แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ฝ่ายเดียวทำหนังสือรับสภาพหนี้โดยยอมใช้หนี้ให้แก่โจทก์เจ้าหนี้ โดยขอผ่อนชำระเป็นรายเดือน เป็นเพียงขอเปลี่ยนวิธีการชำระหนี้เท่านั้นส่วนหนี้เดิมมีอยู่อย่างไร คงมีอยู่อย่างนั้นไม่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ จึงไม่เป็นการแปลงหนี้เดิมจึงหาระงับไปไม่ จำเลยที่ 2 ยังต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อยู่ ฟ้องโจทก์ได้บรรยายว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์จำนวนเงินเท่าไร มีจำเลยที่ 2 ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ถือว่าคำฟ้องโจทก์แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว โดยระบุที่มาของหนี้ จำนวนหนี้ที่ค้างชำระและความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2ไว้ชัดแจ้งแล้วว่าจะต้องรับผิดอย่างไร ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม เอกสารส่วนหนึ่งของบัญชีกระแสรายวัน ซึ่งจำเลยที่ 1เปิดไว้กับโจทก์ ซึ่งเป็นเอกสารเป็นชุดมีจำนวนประมาณ 70 แผ่นกรณีจึงต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90(1)เดิม คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงพยานหลักฐานเช่นที่ว่านี้ไม่จำต้องยื่นหรือส่งสำเนาเอกสารให้จำเลยตรวจสอบก่อน 3 วัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ สาขาพิจิตร เป็นจำนวนเงิน 1,000,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี วันเดียวกันนั้น จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 1309ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร พร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์จำนวน1,125,195.23 บาท วันที่ 4 เมษายน 2529 จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์จำนวนดังกล่าว ตกลงผ่อนชำระให้โจทก์เป็นรายเดือน เดือนละไม่ต่ำกว่า 30,000 บาท จนกว่าจะครบนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2529 เป็นต้นไป โดยมีจำเลยที่ 3 ยอมผูกพันตนเข้าค้ำประกันหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวทุกประการ ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องเป็นเอกสารปลอม ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหลังจากวันที่ 4 เมษายน 2529 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพนี้แล้ว จำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันการหักทอนบัญชีของโจทก์ไม่ถูกต้อง ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 1,125,195.23 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 เมษายน 2529เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1และที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์เฉพาะงวดที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดนับแต่วันทำหนังสือรับสภาพหนี้ คือวันที่ 4 เมษายน 2529 จนถึงวันที่ศาลมีคำพิพากษานี้ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันผิดนัดจนกว่าชำระหนี้เสร็จหากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ ให้ยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)เลขที่ 1309 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิจิตร พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์ของจำเลยทั้งสามชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประการแรกว่า การที่จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์เป็นการแปลงหนี้ใหม่หรือไม่เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ฝ่ายเดียวทำหนังสือรับสภาพหนี้โดยยอมใช้หนี้ให้แก่โจทก์เจ้าหนี้ โดยขอผ่อนชำระเป็นรายเดือนเป็นเพียงขอเปลี่ยนวิธีการชำระหนี้เท่านั้น ส่วนหนี้เดิมมีอยู่อย่างไร คงมีอยู่อย่างนั้นไม่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ จึงไม่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ หนี้เดิมจึงหาระงับไปไม่ จำเลยที่ 2ยังต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อยู่ ปัญหาวินิจฉัยประการที่สองมีว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า ฟ้องโจทก์ได้บรรยายว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์จำนวนเงินเท่าไร มีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมคิดถึงวันที่ 31 มีนาคม 2529 จำเลยที่ 1เป็นหนี้โจทก์จำนวนเท่าไร จึงขอบังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ถือว่าคำฟ้องโจทก์แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว โดยระบุที่มาของหนี้ จำนวนหนี้ที่ค้างชำระและความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไว้ชัดแจ้งแล้วว่าจะต้องรับผิดอย่างไร ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า โจทก์มิได้ส่งสำเนาเอกสารให้จำเลยตรวจสอบก่อน 3 วัน จึงรับฟังไม่ได้นั้น จำเลยที่ 1 ได้แถลงค้านต่อศาลศาลชั้นต้นว่าโจทก์ไม่ได้ส่งสำเนาเอกสารหมาย จ.7,จ.9 แผ่นที่ 1 ถึงที่ 9 และแผ่นที่ 20 ให้แก่จำเลยตรวจสอบก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 3 วัน ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 6 ธันวาคม 2523 นั้น เห็นว่าเอกสารดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 40 ซึ่งจำเลยที่ 1เปิดไว้กับโจทก์ซึ่งเป็นเอกสารเป็นชุดมีจำนวนประมาณ 70 แผ่นตามเอกสารที่จำเลยที่ 1 ขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกจากโจทก์ กรณีจึงต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 (1) เดิมที่ใช้บังคับขณะมีการแถลงคัดค้านซึ่งบัญญัติว่า”เมื่อคู่ความฝ่ายใดอ้างอิงเอกสารเป็นชุด ซึ่งคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งทราบดีอยู่แล้วหรือสามารถตรวจตราให้ทราบได้โดยง่ายถึงความมีอยู่และความแท้จริงแห่งเอกสารนั้น เช่นจดหมายโต้ตอบระหว่างคู่ความในคดีหรือสมุดบัญชีการค้าและสมุดบัญชีธนาคาร หรือเอกสารในสำนวนคดีเรื่องอื่นคู่ความฝ่ายที่อ้างอิงพยานหลักฐานเป็นชุดเช่นที่ว่านี้ไม่จำต้องยื่นหรือส่งสำเนาเอกสารนั้น” ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นรับฟังพยานเอกสารของโจทก์ดังกล่าวจึงชอบแล้วฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน