แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยยื่นฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า เป็นฎีกา โต้แย้งดุลพินิจศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาข้อเท็จจริงคดีนี้ ศาลชั้นต้นปรับกระทงละ 6,000 บาท เท่านั้น และศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน จึงเป็นฎีกาต้องห้ามไม่รับเป็นฎีกา
จำเลยเห็นว่า ฎีกาข้อ 2.3 ถึง 2.5 เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาข้อ 2.3 ถึง 2.5 ของจำเลยไว้พิจารณาต่อไปด้วย
หมายเหตุ ไม่ปรากฎหลักฐานในสำนวนว่าโจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้วหรือไม่
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลรัษฎากรมาตรา 83 วรรคสอง,92 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2508 มาตรา 18,21 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, คำสั่งกรมสรรพากรที่ กค.0809/11147 เรื่องให้ผู้ประกอบการค้าแจ้งมูลค่าของสินค้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2509 รวม 18 กรรม เรียงกระทงลงโทษให้ปรับกระทงละ 6,000 บาท รวมปรับ 108,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว(อันดับ 63)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 64)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ฎีกาของจำเลยข้อ 2.3 โต้แย้งว่า จำเลยได้ชำระภาษีการค้าเต็มจำนวนในใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย จ.8 ตรงตามเจตนารมย์ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ 0809/11174 แล้ว ที่จำเลยไม่แจ้งมูลค่าของสินค้ารถยนต์ตามใบกำกับสินค้า เอกสารหมาย จ.8 ไม่น่ามีความผิดตามฟ้อง จึงเป็นฎีกาใน ปัญหาข้อกฎหมาย เช่นเดียวกับ ฎีกาของจำเลยข้อ 2.5 ที่ฎีกาว่าคำสั่งของกรมสรรพากรดังกล่าวขัดต่อประมวลรัษฎากร เนื่องจากเมื่อไม่มีการขายย่อมไม่มีราคาขายปลีก และข้อความในคำสั่ง ข้อ 2 วรรคสอง นอกเหนือไปจากบทบัญญัติของประมวลรัษฎากร
ส่วนฎีกาของจำเลยข้อ 2.4 เป็นการเถียงว่าจำเลยไม่มีเจตนา กระทำผิดเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกาข้อนี้ชอบแล้ว
ให้ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยข้อ 2.3 และข้อ 2.5ไว้พิจารณา และดำเนินการต่อไป