คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11519/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาของโจทก์ โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลายื่นฎีกา ไม่ใช่กรณีศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นที่ไม่ยอมรับอุทธรณ์ของโจทก์ คำสั่งศาลอุทธรณ์จึงยังไม่ถึงที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 236 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิฎีกาได้
นับตั้งแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้โจทก์ฟังจนถึงวันครบกำหนดที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาแก่โจทก์เป็นเวลานานถึง 2 เดือน คดีของโจทก์ก็ไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อน หากโจทก์ให้ความสำคัญต่อคดีของตนระยะเวลาดังกล่าวก็เพียงพอที่โจทก์จะจัดทำฎีกาและยื่นฎีกาได้ทันภายในกำหนดอีกทั้งในชั้นมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาของโจทก์ ศาลชั้นต้นก็ได้กำชับในคำร้องแล้วว่า เป็นการอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาเพียงครั้งเดียวดังนั้น จึงเป็นหน้าที่โจทก์ที่ควรเร่งจัดทำฎีกามายื่นต่อศาลให้ทันภายในกำหนดที่ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลายื่นฎีกาอีกนั้นชอบแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกัน ชำระเงินแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 5 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 5 โดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟัง เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2550 ต่อมาวันที่ 12 เมษายน 2550 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกา (ครั้งที่ 1) มีกำหนด 30 วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาได้จนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2550 เมื่อถึงวันดังกล่าวโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกา (ครั้งที่ 2) ออกไปอีก 30 วัน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 5 ยื่นคำแก้ฎีกาว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกา (ครั้งที่ 2) ของโจทก์ โจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจึงเป็นคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกา (ครั้งที่ 2) คำสั่งของศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 236 วรรคหนึ่ง นั้น จึงเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่าโจทก์มีสิทธิฎีกาหรือไม่ เห็นว่า แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลายื่นฎีกา แต่ไม่ใช่กรณีศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นที่ไม่ยอมรับอุทธรณ์ของโจทก์ คำสั่งศาลอุทธรณ์จึงยังไม่ถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 236 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิฎีกาได้ คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาว่ามีเหตุที่จะขยายระยะเวลายื่นฎีกาแก่โจทก์ออกไปอีกหรือไม่ เห็นว่า นับตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2550 ซึ่งเป็นวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้โจทก์ฟังจนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2550 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกา (ครั้งที่ 1) แก่โจทก์เป็นเวลานานถึง 2 เดือน คดีของโจทก์ก็ไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อน หากโจทก์ให้ความสำคัญต่อคดีของตน ระยะเวลาดังกล่าวก็เพียงพอที่โจทก์จะจัดทำฎีกาและยื่นฎีกาได้ทันภายในกำหนด อีกทั้งในชั้นมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกา (ครั้งที่ 1) ของโจทก์ศาลชั้นต้นก็ได้กำชับในคำร้องแล้วว่า เป็นการอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาเพียงครั้งเดียว ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่โจทก์ที่ควรเร่งจัดทำฎีกามายื่นต่อศาลให้ทันภายในกำหนด ที่ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลายื่นฎีกานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share