แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องมาแจ้งชัดแล้วว่าจำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันบุกรุกเข้าไปตัดโค่นทำไม้หวงห้ามประเภท ก.และอ้างบทมาตรา 11 ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484อันเป็นบทห้ามกระทำความผิดแล้ว แม้โจทก์จะมิได้อ้างมาตรา 73 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทลงโทษมาด้วย ศาลย่อมลงโทษตามมาตรา 73 วรรคสอง ได้ไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 11, 54, 69, 72 ตรี, 74, 74 ทวิ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 5, 6, 9, 14, 31, 35ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ริบของกลาง และสั่งให้จำเลยทั้งห้าผู้แทนและบริวารของจำเลยทั้งห้าออกจากเขตป่าและป่าสงวนแห่งชาติ
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง(2),73 วรรคสอง(2) พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14,31 วรรคสอง(2) การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นความผิดสองกรรมต่างกัน ให้เรียกกระทงลงโทษฐานทำไม้หวงห้ามในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง,73 วรรคสอง(2) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุกคนละ 6 ปี ฐานมีไม้หวงห้ามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 6 ปี รวมจำคุกคนละ 12 ปี จำเลยที่ 4และที่ 5 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 72 ตรี วรรคสอง พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง(2) เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง(2) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดจำคุกคนละ 6 ปี ลงโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ 8 ปี จำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 4 ปีริบของกลาง ให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ผู้แทนและบริวารของจำเลยที่ 4และที่ 5 ออกจากป่าสงวนแห่งชาติ ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 5 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
จำเลยที่ 1 และที่ 4 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2และที่ 3 ฐานร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานทำไมและฐานมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครอง และที่จำเลยที่ 1ฎีกาขอให้ยกฟ้อง นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดจริงดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเพียงลูกจ้างของจำเลยที่ 1 มิได้เป็นคู่สัญญาที่สามารถทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหมายเลขตราประทับเฉกเช่นจำเลยที่ 1 จึงต้องรับฟังเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 และข้อที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 หลบหนีเป็นพิรุธนั้น ก็ปรากฏว่าก่อนเข้าทำการจับกุมมีการยิงปืนก่อนจริง ซึ่งย่อมเป็นเหตุให้เกิดการตื่นกลัวได้ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยที่ 2และที่ 3 ดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3
สำหรับปัญหาที่โจทก์ฎีกาของให้ลงโทษจำเลยที่ 5 ในฐานะผู้กระทำความผิดร่วมกับจำเลยที่ 4 ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติและปัญหาที่จำเลยที่ 4 ฎีกาขอให้ยกฟ้อง นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าข้อเท็จจริงคงได้ความตรงกันแต่เพียงว่า จำเลยที่ 4 และครอบครัวได้ทำสวนยางพาราอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติมานานหลายสิบปีแล้วแต่สำหรับจำนวนเนื้อที่ป่าตลอดจนตำแหน่งจุดที่ป่าที่จำเลยที่ 4ยึดถือครอบครองนั้น โจทก์มิได้นำสืบแสดงทั้งในรูปแผนที่หรือพยานอื่นใด แม้กระทั่งจำนวนเนื้อที่ป่าที่พยานบุคคลระบุว่า จำเลยที่ 4 ถือครองนั้นก็แตกต่างกันไป หาข้อยุติจากพยานหลักฐานโจทก์มิได้ คงอาศัยคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 4 ในชั้นสอบสวนซึ่งระบุว่าจำเลยที่ 4 ได้แผ้วถางและถือครองเนื้อที่ป่ารวมประมาณ100 ไร่เศษ ซึ่งจำเลยที่ 4 มิได้นำสืบปฏิเสธ เป็นหลักฐานสำคัญฟังประกอบพยานบุคคลของโจทก์ได้ว่าจำเลยที่ 4 ได้กระทำความผิดจริงซึ่งเป็นจำนวนที่เกินกว่าจำนวนที่ดินที่จำเลยที่ 4 ได้รับจัดสรรในรูป ส.ป.ก. ตามที่ต่อสู้ แต่สำหรับจำนวนที่ 5 พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบคงได้ความแต่เพียงว่าเป็นบุตรและอาศัยร่วมอยู่กับจำเลยที่ 4ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 5 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 4 ในการกระทำความผิดคงมีเพียงคำเบิกความของพยานบุคคลลอย ๆ ซึ่งเป็นเพียงความเข้าใจของพยานบุคคลเอง หาได้มีข้อเท็จจริงใดมายืนยันประกอบให้แน่ชัด กรณีจึงยังมีความสงสัยตามคมควรว่า จำเลยที่ 5ได้กระทำความผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 5 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย
ปัญหาประการสุดท้ายที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษาให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 73 วรรคสอง เป็นการพิพากษาเกินคำขอ เพราะโจทก์ไม่ได้ขอให้ลงโทษตามบทบัญญัติดังกล่าว นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6) บัญญัติว่า คำฟ้องจะต้องอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องมาแจ้งชัดแล้วว่าจำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันบุกรุกเข้าไปตัดโค่นทำไม้หวงห้ามประเภท ก. และอ้างบทมาตรา 11 อันเป็นบทห้ามกระทำความผิดมาด้วย ดังนี้ แม้โจทก์จะมิได้อ้างบทลงโทษมาย่อมลงโทษตามมาตรา 73 วรรคสอง ได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ แต่ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดโทษจำคุกที่จะลงโทษแก่จำเลยที่ 1 และที่ 4 นั้น หนักเกินไป เนื่องจากจำเลยที่ 1และที่ 4 มีอายุกว่า 60 ปีแล้ว ทั้งพฤติการณ์แห่งคดีที่ปรากฏศาลฎีกาเห็นควรกำหนดโทษใหม่ให้เหมาะสม
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 1 ปี6 เดือน รวม 2 กระทง จำคุก 3 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี ส่วนจำเลยที่ 4 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 72 ตรี วรรคหนึ่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่งการกระทำของจำเลยที่ 4 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14,31 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 1 ปี คำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 4เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาของศาลอย่างมาก จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3