คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4321-4323/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 29 วรรคสุดท้าย บัญญัติถึงงานที่มีลักษณะและสภาพของงานประเภทต่าง ๆ ว่า นายจ้างอาจตกลงกับลูกจ้างเพื่อหยุดงานในวันอื่นชดเชยวันหยุดตามประเพณีได้ถ้าเป็นงานประเภทใดประเภทหนึ่งตามที่ระบุไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ 4 การที่ผู้ร้องประกาศให้นำวันหยุดวันเสาร์ที่ 12 เมษายน 2546 แลกกับวันจักรี ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ที่ 6 เมษายน 2546 โดยให้ผู้คัดค้านทั้งสามและพนักงานทุกคนมาทำงานในวันหยุดชดเชยวันจักรีในวันจันทร์ที่ 7 เมษายน 2546 นั้น เมื่องานที่ผู้คัดค้านทั้งสามทำไม่ใช่งานประเภทใดประเภทหนึ่งตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 จึงไม่อาจตกลงเปลี่ยนวันหยุดตามประเพณีได้ มีผลเท่ากับวันจันทร์ที่ 7 เมษายน 2546 ยังเป็นวันหยุดตามประเพณีชดเชยวันจักรี การที่ผู้คัดค้านทั้งสามมาทำงานในวันหยุดดังกล่าวเฉพาะช่วงเวลาตั้งแต่ 8 นาฬิกา ถึง 12 นาฬิกา จะถือว่าในช่วงเวลาตั้งแต่ 13 นาฬิกา ถึง 17 นาฬิกา ที่ผู้คัดค้านทั้งสามไม่เข้าทำงานเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควรและจงใจทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายหาได้ไม่

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสามซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119
ผู้คัดค้านทั้งสามสำนวนยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกคำร้องทั้งสามสำนวน
ผู้ร้องทั้งสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 29 วรรคสุดท้าย บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างไม่อาจให้ลูกจ้างหยุดตามประเพณีได้ เนื่องจากลูกจ้างทำงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้นายจ้างตกลงกับลูกจ้างว่าจะหยุดในวันอื่นชดเชยวันหยุดตามประเพณี หรือนายจ้างจะจ่ายค่าทำงานในวันหยุดก็ได้” ซึ่งกฎกระทรวงฉบับที่ 4 ลงวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2541 บัญญัติว่า “งานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานที่นายจ้างไม่อาจให้ลูกจ้างหยุดทำงานในวันหยุดตามประเพณีได้แก่งานดังต่อไปนี้
(1) งานในกิจการโรงแรม สถานมหรสพ ร้านขายอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม สโมสร สมาคม สถานพยาบาล และสถานบริการการท่องเที่ยว
(2) งานในป่า งานในที่ทุรกันดาร งานขนส่ง และงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน” บทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่า งานที่มีลักษณะและสภาพของงานประเภทต่าง ๆ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 นายจ้างอาจตกลงกับลูกจ้างเพื่อหยุดงานในวันอื่นชดเชยวันหยุดตามประเพณีได้ ซึ่งตามข้อเท็จจริงงานที่ผู้คัดค้านทั้งสามทำนั้นไม่ใช่งานประเภทใดประเภทหนึ่งตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 ที่จะตกลงเปลี่ยนวันหยุดตามประเพณีได้ ผู้ร้องจึงไม่อาจประกาศให้ลูกจ้างของผู้ร้องรวมทั้งผู้คัดค้านทั้งสามไปทำงานในวันจันทร์ที่ 7 เมษายน 2546 ซึ่งเป็นวันหยุดชดเชยวันจักรี เพื่อชดเชยในวันเสาร์ที่ 12 เมษายน 2546 ได้ มีผลเท่ากับวันจันทร์ที่ 7 เมษายน 2546 ยังเป็นวันหยุดตามประเพณีชดเชยวันจักรี การที่ผู้คัดค้านทั้งสามกับพวกตกลงมาทำงานในวันที่ 7 เมษายน 2546 ตั้งแต่เวลา 8 นาฬิกา ถึง 12 นาฬิกา นับว่าเป็นคุณแก่ผู้ร้องแล้ว ดังนั้น การที่ผู้คัดค้านทั้งสามกับพวกหยุดทำงานในช่วง 13 นาฬิกา ถึง 17 นาฬิกา จึงไม่เป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร และไม่ใช่เป็นการจงใจทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสาม ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกคำร้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล
พิพากษายืน.

Share