แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางสั่งว่า จำเลยอุทธรณ์ ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ส่วนอุทธรณ์ว่า โจทก์เบิกความโดยไม่ได้สาบานตน จำเลยมิได้แถลงคัดค้านไว้ ในขณะที่พยานเบิกความ จึงไม่รับอุทธรณ์เช่นกัน จำเลยเห็นว่า อุทธรณ์ที่ว่า ศาลแรงงานกลางพิพากษาคดีไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่ได้นำข้อเท็จจริงที่โจทก์ที่ 2ถึงที่ 5 เบิกความยอมรับว่าขณะทำงานอยู่กับจำเลย โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ได้ลาป่วย ลากิจ แล้วนำเงินค่าจ้างในวันดังกล่าว ไปหักออกจากเงินจำนวนที่พิพากษาให้จำเลยชำระ และอุทธรณ์ที่ว่า โจทก์ทั้งหกเบิกความโดยไม่ได้สาบานตนซึ่งจำเลยได้แถลงคัดค้าน ภายในกำหนดเวลาแล้วนั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมาย โปรดมีคำสั่ง ให้รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาต่อไป หมายเหตุ โจทก์ทั้งหกได้รับสำเนาคำร้องแล้ว(อันดับ 46,47) คดีทั้งหกสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางรวมพิจารณาพิพากษา เข้าด้วยกันโดยให้เรียกโจทก์สำนวนแรกและสำนวนถัดไปว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 ตามลำดับ ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 12,337 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 11,813.50 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 9,565.50 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน 12,298.50 บาท โจทก์ที่ 5 จำนวน 12,571 บาท และโจทก์ที่ 6 จำนวน 11,696 บาท จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ดังกล่าว (อันดับ 41) จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 43)
คำสั่ง พิเคราะห์แล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำนวนวัน ที่จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทั้งหกต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำโดยหักส่วนที่ขาดอายุความออกแล้ว เป็นไปตามเอกสารหมาย จ.2, จ.4, จ.6, จ.8, จ.10 และ จ.12 จำเลยอุทธรณ์ว่าต้องหักค่าจ้าง สำหรับวันที่โจทก์แต่ละคนลาป่วยลากิจตามจำนวนวันที่โจทก์ แต่ละคนเบิกความออกจากจำนวนเงินที่ศาลแรงงานกลางพิพากษา ให้จำเลยจ่ายให้โจทก์ เป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงที่ ศาลแรงงานกลางฟังว่า จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทั้งหกต่ำกว่า กฎหมายกี่วัน เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ส่วนอุทธรณ์ที่ว่า โจทก์ ทั้งหกเบิกความโดยไม่ได้สาบานตนก่อนนั้น เห็นว่า ในคำพยานโจทก์ดังกล่าวมีคำว่าพยานได้ปฏิญาณหรือสาบานตนแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้จึงเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริงเช่นกัน ทั้งสองกรณีต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่าคำพิพากษาศาลแรงงานกลางมีข้อผิดพลาดนั้น เนื่องจากศาลฎีกายังไม่ได้รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณา จึงเป็นอำนาจของศาลแรงงานกลางที่จะแก้ไข ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 143 วรรคแรก ประกอบกับมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่ง ม่รับอุทธรณ์นั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง