คำสั่งคำร้องที่ 2798/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า จำเลยที่ 1ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1รับฎีกาของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 เห็นว่า จำเลยที่ 1 ฎีกาเกี่ยวกับรายละเอียดอันเป็นเหตุรอการลงโทษ ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจเปลี่ยนแปลงดุลพินิจในการวางโทษจำคุก โดยให้รอการลงโทษไว้ได้ และเป็นฎีกาข้อความ ที่ตัดสินอันเป็นปัญหาสำคัญควรสู่ศาลฎีกาโปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ไว้พิจารณาต่อไปด้วย หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 44) ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4,6,8,9,14,31 วรรคหนึ่ง,35 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 มาตรา 3 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2528 มาตรา 4 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติพ.ศ. 2504 มาตรา 4,6,7,16,24,29 พระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 4,7,47,48,73,74,75 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 มาตรา 7,19 พระราชบัญญัติป่าไม้(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2522 มาตรา 9 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2525 มาตรา 4 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 116 ลงวันที่ 10 เมษายน 2515 ข้อ 1 พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้ามพ.ศ. 2530 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ลงโทษฐานทำไม้ในป่าสงวนแห่งชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี จำคุกจำเลยที่ 2มีกำหนด 1 ปี และปรับ 40,000 บาท ฐานมีไม้แปรรูปโดยไม่ได้รับ อนุญาตจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี และปรับ 10,000 บาท เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวมเป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี และปรับ 50,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี และปรับ 25,000 บาท หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับ จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29,30 ของกลางริบ พิเคราะห์ตามพฤติการณ์แห่งคดี ประกอบรายงานการสืบเสาะของพนักงานคุมประพฤติแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่รอการลงโทษ ส่วนจำเลยที่ 2 โทษจำคุกให้ รอการลงโทษไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 มีกำหนด 2 ปี และกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมประพฤติจำเลยที่ 2 โดยให้จำเลยที่ 2มารายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 2 เดือน ตลอดเวลาที่รอ ห้ามจำเลยที่ 2 มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับสิ่งผิดกฎหมายทุกชนิด และห้ามกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติให้จำเลยที่ 2 เข้าร่วมกิจกรรมบริการสังคมและบำเพ็ญ สาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองในความผิดฐานทำไม้ในป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต คนละ 4 ปี ฐานมีไม้แปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาต คนละ 8 ปี รวมจำคุกคนละ 12 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 6 ปี โดยไม่ปรับ ยกเลิกคุมประพฤติ จำเลยที่ 2 และไม่รอการลงโทษให้จำเลยทั้งสอง นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองฎีกาพร้อมมีคำร้องประกอบ ศาลชั้นต้นมี คำสั่งรับฎีกาในส่วนของจำเลยที่ 2 ไม่รับฎีกาในส่วนของจำเลยที่ 1(อันดับ 39,41) จำเลยที่ 1 จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 43)

คำสั่ง พิเคราะห์แล้วคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1ฐานทำไม้ในป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่รับอนุญาตจำคุก 6 เดือนฐานมีไม้แปรรูปโดยไม่รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้ให้ลงโทษจำคุกฐานทำไม้ในป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับ อนุญาตจำคุก 2 ปี ฐานมีไม้แปรรูปโดยไม่รับอนุญาตจำคุก 4 ปี เห็นว่าศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 แต่ละฐานความผิดไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การกระทำของ จำเลยที่ 1 ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นความผิดที่ร้ายแรงทำให้เกิด ความเสียหายแก่ประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง ไม่เป็นการทำลาย ป่าไม้ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธาร ขอให้รอการลงโทษ จึงเป็นฎีกาโต้แย้งดุลยพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 2 อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

Share