คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5146/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในการพิจารณาคดีแรงงานเมื่อโจทก์ขอถอนฟ้อง ศาลแรงงานกลางต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 175 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยในนัยแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ดังนั้น ศาลแรงงานกลางจะอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องหรือไม่ จึงเป็นอำนาจของศาลที่จะใช้ดุลพินิจ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินประกันการทำงานจากจำเลย จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ละทิ้งหน้าที่การงานเกินกว่าสามวันจำเลยติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรขอให้ยกฟ้อง ในวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์แถลงขอถอนฟ้อง ศาลสอบแล้วจำเลยแถลงว่าจำเลยยื่นคำให้การแล้ว หากศาลอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง โจทก์อาจนำคดีมาฟ้องใหม่ ทำให้จำเลยเสียเปรียบ
ศาลแรงงานพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้ออ้างของจำเลยขัดต่อเหตุผลอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง จำหน่ายคดีจากสารบบความ
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๕ วรรคสอง บัญญัติว่า “ภายหลังจำเลยยื่นคำให้การแล้วโจทก์อาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้น เพื่ออนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้ ศาลจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตหรืออนุญาตภายในเงื่อนไขตามที่เห็นสมควรก็ได้ ฯลฯ” ซึ่งบทกฎหมายดังกล่าวจะต้องนำมาใช้ในการพิจารณาคดีแรงงาน โดยนัยแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ เหตุนี้การที่ศาลแรงงานกลางจะอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องหรือไม่จึงเป็นดุลพินิจของศาลแรงงานกลาง
พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย

Share