คำสั่งคำร้องที่ 1006/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 219 แก้ไข (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 จึงไม่รับ
จำเลยเห็นว่า ฎีกาของจำเลยทุกข้อเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายกล่าวคือ ในข้อ 2.1 และ 2.2 การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีนี้ว่าข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าผู้เสียหายถูกทำร้ายก่อนหน้านั้นแล้วร้อยตำรวจเอกประสิทธิ์เข้าไปในสถานที่เกิดเหตุภายหลังจึงไม่เห็นผู้เสียหายถูกทำร้าย และที่วินิจฉัยว่าร้านศิริโภชนาเป็นร้านอาหารย่อมต้องมีแสงสว่างเพียงพอให้ผู้เสียหายเห็นและจำหน้าจำเลยได้นั้นเป็นการวินิจฉัยคดีโดยรับฟังพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงนอกสำนวนที่โจทก์มิได้นำสืบไว้ซึ่งเป็นผลร้ายแก่จำเลย จึงไม่ชอบด้วยกระบวนวิธีพิจารณาความอาญาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ส่วนในข้อ 2.3 เมื่อคำเบิกความของผู้เสียหายไม่มีเหตุผลอันควรจะรับฟังและเป็นการปรักปรำจำเลย อีกทั้งประจักษ์พยานโจทก์ให้การแตกต่างกันในข้อสำคัญแห่งคดี ศาลต้องยกประโยชน์แห่ง ความสงสัยให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227วรรคสอง โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณา พิพากษาต่อไป
หมายเหตุ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าโจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้วหรือไม่
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297,83 ลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว (อันดับ 53)
ทนายจำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 55)

คำสั่ง
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงนอกสำนวนโดยวินิจฉัยว่าร้านศิริโภชนา (สถานที่เกิดเหตุ) เป็นร้านอาหารย่อมต้องมีแสงสว่างเพียงพอให้ผู้เสียหายเห็นและจำจำเลยได้ เป็นการวินิจฉัยคดีโดยรับฟังพยานหลักฐานนอกสำนวน เพราะโจทก์มิได้นำสืบไว้นั้น เห็นว่าคดีนี้แม้โจทก์จะมิได้นำสืบถึงแสงสว่างในที่เกิดเหตุไว้โดยตรงก็ตาม แต่การที่เหตุเกิดขึ้นในร้านอาหารในขณะที่มีการขายอาหารในเวลากลางคืนตามทางนำสืบของโจทก์ ก็เท่ากับโจทก์นำสืบถึงแสงสว่างในที่เกิดเหตุแล้ว ดังนี้ศาลอุทธรณ์ จึงหาได้ วินิจฉัยถึงข้อเท็จจริงนอกสำนวนดังที่จำเลยฎีกาไม่ ฎีกาจำเลยข้อนี้จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า คำเบิกความของผู้เสียหายไม่มีเหตุผล เป็นการปรักปรำจำเลยและแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยกล่าวอีกนัยหนึ่ง ไม่ควรรับฟังนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นฎีกาโต้แย้ง ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นเดียวกันศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

Share