คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2879/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 เป็นการห้ามศาลไม่ให้ดำเนินคดีนั้นต่อไปอีกจะเป็นทั้งคดีหรือเฉพาะแต่ประเด็นใดประเด็นหนึ่งก็ได้ซึ่งต้องเป็นคู่ความเดียวกัน เมื่อคดีนี้โจทก์จำเลยยังไม่เคยดำเนินคดีฟ้องร้องว่ากล่าวกันให้อีกฝ่ายหนึ่งรับผิดแต่อย่างใด กรณีจึงไม่เข้าตามมาตรา 144 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยในฐานะนายจ้างของผู้ขับรถยนต์ที่ขับรถชนรถที่โจทก์รับประกันภัยไว้ใช้ค่าเสียหายกับดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า เหตุละเมิดเกิดจาก ผู้ขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ ชนด้านซ้ายบริเวณประตูทางขึ้นรถด้านท้ายของตัวรถโดยสารของจำเลย จนเกิดความเสียหาย จำเลยได้เป็นโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเหตุละเมิดโดยมีนายบุญเลิศเป็นจำเลยที่ 1 นางสาวสุภารัตน์ แซ่โค้ว เป็นจำเลยที่ 2 คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 3139/2539 ของศาลชั้นต้นก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ไม่เคยติดต่อบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน 94,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2539 เป็นต้นไปจนกว่าชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ เพราะจำเลยเคยเป็นโจทก์ฟ้องนายบุญเลิศ เสาสุวรรณ ผู้ขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้และนางสาวสุภารัตน์ แซ่โค้ว เจ้าของรถยนต์คันดังกล่าว ศาลชั้นต้นพิพากษาให้นายบุญเลิศชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยเป็นเงิน 365, 500 บาท คดีถึงที่สุดแล้ว การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 บัญญัติไว้ว่า “เมื่อศาลใดมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือในประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้ว ห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น…” เป็นการห้ามศาลไม่ให้ดำเนินคดีนั้นต่อไปอีกจะเป็นทั้งคดีหรือเฉพาะแต่ประเด็นใดประเด็นหนึ่งก็ได้ซึ่งต้องเป็นคู่ความเดียวกัน แต่คดีนี้โจทก์จำเลยยังไม่เคยดำเนินคดีฟ้องร้องว่ากล่าวกันให้อีกฝ่ายหนึ่งรับผิดแต่อย่างใด กรณีจึงไม่เข้ามาตรา 144 ดังที่จำเลยฎีกา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share