คำสั่งคำร้องที่ 488/2541

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การพิจารณาว่าคดีใดต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น ต้องถือโทษที่ศาลลงแก่จำเลยเป็นรายกระทงไป ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด 6 กระทง จำคุก กระทงละ 3 ปี เป็นจำคุก 18 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 12 ปี แต่เนื่องจากความผิดฐานฉ้อโกงมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 1 ได้เพียง 10 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(1) เมื่อโทษจำคุก แต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยจึง ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการ รับฟังพยานหลักฐานของศาลว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง เป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ส่วนที่จำเลยฎีกาอ้างเป็น ข้อกฎหมายเกี่ยวกับการคิดลดโทษให้ว่าควรลดโทษให้แก่จำเลย หรือศาลลงโทษจำคุกแก่จำเลยได้เพียง 6 ปี 7 เดือน เมื่อเป็นการ โต้เถียงดุลพินิจในการลดโทษให้จำเลย จึงเป็นฎีกาในปัญหา ข้อเท็จจริงเช่นเดียวกัน ย่อมต้องห้ามมิให้จำเลยตาม บทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกันโดย เรียกจำเลยในสำนวนแรกและจำเลยในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ตามลำดับ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 341 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ที่แก้ไข จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 6 กระทง เป็นจำคุก 18 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 12 ปีแต่เนื่องจากความผิดฐานฉ้อโกงมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีเมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 1 ได้เพียง 10 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(1) ที่แก้ไขแล้ว ริบของกลาง และให้จำเลยที่ 1 คืนเงินสดจำนวน 7,800,000 บาท แก่ผู้เสียหาย ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 341 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรม รวม 6 กระทง ให้เรียงกระทง ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 3 ปี รวมทุกกระทงเป็นจำคุก 18 ปี แต่ความผิดฐานฉ้อโกงมีอัตราโทษจำคุก ไม่เกิน 3 ปี เมื่อรวมโทษจำคุกทุกกระทงแล้วคงจำคุก 10 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(1) ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 7,800,000 บาท แก่ผู้เสียหายนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ฎีกาของจำเลยที่ 1 ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามมาตรา 218 แห่งประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา และในส่วนที่อ้างว่าเป็นข้อกฎหมาย เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการลงโทษ หาใช่เป็นข้อกฎหมาย จึงไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ให้รับฎีกา
จำเลยที่ 1 จึงยื่นคำร้องนี้ว่า คดีนี้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดรวม 6 กรรม รวมโทษจำคุก 10 ปี และศาลมีคำสั่งให้รวมพิจารณา จะถือว่าความผิดฐานฉ้อโกง มีกำหนดโทษจำคุก 3 ปี ต้องห้ามฎีกาเป็นการไม่ถูกต้อง เมื่อรวมโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ถึง 10 ปี ย่อมมีสิทธิฎีกา ในข้อเท็จจริงได้ และฎีกาของจำเลยที่เกี่ยวกับการคิดลดโทษ ให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นปัญหาข้อกฎหมาย โปรดรับฎีกาจำเลยที่ 1 ไว้พิจารณาต่อไป
ศาลฎีกามีคำสั่งว่า “การที่จะพิจารณาว่าคดีใดต้องห้ามฎีกา ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น ต้องถือโทษที่ศาลลงแก่จำเลย เป็นรายกระทงไป เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิด 6 กระทง แต่ละกระทงลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าไม่ได้ กระทำความผิดตามฟ้องเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ส่วนที่ จำเลยที่ 1 ฎีกาอ้างเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับการคิดลดโทษ ให้ว่าควรลดโทษให้หรือโทษที่จะลงแก่จำเลยที่ 1 ได้เพียง 6 ปี 7 เดือน นั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลดโทษ ให้จำเลยที่ 1 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นเดียวกัน จึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกา ของจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง”

Share