คำสั่งคำร้องที่ 348/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางสั่งว่า การที่ จำเลยอุทธรณ์ในลักษณะข้อกฎหมายแต่ให้รับฟังข้อเท็จจริง ที่ฝ่าฝืนคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง เป็นการโต้เถียง ข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายถือเป็นอุทธรณ์ ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 จึงไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย
จำเลยเห็นว่า ฎีกาของจำเลยเป็นปัญหาข้อกฎหมาย โจทก์ ในฐานะประธานกรรมการบริษัทจำเลยเป็นลูกจ้างตามความหมายของ กฎหมายแรงงานและประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน หรือไม่ โปรดมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ โจทก์แถลงคัดค้าน (อันดับ 244)
เดิมศาลแรงงานกลางพิจารณาคดีนี้รวมกับคดีอื่นอีก365 สำนวน ซึ่งคดีอื่นถึงที่สุดไปแล้วโดยจำเลยยอมชำระเงินตามฟ้องแก่โจทก์ ฯลฯ แต่คดีนี้ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางดำเนินการพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลแรงงานกลางดำเนินการพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างที่ค้างจำนวน 1,837,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินค่าจ้างงวดละ 87,500 บาท นับแต่งวดประจำวันที่ 15 มีนาคม 2531 จนถึงงวดประจำวันที่ 15 มกราคม 2532 ทุก ๆ งวดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 236)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 240)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว จำเลยอุทธรณ์โดยอ้างความหมายคำว่า”ลูกจ้าง” ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องคุ้มครองแรงงานข้อ 2 ขึ้นมากล่าว และให้เหตุผลว่าลูกจ้างต้องทำงานตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของนายจ้าง มีการบังคับบัญชากันได้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของนายจ้าง แต่ปรากฏว่าโจทก์เป็นประธานกรรมการ และเป็นกรรมการบริษัทจำเลยไม่มีผู้ใดเป็นผู้บังคับบัญชาโจทก์และโจทก์ไม่ต้องทำตาม คำสั่งของผู้ใด โจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะลูกจ้าง แต่อยู่ในฐานะนายจ้างซึ่งกระทำแทนจำเลย นั้น เห็นว่า แม้จำเลยจะอุทธรณ์ในลักษณะข้อกฎหมายว่าโจทก์ไม่อยู่ในฐานะลูกจ้างแต่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยโดยฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ที่ให้รับฟังข้อเท็จจริงซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาถือเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 ที่ศาลแรงงานกลางสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

Share