แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า รับฎีกาโจทก์เฉพาะข้อ ฉ.และข้อช. ซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย ส่วนฎีกาข้ออื่นเป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 จึงไม่รับโจทก์เห็นว่าฎีกาโจทก์ข้อ 2(ก)(ข)(ค)(ง) ที่ว่าการกระทำของจำเลยทั้ง 12 คนชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 70,78 หรือไม่ และฎีกาข้อ 2(จ)(ช) ที่ว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงนอกเหนือคำพยานโจทก์จำเลยหรือไม่ การกระทำของจำเลยทั้ง 12 คนเป็นการสมคบร่วมกันสร้างพยานหลักฐานเท็จหรือไม่ และมีมูลพอที่ศาลจะรับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมาย อีกทั้งการที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาโจทก์เพียงบางข้อเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 และ 225 โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของโจทก์ในข้อที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ จำเลยทั้งสิบสองคนได้รับสำเนาคำร้องแล้ว(อันดับ 57 แผ่นที่ 3)
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,84,90,91,157,161,162,177,179,180,181 และมาตรา 309 วรรค 2
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 52)
โจทก์จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 56)
คำสั่ง
ฎีกาของโจทก์ข้อ 2(ก) ว่า บันทึกการตรวจค้นจับกุมทำขึ้นที่ที่ทำการของจำเลย ข้อ 2(ข)และ(ง) ว่า การตรวจค้นไม่มีหมายค้นและหมายจับข้อ 2(ค)และ(จ) ว่า โจทก์ลงชื่อในบันทึกการตรวจค้นและบันทึกการจับกุมโดยไม่สมัครใจและจำเลยได้มาโดยไม่ชอบ ล้วนแต่เป็นปัญหาข้อเท็จจริง ส่วนฎีกาข้อ 2(ซ) ว่า การที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องของโจทก์ไม่ให้มีการเดินเผชิญสืบสถานที่เกิดเหตุทำให้พยานหลักฐานไม่พอเพียงแก่การวินิจฉัย การรับฟังคลาดเคลื่อนนอกฟ้องนอกประเด็นนั้นเป็นการคัดค้านดุลพินิจของศาล และศาลมิได้ฟังคลาดเคลื่อนนอกฟ้องนอกประเด็นแต่อย่างใด จึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริงเช่นกันศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาบางข้อชอบแล้ว ยกคำร้อง