวแล้ว จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ทราบและต้องปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด ทั้งก่อนวันที่จำเลยที่ 1 ทำการตกลงหรือประนีประนอมยอมความกับจำเลยในคดีดังกล่าว โจทก์ก็ได้ย้ำปรับความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในการตกลงหรือประนีประนอมยอมความทางศาลให้ทนายความของโจทก์ซึ่งรวมทั้งจำเลยที่ 1 ให้ถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด การที่จำเลยที่ 1 ทำการประนีประนอมยอมความกับจำเลยในคดีดังกล่าว โดยมิได้เสนอความเห็นพร้อมด้วยรายละเอียดในเรื่องที่จะตกลงหรือประนีประนอมยอมความต่อ อ. ผู้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเพื่อขออนุมัติต่อโจทก์ย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของโจทก์เกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในการตกลงหรือประนีประนอมยอมความทางศาลอันเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จำเลยที่ 1 จะอ้างเพียงว่าเมื่อในใบแต่งทนายความให้จำเลยที่ 1 มีอำนาจประนีประนอมยอมความได้แล้วจำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจทำการตกลงหรือประนีประนอมยอมความตามที่จำเลยที่ 1 เห็นสมควรโดยพลการหาได้ไม่ เพราะในบันทึกวิธีปฏิบัติดังกล่าวระบุไว้ชัดแจ้งว่าแม้มีการมอบอำนาจให้นิติกรหรือทนายความประนีประนอมยอมความก็ให้นิติกรหรือทนายความเสนอขออนุมัติต่อโจทก์ทุกครั้งไป การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง เพราะทำให้โจทก์ไม่สามารถเรียกดอกเบี้ยที่จำเลยในคดีดังกล่าวต้องชำระให้โจทก์ตามคำพิพากษา การที่จำเลยที่ 1 รู้ว่าจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแล้ว จำเลยที่ 1 จึงได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ ชำระเงินแก่โจทก์ หนังสือรับสภาพหนี้จึงมีผลใช้บังคับได้โดยสมบูรณ์
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 รับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 ยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ดังนั้นเอกสารบันทึกวิธีปฏิบัติในการประนีประนอมยอมความทางศาลและหนังสือย้ำความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในการประนีประนอมยอมความทางศาล จึงมิใช่เป็นพยานหลักฐานอันเกี่ยวกับประเด็นโดยตรงในคดีซึ่งโจทก์จะต้องส่งสำเนาเอกสารนั้น ๆ แก่จำเลยที่ 3ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 แต่อย่างใด และโจทก์ได้ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวต่อศาลชั้นต้นประกอบถามค้านจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพยานจำเลยที่ 3 ในเวลาที่จำเลยที่ 1 เบิกความแล้ว เอกสารดังกล่าวจึงไม่ต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน และการที่โจทก์นำสืบเอกสารดังกล่าวก็เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดหน้าที่โดยฝ่าฝืนคำสั่งของโจทก์ เป็นเหตุทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายซึ่งถือว่าจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จำเลยที่ 1 จึงได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เช่นนี้เท่ากับเป็นการนำสืบว่าหนังสือรับสภาพหนี้ มีมูลหนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์จริง อันเป็นประเด็นโดยตรงในคดีตามฟ้องโจทก์ หาใช่เป็นการนำสืบนอกฟ้องนอกประเด็นไม่
เมื่อประเด็นสาระสำคัญแห่งคดีโดยตรงซึ่งภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลยทั้งสามแล้ว การที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสามมีหน้าที่นำสืบก่อนในประเด็นข้อนี้ และเพื่อมิให้คดีล่าช้าจึงให้จำเลยทั้งสามนำสืบก่อนในทุกประเด็นข้ออื่นด้วยนั้น นับว่าชอบแล้ว

Share