คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2962/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์แต่งชุดดำมาทำงานในวันที่มีข่าวว่าจะมีพนักงานธนาคารอ. ร่วมกันแต่งชุดดำประท้วงจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับการประชุมแต่งตั้งพนักงานในสำนักงานผู้จัดการซึ่งนอกจากโจทก์แล้วยังมีพนักงานธนาคารอีก 3 คน แต่งชุดดำมาทำงานด้วย แม้จะเป็นการบังเอิญมาตรง กัน แต่การกระทำของโจทก์ก็เป็นมูลเหตุให้จำเลยที่ 2 เข้าใจไปได้ว่าโจทก์แต่งมาเพื่อประท้วงจำเลยที่ 1 จึงได้ทำความเห็นเสนอจำเลยที่ 1 ว่า ไม่ควรเลื่อนเงินเดือนให้โจทก์ และจำเลยที่ 1มีความเห็นด้วยกับจำเลยที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 เช่นนี้แม้จะเป็นการใช้ดุลพินิจโดยขาดความละเอียดรอบคอบ จนอาจเรียกได้ว่าขาดความเป็นธรรม ก็เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำนาจในการบริหารที่ตนมีอยู่ โดยโจทก์เองมีส่วนทำให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 เข้าใจผิดและใช้ดุลพินิจดังกล่าว กรณีเช่นนี้ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์เป็นลูกจ้างของธนาคาร อ. ซึ่งมีจำเลยที่ 1 ผู้จัดการหรือจำเลยที่ 2 รองผู้จัดการเป็นผู้กระทำการแทน นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 จึงเป็นไปตามสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์ฟ้องอ้างว่า จำเลยที่ 1 มีคำสั่งไม่เลื่อนขั้นเงินเดือนให้โจทก์ ฝ่าฝืนข้อบังคับธนาคาร อ. แต่ปรากฏว่าข้อบังคับดังกล่าวกำหนดให้ผู้จัดการมีอำนาจใช้ดุลพินิจในการสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนให้แก่พนักงานหรือลูกจ้างได้ ดังนี้ ถ้าโจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 ใช้ดุลพินิจผิดไปจากข้อบังคับ โจทก์ก็ชอบที่จะว่ากล่าวกับจำเลยที่ 1 ฐานผิดสัญญาจ้างแรงงาน จะอ้างว่ากระทำละเมิดต่อโจทก์หาได้ไม่ เว้นแต่โจทก์จะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อขึ้นอีกต่างหากนอกเหนือจากการปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงาน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ที่โจทก์เป็นลูกจ้างอยู่ จำเลยที่ 2 เป็นรองผู้จัดการ จำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยอื่นกระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยหยิบยกรื้อฟื้นเรื่องการเลื่อนเงินเดือนซึ่งพิจารณาเสนอเรียบร้อยแล้วมาคัดตัดชื่อโจทก์ที่ได้เลื่อนเงินเดือน 1 ขั้นออก ทำให้โจทก์เสียหายขาดผลประโยชน์ที่จะได้จากการเลื่อนขั้นเงินเดือน 1 ขั้นและเสียชื่อเสียง เกียรติคุณ ประวัติในการทำงาน ขอให้บังคับจำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ จำเลยให้การว่า มิได้สมคบกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ การพิจารณาเลื่อนขึ้นเงินเดือนหรือไม่เลื่อนขึ้นเงินเดือนเป็นอำนาจและอยู่ในดุลพินิจของจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่าตัวโจทก์เบิกความยอมรับว่าในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2520 โจทก์ได้แต่งชุดดำมาทำงานจริง นอกจากโจทก์แล้วยังมีพนักงานธนาคารอีกประมาณ 3 คน แต่งชุดดำมาทำงานด้วย แต่โจทก์อ้างว่าแต่งมาเพื่อจะไปงานศพกับสามีในตอนเย็นไม่ใช่เพื่อประท้วง ซึ่งแม้จะเป็นการบังเอิญมาตรงกันเช่นที่โจทก์อ้างจริงก็ตาม แต่การกระทำของโจทก์ก็เป็นมูลเหตุให้จำเลยที่ 2 เข้าใจไปได้ว่าโจทก์แต่งชุดดำมาทำงานเพื่อประท้วงจำเลยที่ 1 จึงได้ทำความเห็นเสนอต่อจำเลยที่ 1 ว่าไม่ควรเลื่อนขั้นเงินเดือนให้แก่โจทก์ และจำเลยที่ 1 มีความเห็นด้วยกับจำเลยที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 เช่นนี้ แม้จะเป็นการใช้ดุลพินิจโดยขาดความละเอียดรอบคอบ จนอาจเรียกได้ว่าขาดความเป็นธรรมก็ตาม ก็เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำนาจในการบริหารของตนที่มีอยู่ โดยโจทก์เองมีส่วนกระทำให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 เข้าใจผิดและใช้ดุลพินิจไปดังกล่าวแล้ว ซึ่งกรณีเช่นนี้ยังไม่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์แม้ผู้บังคับบัญชาของโจทก์จะเสนอขอเลื่อนขั้นเงินเดือนเป็นพิเศษ2 ขั้นให้โจทก์ แสดงให้เห็นว่าโจทก์เป็นพนักงานที่ปฏิบัติงานดีเด่น หรือคณะกรรมการพิจารณาความดีความชอบที่จำเลยที่ 2 เป็นประธานจะมีมติว่าให้โจทก์ได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือน 1 ขั้นก็ตาม ล้วนแต่เป็นเพียงความเห็นซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 1 ก็อาจจะมีความเห็นไม่ตรงกันได้”
“ข้อบังคับของธนาคารอาคารสงเคราะห์ ฉบับที่ 7 เรื่องระเบียบปฏิบัติของพนักงานธนาคารว่าด้วยการเลื่อนเงินเดือนและค่าจ้างประจำปี พ.ศ. 2518 นั้น เป็นแต่เพียงกำหนดหลักเกณฑ์ของพนักงานหรือลูกจ้างผู้ซึ่งจะได้เลื่อนเงินเดือนหรือค่าจ้างไว้ในข้อ 5 แต่หาได้หมายความว่าพนักงานหรือลูกจ้างรายใดไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์อันต้องห้ามในข้อ 5 แล้ว จำเลยที่ 1 จะต้องเลื่อนเงินเดือนให้ทุกรายไปไม่ เพราะในข้อ 8 ของระเบียบนี้เองได้กำหนดให้จำเลยที่ 1 ใช้ดุลพินิจได้ว่าจะเลื่อนเงินเดือนหรือค่าจ้างให้ผู้ใดบ้าง โดยไม่มีระเบียบข้อใดบังคับไว้ว่า หากจะไม่เลื่อนเงินเดือนหรือค่าจ้างให้พนักงานหรือลูกจ้างรายใดต้องให้เหตุผลไว้ การที่จำเลยที่ 1 ไม่ระบุเหตุไว้ในคำสั่งว่าเหตุใดจึงไม่เลื่อนขั้นเงินเดือนให้โจทก์ จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์”
พิพากษายืน

Share