คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1821/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อลูกจ้างทำงานให้นายจ้างถึงวันที่ครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างแรงงาน สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง นายจ้างจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้าง
สัญญาจ้างแรงงานที่มีการแบ่งทำสัญญาจ้างเป็นช่วงสั้น ๆ หลายช่วงโดยมีการกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของสัญญาเป็นช่วง ๆ ต่อเนื่องกัน เพื่อแสดงว่าลูกจ้างไม่ได้ทำงานติดต่อกัน ถือว่านายจ้างมีเจตนาไม่ให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย จึงต้องนับระยะเวลาการทำงานทุกช่วงเข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์ในการได้สิทธิของลูกจ้างนั้นตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 20

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๓๐/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๓
จำเลยให้การว่า โจทก์จ้างนางสาวสุวรรณา ศักดิ์ศรีประดู่ชัย เป็นลูกจ้างตั้งแต่วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๓๘ ตำแหน่งพนักงานธุรการ ปฏิบัติงานที่กองการเงิน การประปานครหลวง ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๕,๑๖๐ บาท โจทก์หมดสัญญากับการประปานครหลวงในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๒ ประมาณปลายเดือนธันวาคม ๒๕๔๒ โจทก์บอกเลิกจ้างนางสาวสุวรรณาตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๓ แต่เนื่องจากการประปานครหลวงต่อสัญญากับโจทก์จนถึงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๔๓ โจทก์จึงให้พนักงานของการประปานครหลวงเรียกนางสาวสุวรรณาซึ่งหยุดงานไปตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๓ กลับไปทำงานอีกตั้งแต่วันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๓ ถึงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๔๓ แล้วเลิกจ้างนางสาวสุวรรณา จึงเป็นการเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า การที่โจทก์เลิกจ้างนางสาวสุวรรณาโดยที่นางสาวสุวรรณาไม่ได้กระทำความผิด และโจทก์ไม่เคยจัดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่นางสาวสุวรรณา โจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชย ๓๐,๙๖๐ บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๕,๑๖๐ บาท และค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี ๒,๐๖๔ บาท ให้แก่นางสาวสุวรรณา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับนางสาวสุวรรณาเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการจ้างตามสัญญาดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างเพราะการสิ้นสุดสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน โจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่นางสาวสุวรรณาตามคำสั่งที่ ๓๐/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๓ ของจำเลยนั้น เห็นว่า สำหรับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับนางสาวสุวรรณาข้อ ๑ กำหนดว่า นายจ้างตกลงจ้างและลูกจ้างตกลงรับจ้างทำงานตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๒ ถึงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๔๓ เมื่อนางสาวสุวรรณาทำงานให้โจทก์ถึงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๔๓ ซึ่งครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างข้อ ๑ ดังกล่าว สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่นางสาวสุวรรณา ส่วนค่าชดเชยนั้น เห็นว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับนางสาวสุวรรณา โจทก์มีเจตนาที่จะจ้างนางสาวสุวรรณาให้ทำงานให้โจทก์ตั้งแต่วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๓๘ ถึงวันที่๓๑ มกราคม ๒๕๔๓ แต่มีการแบ่งทำสัญญาจ้างเป็นช่วงสั้น ๆ หลายช่วง โดยมีการกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของสัญญาเป็นช่วง ๆ ต่อเนื่องกัน เพื่อแสดงให้เห็นว่า นางสาวสุวรรณาไม่ได้ทำงานติดต่อกัน ถือว่าโจทก์มีเจตนาไม่ให้นางสาวสุวรรณาลูกจ้างของโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย จึงต้องนับระยะเวลาการทำงานทุกช่วงเข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์ในการได้สิทธิของลูกจ้างนั้นตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๒๐ และสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับนางสาวสุวรรณาไม่ปรากฏว่าเป็นการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้าง งานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรืองานที่เป็นไปตามฤดูกาลโดยจ้างในช่วงฤดูกาลนั้น จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา ๑๑๘ วรรคสาม และวรรคสุดท้ายที่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง เมื่อรวมระยะเวลาทำงานทุกช่วงเข้าด้วยกันแล้ว นางสาวสุวรรณาทำงานกับโจทก์ครบสามปี แต่ยังไม่ครบหกปี จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวันตามมาตรา ๑๑๘ (๓) จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยแก่นางสาวสุวรรณาเป็นเงิน ๓๐,๙๖๐ บาท จึงชอบแล้ว ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่นางสาวสุวรรณาเพราะพยานหลักฐานของจำเลยไม่น่าเชื่อถือนั้น เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางที่ฟังว่าพยานจำเลยรับฟังได้ว่าโจทก์มิได้จัดให้นางสาวสุวรรณาหยุดพักผ่อนประจำปี จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย สรุปแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๓๐/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๓ เฉพาะในส่วนที่ให้โจทก์จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่นางสาวสุวรรณา ศักดิ์ศรีประดู่ชัย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง.

Share