คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 958/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องคดีโดยมิได้นำข้อโต้แย้งเสนอต่อสภาอนุญาโตตุลาการของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเพื่อตัดสินชี้ขาดก่อน เป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขของข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการ จำเลยย่อมมีสิทธิขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี ซึ่งศาลต้องไต่สวนก่อนมีคำสั่งตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 10 การที่จำเลยยื่นคำให้การโต้แย้งว่าโจทก์ยังไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากไม่ได้เสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดก่อน ถือได้ว่าจำเลยประสงค์จะขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี ทั้งในวันชี้สองสถานศาลก็ได้สอบถามคู่ความเกี่ยวกับเรื่องข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการ อันถือได้ว่าเป็นการไต่สวนแล้ว ศาลจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีได้
ที่จำเลยฟ้องแย้งก็สืบเนื่องมาจากโจทก์ยื่นฟ้องจำเลย ทำให้เกิดความจำเป็นที่หากจำเลยจะฟ้องแย้งก็ต้องยื่นเข้ามาในคำให้การเพื่อรักษาสิทธิของจำเลยเสียก่อนเท่านั้น เพราะขณะยื่นคำให้การและฟ้องแย้งยังไม่แน่ว่าศาลจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีหรือไม่ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้สละเงื่อนไขตามข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการ เมื่อโจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อสัญญาที่ให้ระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการก่อน ศาลจึงต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดี ซึ่งมีผลให้ไม่มีคดีตามคำฟ้องของโจทก์ให้ต้องพิจารณาต่อไป ฟ้องแย้งของจำเลยจึงตกไปด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 1,554,073.60 บาท และชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 1,223,680 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งบังคับโจทก์ให้คืนเงินจำนวน 1,831,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ยื่นคำให้การและฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ในวันนัดชี้สองสถานศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสอบถามคู่ความทั้งสองฝ่ายในเรื่องข้อสัญญาให้สิทธิจำเลยดำเนินกิจการโรงแรมภายใต้ชื่อธานีที่กำหนดให้คู่สัญญาเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดแล้ว เห็นว่า โจทก์และจำเลยยังไม่ได้พยายามที่จะทำความเข้าใจและแก้ไขปัญหากันเองประกอบกับจำเลยได้ฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากโจทก์เข้ามาด้วย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์และจำเลยได้สละเงื่อนไขแห่งข้อสัญญาที่จะเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดแล้ว จึงให้พิจารณาคดีต่อไป
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,309,337.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,223,680 บาท นับตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวน 244,736 บาท ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์และจำเลยพิพาทกันตามสัญญาให้สิทธิดำเนินกิจการโรงแรมภายใต้ชื่อธานี (THANI) สัญญานี้เดิมเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างบริษัทดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กับจำเลยซึ่งทำสัญญากันเป็นหนังสือ และต่อมาโจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาดังกล่าวจากบริษัทดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) โดยสัญญาฉบับนี้มีข้อสัญญาเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการไว้ในข้อ 9 ว่า หากมีข้อโต้แย้งใด ๆ เกิดขึ้นจากการตีความหรือเกี่ยวกับหน้าที่หรือความรับผิดชอบตามสัญญานี้ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะพยายามทำความเข้าใจและแก้ไขปัญหาระหว่างกันเองก่อน หากข้อโต้แย้งนั้นยังไม่อาจตกลงกันได้ก็ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดนำเสนอต่อสภาอนุญาโตตุลาการของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเพื่อตัดสินชี้ขาด จึงเป็นกรณีที่คู่สัญญาตกลงเป็นเงื่อนไขของสัญญาให้ใช้วิธีระงับข้อพิพาทตามสัญญานี้โดยให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด ดังนี้ หากคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทตามสัญญาอนุญาโตตุลาการโดยมิได้เสนอข้อพิพาทนั้นต่ออนุญาโตตุลาการตามสัญญา คู่สัญญาฝ่ายที่ถูกฟ้องอาจยื่นคำร้องต่อศาลก่อนวันสืบพยานหรือก่อนมีคำพิพากษาในกรณีที่ไม่มีการสืบพยาน ให้มีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่สัญญาดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อน และเมื่อศาลทำการไต่สวนแล้วไม่ปรากฏว่ามีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ด้วยเหตุประการอื่นหรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ ก็ให้มีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสีย ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 10 ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการนี้ย่อมผูกพันโจทก์ผู้รับโอนด้วยตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 8 และเมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยมิได้นำข้อโต้แย้งเสนอต่อสภาอนุญาโตตุลาการของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเพื่อตัดสินชี้ขาด อันเป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขของข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการดังกล่าว จำเลยย่อมมีสิทธิขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี ซึ่งศาลต้องไต่สวนและมีคำสั่งตามบทบัญญัติมาตรา 10 ดังกล่าวข้างต้น และปรากฏว่าจำเลยยื่นคำให้การโต้แย้งว่าโจทก์ยังไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากโจทก์ไม่ได้เสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดตามข้อสัญญาดังกล่าวก่อน ซึ่งถือได้ว่าจำเลยประสงค์จะขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพราะเหตุที่โจทก์ไม่ได้เสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดเสียก่อนที่จะฟ้องตามมาตรา 10 ดังกล่าวนั่นเอง ทั้งในวันชี้สองสถาน ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็ได้สอบถามคู่ความเกี่ยวกับเรื่องข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการ อันถือได้ว่าเป็นการไต่สวนแล้ว แต่ที่ศาลดังกล่าววินิจฉัยว่าโจทก์และจำเลยไม่ได้พยายามที่จะทำความเข้าใจและแก้ไขปัญหาระหว่างกันเอง ประกอบกับจำเลยก็ฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชำระค่าเสียหายเข้ามาในคดีนี้เป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าโจทก์จำเลยสละเงื่อนไขตามข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการนี้แล้ว จึงให้พิจารณาคดีต่อไปนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เห็นว่า ตามข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการดังกล่าวข้างต้นนั้น หากคู่กรณีทำความตกลงกันได้ก็ย่อมทำให้ข้อพิพาทหมดสิ้นไป แต่ถ้ามีเหตุขัดข้องทำให้ไม่อาจตกลงกันได้แล้ว ก็ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด ดังนี้เมื่อโจทก์เรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ แต่จำเลยไม่ชำระและไม่ตกลงกับโจทก์ ย่อมเป็นกรณีที่ไม่สามารถตกลงกันได้ ซึ่งโจทก์จะต้องเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดเสียก่อนตามข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการนั้น ทั้งเมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยไม่เสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดก่อน จำเลยก็ให้การโต้แย้งอ้างเหตุที่โจทก์ไม่ได้เสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดก่อน อันเป็นการยืนยันให้ใช้ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการอยู่ มิใช่เจตนาสละข้อสัญญานี้ ส่วนที่จำเลยฟ้องแย้งเข้ามาก็เป็นกรณีที่สืบเนื่องมาจากเหตุที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยก่อน เป็นเหตุให้เกิดความจำเป็นที่หากจำเลยจะฟ้องแย้งก็ต้องยื่นเข้ามาในคำให้การ เพื่อรักษาสิทธิของจำเลยที่จะกระทำได้ตามกฎหมายเสียก่อนเท่านั้นเพราะขณะยื่นคำให้การและฟ้องแย้งยังไม่แน่ว่าศาลจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีหรือไม่ ดังนี้จึงถือไม่ได้ว่าเป็นพฤติการณ์ที่จำเลยได้สละเงื่อนไขตามข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการที่คู่กรณีจะต้องเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดก่อน และไม่ปรากฏว่ามีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนี้เป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ด้วยเหตุประการอื่นหรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานี้ได้ ดังนี้เมื่อโจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อสัญญาที่ให้ระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการเสียก่อน และจำเลยโต้แย้งไว้ดังกล่าวแล้ว จึงชอบที่ศาลจะต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้โจทก์จำเลยดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการเกี่ยวกับข้อพิพาทตามสัญญาดังกล่าวในคดีนี้ก่อน ซึ่งย่อมมีผลให้ไม่มีคดีตามคำฟ้องของโจทก์ให้ต้องพิจารณาต่อไป คดีตามคำฟ้องแย้งของจำเลยจึงตกไปด้วย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่มีคำสั่งจำหน่ายคดี แต่กลับพิจารณาและพิพากษาคดีนี้มาจึงไม่ชอบอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายกคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ให้จำหน่ายคดีเพื่อให้โจทก์จำเลยดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อน คืนค่าขึ้นศาลทั้งสองศาลแก่โจทก์และจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นทั้งสองศาลให้เป็นพับ.

Share