แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยฎีกา พร้อมกับยื่นคำร้องขออนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นไม่รับรองให้ฎีกา ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งว่าฎีกาจำเลยเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และไม่ได้รับอนุญาตให้ฎีกา จึงไม่รับฎีกาจำเลย
จำเลยเห็นว่า จำเลยไม่ทราบวันนัดฟังคำสั่งคำร้องขออนุญาตให้ฎีกาของจำเลย เนื่องจากศาลชั้นต้นได้ให้ศาลแขวงธนบุรีนำส่งหมายนัดวันฟังคำสั่งแก่จำเลยแต่สั่งไม่ได้เพราะไม่พบบ้านเลขที่ระบุในหมายซึ่งในคดีอื่นได้มีการส่งหมายให้จำเลยได้โดยการปิดหมาย ต่อมาจำเลยทราบคำสั่งไม่อนุญาตให้ฎีกา แต่ก็พ้นระยะเวลายื่นฎีกาหรือพ้นระยะเวลาที่จำเลยจะสามารถขอให้อัยการสูงสุดเป็นผู้รับรองฎีกาแก่จำเลยได้แล้วโปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาพิพากษา ต่อไปด้วย
หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 58)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4ให้จำคุก 2 เดือนจำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 เดือน
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา พร้อมกับยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว (อันดับ 45,44)
จำเลยยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 53)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าคดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจำเลยฎีกาขอรอการลงโทษ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้ฎีกา เมื่อผู้พิพากษาที่ลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ฎีกา ดังนี้ ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาจำเลยจึงชอบแล้วส่วนที่จำเลยอ้างว่า ไม่ทราบคำสั่งของผู้พิพากษาที่ไม่อนุญาตให้ฎีกาทำให้จำเลยไม่สามารถขอให้อธิบดีกรมอัยการรับรองฎีกาให้แก่จำเลยนั้น เห็นว่าแม้อธิบดีกรมอัยการจะรับรองฎีกาให้แก่จำเลยก็คงไม่มีผลเพราะจะพ้นระยะเวลายื่นฎีกาเสียแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากจำเลยยื่นฎีกาในวันสุดท้าย ให้ยกคำร้อง