แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสามฉบับเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืม แต่ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยจะต้องนำเช็คพิพาทมามอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ตั้งแต่ก่อนถึงกำหนดชำระหนี้เป็เวลานานโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้เรียกให้ทำเช่นนั้น ประกอบกับโจทก์เพิ่งรับซื้อฝากที่ดินจากจำเลยไปไม่นายจึงไม่นานเชื่อว่าโจทก์จะยินยอมให้จำเลยกู้ยืมเงินไปเป็นจำนวนมากอีกโดยมีเพียง ส. ซึ่งเป็นลูกหนี้อีกคนหนึ่งของโจทก์เป็นผู้ค้ำประกัน ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ชำระดอกเบี้ย และโจทก์ก็มิได้ทวงถามหรือติดใจเรียกเอาดอกเบี้ยเสียจึงเป็นเรื่องผิดปกติวิสัย ยิ่งกว่านั้นเมื่อเช็คพิพาทแต่ละฉบับถึงกำหนดโจทก์ก็มิได้นำไปเรียกเก็บเงินภายในเวลาอันสมควร เช่นนี้นับเป็นข้อพิรุธน่าสังสัยว่าจำเลยจะกู้ยืมเงินจากโจทก์ และออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้จริงหรือไม่ ในขณะที่จำเลยสามารถนำสืบถึงที่มาของการทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินและการออกเช็คพิพาทเพื่อเป็นประกันการชำระดอกเบี้ยตามสัญญาขายฝาก พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาไม่มีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอจะรับฟังว่า จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินแล้วออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1) (2) รวม 3 กระทง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 2 เดือน รวมจำคุก 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…โจทก์อ้างว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสามฉบับเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืม ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน ภายหลังทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินไปแล้วประมาณ 2 เดือน แต่ตามสัญญาดังกล่าวข้อ 3 ระบุว่า จำเลยตกลงจะชำระหนี้คืนภายในวันที่ 30 สิงหาคม 2540 จึงไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยจะต้องนำเช็คพิพาทมามอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ตั้งแต่ก่อนถึงกำหนดชำระหนี้เป็นเวลานาน โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้เรียกให้ทำเช่นนั้น ทั้งโจทก์ยังอ้างว่าจำเลยพิมพ์ข้อความในเช็คมาครบถ้วนรวมทั้งวันที่ลงในเช็คแต่ละฉบับด้วย แล้วจึงมาแก้ไขวันที่ลงในเช็คต่อหน้าโจทก์และนางศรีสุดา แต่ปรากฎว่าวันที่ลงในเช็คฉบับแรกก่อนการแก้ไขคือวันที่ 21 กรกฎาคม 2540 อันเป็นเวลาก่อนครบกำหนดชำระหนี้ที่ระบุไว้ในสัญญา โดยไม่ได้ความว่ามีการตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยให้มีการแบ่งชำระหนี้เป็นงวดมาก่อน หากจำเลยไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด จำเลยก็ไม่น่าจะระบุวันที่ลงในเช็คฉบับแรกก่อนวันถึงกำหนดชำระหนี้เช่นนี้ แม้ต่อมาจะมีการแก้ไขวันที่ลงในเช็คเป็นงวดแรกลงวันที่ในวันถึงกำหนดชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน ก็ยังมีข้อน่าสงสัยอยู่เพราะจำเลยปฏิเสธว่ามิได้เป็นผู้แก้ไขและลงลายมือชื่อกำกับแต่อย่างใด ทั้งเหตุที่มาแก้ไขเมื่อมาพบโจทก์ก็ผิดปกติวิสัยเพราะหากจำเลยจะขอผัดผ่อนการชำระหนี้และขอแบ่งชำระเป็นงวดจริง จำเลยก็ไม่จำต้องพิมพ์วันที่ลงในเช็คมาล่วงหน้า โดยสามารถออกเช็คได้ภายหลังตกลงเงื่อนไขกับโจทก์แล้ว อีกทั้งหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน ยังมีนายสมจิตลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกันและเช็คพิพาทก็มีนายสมจิตลงลายมือชื่อสลักหลังไว้โดยไม่ได้ความว่านายสมจิตเกี่ยวข้องอย่างไร จึงได้เข้ามาค้ำประกันหนี้และลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาทด้วย จากทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าในวันที่จำเลยนำเช็คพิพาทมามอบให้นั้น นายสมจิตมาด้วยหรือไม่ ประกอบกับโจทก์เพิ่งรับซื้อฝากที่ดินจากจำเลยไปไม่นาน จึงไม่น่าเชื่อว่าโจทก์จะยินยอมให้จำเลยกู้ยืมเงินไปเป็นจำนวนมากอีกโดยมีเพียงนายสมจิตซึ่งเป็นลูกหนี้อีกคนหนึ่งของโจทก์เป็นผู้ค้ำประกัน ทั้งหลังจากจำเลยทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินไปแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ชำระดอกเบี้ยซึ่งกำหนดไว้ให้ชำระเป็นรายเดือนทุกเดือนให้แก่โจทก์ และโจทก์ก็มิได้ทวงถามหรือติดใจเรียกเอาดอกเบี้ยเสียในขณะรับเช็คพิพาทไว้แต่อย่างใด เป็นเรื่องผิดปกติวิสัย ยิ่งกว่านั้นเมื่อเช็คพิพาทแต่ละฉบับถึงกำหนด โจทก์ก็มิได้นำไปเรียกเก็บเงินภายในเวลาอันสมควร แม้โจทก์จะอ้างว่าจำเลยขอผัดผ่อนแต่การที่โจทก์เพิ่งนำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงินภายหลังเช็คฉบับแรกถึงกำหนดเป็นเวลาเกือบ 1 ปี เช่นนี้นับเป็นข้อพิรุธ น่าสงสัยว่าจำเลยจะกู้ยืมเงินจากโจทก์และออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้จริงหรือไม่ ในขณะที่จำเลยนำสืบถึงที่มาของการทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินและการออกเช็คพิพาทได้อย่างเป็นขั้นตอน มีข้อเท็จจริงที่เชื่อมโยงกัน รวมทั้งแสดงเหตุผลที่นายสมจิตต้องเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยโดยละเอียด มีเหตุผลสนับสนุนให้เชื่อว่าจำเลยทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินและออกเช็คพิพาทเพื่อเป็นประกันการชำระดอกเบี้ยตามสัญญาขายฝาก ซึ่งมีข้อตกลงกับโจทก์ว่าหากผู้ขายฝากไถ่ถอนที่ดินคืนได้ก็ต้องชำระดอกเบี้ย แต่หากไม่ไถ่ถอนคืนโจทก์ก็จะได้ที่ดินไปโดยไม่ต้องชำระดอกเบี้ยนั้นอีก เนื่องจากราคาที่ดินที่แท้จริงสูงกว่าจำนวนเงินขายฝาก ที่โจทก์อ้างในฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้คิดดอกเบี้ยในการรับซื้อฝากที่ดินของจำเลยและนายสมจิตนั้น เห็นว่า หากผู้ขายฝากไม่ไถ่ถอนการขายฝาก ย่อมเป็นเรื่องสมด้วยเหตุผล แต่หากผู้ขายฝากไถ่ถอนที่ดินคืนตามกำหนด โจทก์จะไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ ซึ่งผิดปกติวิสัยของบุคคลที่จะทำเช่นนั้น พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาไม่มีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอจะรับฟังว่า จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินแล้วออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ดังกล่าว เช่นนี้ แม้จำเลยเป็นผู้ออกเช็คพิพาท ก็มิใช่การออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องมานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน