แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยได้กำหนดระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดหาวัสดุอุปกรณ์การเกษตรเป็นเงินสดว่า ให้หัวหน้าหน่วยอำเภอเป็นผู้เก็บรักษาเงินสดและส่งฝากเงินสดที่มีจำนวนตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไปเข้าธนาคารหรือสาขา โจทก์เป็นหัวหน้าหน่วยสินเชื่ออำเภอมีหน้าที่รับผิดชอบด้วยการเงิน รับเงินจากลูกค้าการเกษตรไว้จำนวน1,074 บาท แม้จะเกินจำนวนที่โจทก์สามารถเก็บรักษาไว้ได้เพียง 74 บาท แต่โจทก์ส่งฝากเข้าบัญชีสาขาล่าช้าถึง 5 วันดังนี้ ถือได้ว่าโจทก์จงใจฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอันเป็นกรณีร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3) จำเลยสามารถเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายเนื่องจากเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ารวมเป็นเงิน 2,390,880 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์จงใจไม่ปฏิบัติตามวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดหาวัสดุอุปกรณ์การเกษตรเป็นเงินสดซึ่งเป็นการกระทำผิดวินัยเป็นกรณีที่ร้ายแรง จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินตามฟ้องให้แก่โจทก์
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์เป็นเงิน 48,960 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยได้กำหนดวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดหาวัสดุอุปกรณ์การเกษตรเป็นเงินสดตามหนังสือที่ 0114/ว 94 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2529 ตามเอกสารหมาย ล.5 ข้อ 1.2.3ว่า “ให้หัวหน้าหน่วยอำเภอเป็นผู้เก็บรักษาเงินสดที่ได้จากการจัดกาวัสดุอุปกรณ์การเกษตร และเป็นผู้รับผิดชอบส่งฝากเข้าบัญชีเงินฝากของสาขาที่ธนาคารพาณิชย์หรือส่งให้สาขาทางไปรษณีย์ธนาณัติทุกวันทำการ อย่างไรก็ตามถ้าในวันใดวันหนึ่งมีจำนวนเงินสดไม่ถึง 1,000 บาท หัวหน้าหน่วยอำเภออาจพิจารณาเก็บรักษาไว้ก่อนได้ จนกว่าจะมีจำนวนเงินสดตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไปจึงนำเงินทั้งหมดไปฝากธนาคารหรือส่งให้สาขาทางไปรษณีย์ธนาณัติตามที่กล่าวข้างต้น” สำหรับกรณีของโจทก์ได้ความว่าโจทก์ได้รับชำระเงินค่าขายข้าวสารไว้จากลูกค้าเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2530มีจำนวน 1,074 บาท แต่โจทก์เพิ่มเงินจำนวนดังกล่าวส่งฝากเข้าบัญชีสาขาในวันที่ 7 กรกฎาคม 2530 การกระทำของโจทก์จึงเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยผู้เป็นนายจ้างอย่างชัดแจ้ง แม้จะได้ความตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาว่า ในวันที่รับชำระเงินไว้จากลูกค้า โจทก์อยู่คนเดียว ศาลแรงงานกลางก็ฟังว่าถือได้ว่าเหตุอ้างดังกล่าวเป็นข้อแสดงว่าโจทก์มิได้มีเจตนาจะฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย อีกนัยหนึ่งก็คือโจทก์จงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของธนาคารนั่นเอง การกระทำของโจทก์ดังกล่าวศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบด้านการเงินจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับขอจำเลยเกี่ยวกับการเงินอย่างเคร่งครัด มิฉะนั้นแล้วจะส่งผลกระทบกระเทือนไปถึงความเชื่อถือของประชาชนอันมีต่อกิจการของจำเลยซึ่งเป็นกิจการธนาคาร ถึงขนาดที่ในที่สุดอาจทำให้กิจการของจำเลยไม่สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ จริงอยู่จำนวนเงินที่โจทก์รับไว้จากลูกค้ามีจำนวนเพียง 1,074 บาท เกินกว่าจำนวนเงินที่โจทก์สามารถเก็บรักษาไว้ได้โดยไม่ต้องส่งฝากเข้าบัญชีเงินฝากของสาขาที่ธนาคารพาณิชย์ฯ เพียง 74 บาท แต่ตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมานั้นฟังได้ว่า การที่โจทก์แม้จะอยู่คนเดียวในบ่ายวันที่2 กรกฎาคม 2530 อันเป็นวันที่โจทก์ได้รับเงินไว้จากลูกค้าเหตุและข้ออ้างดังกล่าวยังไม่ถึงกับเป็นข้อขัดขวางการนำเงินส่งเข้าบัญชีแต่อย่างใด หมายความว่าแม้โจทก์จะอยู่ตนเดียวก็ยังสามารถนำเงินส่งฝากเข้าบัญชีเงินฝากของสาขาที่ธนาคารพาณิชย์ฯ ได้ตามระเบียบ แต่โจทก์หาได้กระทำไม่ จงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบอย่างเห็นได้ชัด การกระทำของโจทก์เช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างอันเป็นกรณีร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่16 เมษายน 2515 ข้อ 47 แล้วจำเลยสามารถเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง