คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3134/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีที่พนักงานศุลกากรยึดสิ่งใดๆ อันจะพึงริบตามพระราชบัญญัติศุลกากร ถ้าเจ้าของหรือผู้มีสิทธิไม่ยื่นคำร้องเรียกเอาภายในกำหนด 60 วัน สำหรับยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำผิด 30 วัน สำหรับสิ่งอื่นนับแต่วันที่ยึดให้ถือว่าเป็นสิ่งไม่มีเจ้าของ และให้ตกเป็นของแผ่นดินนั้นหมายถึงกรณีที่ไม่มีการฟ้องคดีอาญาต่อศาล ถ้าเป็นกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลแล้ว ย่อมอยู่ในอำนาจของศาลที่จะพิพากษาให้ริบหรือไม่ริบของกลาง
เมื่อศาลพิพากษาถึงที่สุดให้คืนของกลางแก่เจ้าของการที่พนักงานศุลกากรยึดถือครอบครองของกลางไว้ต่อมา ย่อมเป็นการรักษาไว้แทนเจ้าของตามหน้าที่ราชการ หากของกลางนั้นได้ถูกขายไปแล้ว ก็ชอบที่จะต้องคืนเงินค่าขายของนั้นให้แก่เจ้าของนับแต่เวลาที่ถูกทวงถาม มิฉะนั้นย่อมตกเป็นฝ่ายผิดนัดต้องเสียดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224
คำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งของกลางอันเป็นคุณแก่บุคคลใด อาจใช้ยันบุคคลอื่นได้ เว้นแต่บุคคลอื่นจะพิสูจน์ได้ว่ามีสิทธิดีกว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145(2)
ศาลอาญาพิพากษาถึงที่สุดให้คืนของกลางแก่โจทก์เมื่อวันที่13พฤษภาคม 2501 โจทก์ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 30มิถุนายน 2501ต่อศาลอาญาว่า อธิบดีกรมศุลกากรปฏิเสธไม่ยอมคืนของกลางให้ขอให้ศาลอาญาสั่งบังคับ ศาลอาญาสั่งยกคำร้องโจทก์โดยว่ามีข้อโต้แย้งเรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ของกลางอยู่ ชอบที่จะไปว่ากล่าวกันในทางแพ่งโจทก์อุทธรณ์ฎีกาคำสั่งต่อมาศาลอุทธรณ์และฎีกาพิพากษายืนโจทก์จึงมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน2507เรียกให้คืนเงินค่าขายของกลางพร้อมทั้งดอกเบี้ย ดังนี้ กรณีเป็นเรื่องเรียกทรัพย์คืน มิใช่เรื่องละเมิดซึ่งจะต้องฟ้องภายใน 1 ปีดังที่จำเลยต่อสู้ เพราะโจทก์มิได้ฟ้องเรียกเอาค่าเสียหาย คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
อธิบดีกรมศุลกากรมีอำนาจหน้าที่ควบคุมบังคับบัญชากิจการงานของกรมศุลกากร จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล ได้ปฏิบัติราชการไปตามอำนาจหน้าที่ในกิจการของจำเลยที่ 1 ตามปกติ หาต้องรับผิดเป็นส่วนตัวไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๑ พนักงานอัยการ กรมอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายเม้ง พันธ์เผือก กับพวกเป็นจำเลยต่อศาลอาญาตามสำนวนคดีหมายเลขดำที่ ๒๘๔/๒๕๐๑ หาว่านำสินค้ายังไม่เสียภาษีเข้ามาในราชอาณาจักรขอให้ลงโทษและสั่งริบสินค้ามีราคา ๑,๑๑๗,๕๘๕.๒๖ บาท ซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ ๑ ต่อมาวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๐๑ โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาขอให้มีคำสั่งให้จำเลยที่ ๑ คืนสินค้าให้โจทก์ วันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๐๑ศาลพิพากษายกฟ้อง ส่วนสินค้าให้คืนแก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าของตามคดีหมายเลขแดงที่ ๗๙๗/๒๕๐๑ คดีถึงที่สุดแล้ว เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๐๑โจทก์มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือถึงจำเลยที่ ๑ ให้คืนสินค้าหรือใช้ราคาให้โจทก์ภายใน ๓ วัน จำเลยที่ ๑ รับทราบเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม๒๕๐๑ แต่ไม่ยอมคืนสินค้าหรือใช้ราคาให้โจทก์ถือว่าผิดนัดตั้งแต่วันที่ ๑๑กรกฎาคม ๒๕๐๑ เป็นต้นมา
จำเลยที่ ๑ โดยคำสั่งของจำเลยที่ ๒ ได้ขายทอดตลาดสินค้าไปก่อนศาลอาญาพิพากษา ได้เงิน ๑,๑๑๒,๘๘๗.๕๐ บาท โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาขอรับสินค้าคืนตามคำพิพากษาจำเลยที่ ๑ คัดค้านว่า โจทก์มิใช่นายเบ๊หรือจือเฮ้าแซ่ตั้ง ตัวจริง ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์สินค้า ศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์โดยเห็นว่ายังมีประเด็นข้อเท็จจริงที่จะต้องพิจารณาในทางแพ่งศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน
โจทก์เป็นเจ้าของสินค้า จำเลยจะต้องคืนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดสินค้าให้โจทก์ จึงขอให้พิพากษาให้จำเลยรับผิดชอบเป็นลูกหนี้ร่วมกันชำระเงิน๑,๖๐๙,๘๒๗.๖๒ บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงิน ๑,๑๑๒,๘๔๗.๕๐บาทนับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่ใช่นายเบ๊ มิใช่เจ้าของสินค้ารายพิพาทพนักงานอัยการฟ้องนายเม้ง พันธ์เผือก กับพวกเป็นจำเลยต่อศาลอาญาคดีหมายเลขดำที่ ๒๘๔/๒๕๐๑ คดีอยู่ในระหว่างพิจารณา โจทก์ได้รับสินจ้างมาแสดงตนเป็นเจ้าของสินค้ารายพิพาทและสมคบกับพวกปลอมเอกสารนำมาใช้ต่อศาลอาญาและเบิกความเท็จพนักงานสอบสวนกองปราบปรามได้สอบสวนโจทก์แล้วอยู่ในระหว่างดำเนินคดี สินค้าที่ยึดบางชนิดเป็นของเสียง่ายหรือถ้าหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงต่อความเสียหาย จำเลยที่ ๑จึงได้ขายไปก่อนถูกริบหรือเป็นของแผ่นดินแล้วรักษาเงินไว้ ของอื่นที่เหลือได้รักษาไว้จนวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๐ ไม่มีผู้ใดมาแสดงตัวเป็นเจ้าของและตกเป็นของแผ่นดินแล้ว จึงขายของอื่นที่เหลือในฐานะเป็นของแผ่นดินรวมค่าขายสินค้ารายพิพาทเป็นเงิน ๑,๑๑๒,๘๔๗.๐๕ บาท จ่ายเป็นค่าสินบนและรางวัล และหักค่ากุลีขนของและค่ารถบรรทุกแล้วเหลือเงิน ๔๙๘,๘๐๒.๑๘ บาทนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเอาจากจำเลย
สินค้ารายพิพาทนี้เจ้าหน้าที่ยึดไว้เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๐๐ ไม่มีผู้ใดอ้างตัวเป็นเจ้าของ ต่อมาวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๐๑ จึงมีคำร้องในนามของนายเบ๊หรือจือเฮ้า แซ่ตั้ง ส่งมายังจำเลยที่ ๑ ขอคืนของดังกล่าวซึ่งเป็นระยะเวลา ๑ ปีของนี้ตกเป็นของแผ่นดินแล้วตั้งแต่วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๐ จึงไม่อาจคืนให้ได้คดีของโจทก์ขาดอายุความ
จำเลยไม่เคยเป็นคู่ความกับโจทก์ในคดีหมายเลขแดงที่ ๗๙๗/๒๕๐๑ของศาลอาญา โจทก์ไม่ใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จะใช้สิทธิในคำพิพากษาดังกล่าวมายันจำเลยไม่ได้ กรรมสิทธิ์ในสินค้ารายพิพาทตกเป็นของแผ่นดินก่อนที่โจทก์จะร้องขอต่อศาลอาญาและก่อนศาลอาญาพิพากษา เงินค่าขายสินค้ารายพิพาทหมดสภาพเป็นของกลาง โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกคืนโดยอาศัยสิทธิตามคำพิพากษาและโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๒ ให้รับผิดเป็นส่วนตัว
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่า โจทก์ไม่ใช่นายเบ๊หรือจือเฮ้า แซ่ตั้ง ตัวจริงซึ่งเป็นเจ้าของสินค้ารายนี้ตามคำพิพากษาคดีอาญา ไม่มีสิทธิจะเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินตามฟ้องไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่น พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังว่า โจทก์ใช่นายเบ๊หรือจือเฮ้า แซ่ตั้ง ตัวจริง ซึ่งเป็นเจ้าของสินค้าของกลางตามคำพิพากษาในคดีอาญา
และวินิจฉัยในประเด็นปัญหาข้อกฎหมายว่า คำพิพากษาศาลอาญาคดีแดงที่ ๗๙๗/๒๕๐๑ เป็นคำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งสินค้าของกลางเป็นคุณแก่โจทก์อาจใช้ยันแก่จำเลยได้ เว้นแต่จำเลยจะพิสูจน์ได้ว่ามีสิทธิดีกว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๕(๒) ซึ่งศาลอาญามีอำนาจพิพากษาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๙ข้อที่จำเลยอ้างว่ามีสิทธิในสินค้าของกลางดีกว่าก็คือสินค้าของกลางถูกเจ้าพนักงานศุลกากรยึดมา เจ้าของไม่มายื่นคำร้องเอาภายใน ๓๐ วันนับแต่วันยึด ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีเจ้าของ ตกเป็นของแผ่นดินก่อนโจทก์จะร้องขอต่อศาลอาญาและก่อนศาลอาญามีคำพิพากษา ศาลฎีกาเห็นว่าพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๑๗ ให้ริบของใด ๆอันเนื่องด้วยความผิดตามมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ประกอบด้วยมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๘๒แต่สินค้าของกลางนี้ปรากฏตามคำพิพากษาศาลอาญาคดีแดงที่ ๗๙๗/๒๕๐๑แล้วว่า มิได้เนื่องด้วยความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว ฉะนั้นจึงจะริบมิได้ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ บัญญัติถึงสิ่งใด ๆอันจะพึงต้องริบตามพระราชบัญญัติศุลกากร พนักงานศุลกากร มีอำนาจยึดไว้ถ้าเจ้าของหรือผู้มีสิทธิไม่มายื่นคำร้องเรียกเอาภายในกำหนด ๖๐ วันสำหรับยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำผิด ๓๐ วันสำหรับสิ่งอื่นนับแต่วันที่ยึดให้ถือว่าเป็นสิ่งไม่มีเจ้าของ และให้ตกเป็นของแผ่นดินนั้น สิ่งของที่จะตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรานี้จะต้องเป็นกรณีที่ไม่มีการฟ้องคดีอาญานั้นต่อศาล ถ้าเป็นกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลแล้วย่อมอยู่ในอำนาจของศาลที่จะพิพากษาให้ริบหรือไม่ริบของกลาง หากถือว่าของกลางตกเป็นของแผ่นดินแล้วตามที่จำเลยยกขึ้นอ้าง ก็ไม่มีความจำเป็นอย่างไรที่พนักงานอัยการโจทก์จะต้องมาร้องขอต่อศาลให้พิพากษาริบของกลางที่ตกเป็นของแผ่นดินแล้วให้ตกเป็นของแผ่นดินอีก ตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๖๗๓/๒๕๑๒พนักงานอัยการจังหวัดชลบุรี โจทก์นางสาวเฮียะ แซ่เช้า ผู้ร้อง นางฮวย แซ่เช้าจำเลย สินค้าของกลางในคดีนี้จึงยังไม่ตกเป็นของแผ่นดิน การครอบครองสินค้าของกลางของจำเลยเป็นการรักษาไว้แทนเจ้าของตามหน้าที่ทางราชการโจทก์มีสิทธิฟ้องเอาสินค้าของกลางคืน เมื่อจำเลยได้ขายสินค้าของกลางไปแล้ว จำเลยก็ต้องถือเงินค่าขายของนั้นไว้แทนสินค้าของกลางตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๕ และชอบที่จะคืนเงินนั้นให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของสินค้าที่ขายไป
คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเอาเงินค่าขายสินค้าของกลางของโจทก์คืนเป็นเรื่องเรียกทรัพย์คืน กรณีมิใช่เป็นเรื่องละเมิดซึ่งจะต้องฟ้องภายใน ๑ ปีดังที่จำเลยต่อสู้เพราะโจทก์ไม่ได้ฟ้องเรียกเอาค่าเสียหาย คดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ
ระหว่างเกิดเรื่องนี้จำเลยที่ ๒ เป็นอธิบดีกรมศุลกากร มีอำนาจหน้าที่ควบคุมบังคับบัญชากิจการงานของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นนิติบุคคลได้ปฏิบัติราชการไปตามอำนาจหน้าที่ในกิจการงานของจำเลยที่ ๑ ตามปกติจำเลยที่ ๒ หาต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นส่วนตัวไม่
หลังจากศาลอาญาพิพากษาคดีแดงที่ ๗๙๗/๒๕๐๑ ให้คืนของกลางให้โจทก์และคดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์ทวงถามขอรับเงินค่าขายของกลางคืนจากจำเลยที่ ๑ กำหนดให้ส่งมอบให้ภายใน ๓ วัน จำเลยที่ ๑ รับทราบตั้งแต่วันที่ ๗กรกฎาคม ๒๕๐๑ ครบกำหนดวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๐๑ จำเลยไม่คืนเงินค่าขายของกลางให้โจทก์ จำเลยจึงตกเป็นฝ่ายผิดนัดตั้งแต่วันครบกำหนดเพราะโจทก์เตือนแล้ว ต้องเสียดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในจำนวนเงินที่จะต้องคืนให้โจทก์ด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๒๒๔
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ร่วมกันคืนเงินค่าขายสินค้าของกลางจำนวน ๑,๑๑๐,๘๖๘ บาทกับดอกเบี้ยในจำนวนเงินดังกล่าวอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันที่ ๑๑ กรกฎาคม๒๕๐๑ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จให้แก่โจทก์ นอกจากนี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share