แหล่งที่มา : ADMIN
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงกับความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497มาตรา 3. โดยบรรยายฟ้องว่า จำเลยโดยทุจริตหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จปกปิดความจริงซึ่งควรต้องบอกให้แจ้งว่า. จำเลยไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้. ซึ่งความจริงในวันออกเช็คก็ดีวันสั่งจ่ายเงินตามเช็คก็ดี เงินในบัญชีของจำเลยไม่มีพอจ่าย ทั้งธนาคารก็ได้ปิดบัญชีจำเลยแล้ว. การหลอกลวงของจำเลยดังกล่าวทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นความจริงจึงได้มอบเงินให้จำเลยไป. ดังนี้ ฟ้องของโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงในความผิดฐานฉ้อโกงไว้ครบถ้วนแล้ว. เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพผิดตามฟ้อง คดีจึงเป็นอันฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามโจทก์ฟ้องทั้งสองฐาน.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 12 ธันวาคม 2510 เวลา 18.00นาฬิกา ถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2511 เวลากลางวัน จำเลยกับพวกที่หลบหนีได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกระทง คือ ก. เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2510 เวลา 18.00 นาฬิกา จำเลยกับนางประคีน ไวทยาพิศาลภริยาของจำเลยซึ่งหลบหนีอยู่ ได้ร่วมกันออกเช็คของธนาคารกสิกรไทยจำกัด สาขาพรานนก ฉบับหมายเลขเอฟ. 1786294 สั่งจ่ายเงิน 10,000 บาท ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2511มอบให้กับนางประยูร บุญรอด ผู้เสียหาย เพื่อเป็นการชำระหนี้เงินกู้ครั้นถึงกำหนดวันสั่งจ่ายเงินตามเช็คนั้น ผู้เสียหายได้มอบเช็คดังกล่าวให้นายสฤษดิ์ บุญรอดไปรับเงินจากธนาคารกสิกรไทย จำกัดสาขาพรานนก ทางธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน อ้างว่าบัญชีปิดแล้วทั้งนี้โดยจำเลยกับพวกร่วมกันออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค โดยขณะที่ออกเช็คไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ ข. ในวันที่ 12 ธันวาคม 2510 เวลา 18.00 นาฬิกา จำเลยกับพวกที่หลบหนีโดยเจตนาทุจริตหลอกลวงนางประยูร บุญรอด ผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงโดยจำเลยทำอุบายขอกู้เงินผู้เสียหาย โดยนำเอาเช็คที่จำเลยร่วมกันออกหมายเลขเอฟ. 1786294 สั่งจ่ายเงิน 10,000 บาท ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2511ของธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาพรานนก มอบให้กับผู้เสียหาย เพื่อเป็นการชำระหนี้เงินกู้ โดยจำเลยกับพวกปกปิดความจริงซึ่งควรต้องบอกให้แจ้งแก่ผู้เสียหายว่าจำเลยไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คนั้นได้ ความจริงในวันออกเช็คเงินในบัญชีของจำเลยมีไม่พอจ่าย และในวันสั่งจ่ายเงินตามเช็ค เงินในบัญชีของจำเลยไม่มีเพราะบัญชีปิดแล้ว ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าจำเลยมีเงินในบัญชีพอจ่ายตามเช็คนั้น ผู้เสียหายจึงได้มอบเงิน 10,000 บาทให้แก่จำเลยไปครั้นถึงวันกำหนดสั่งจ่ายเงินตามเช็คผู้เสียหายไปขอรับเงินจากธนาคารตามเช็ค แต่รับไม่ได้ เหตุในข้อ ก. ข. เกิดที่ตำบลบ้านช่างหล่อ อำเภอบางกอกน้อยจังหวัดธนบุรี ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ภายในกำหนดอายุความตามกฎหมายแล้วขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 กับขอให้นับโทษจำเลยต่อคดีหมายเลขดำที่ 773/2511 ของศาลอาญา เพราะจำเลยเป็นคน ๆ เดียวกัน และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่เจ้าทรัพย์ด้วย จำเลยให้การรับสารภาพผิดตามโจทก์ฟ้อง และรับว่าเป็นจำเลยอยู่ตามคดีหมายเลขดำที่ 773/2511 ของศาลอาญาจริง ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 ให้ลงโทษตามมาตรา 341 ซึ่งเป็นกระทงหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพโดยดี มีเหตุบรรเทาโทษ ปรานีลดโทษให้ตามมาตรา 78 กึ่งหนึ่งคงจำคุก 6 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ และนับโทษจำเลยต่อคดีอาญาหมายเลขดำที่ 773/2511 คดีอาญาหมายเลขแดง 595/2511ของศาลอาญา จำเลยอุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงคงเป็นความผิดเฉพาะความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 แต่เพียงกระทงเดียว กับขอให้ลดโทษจำเลยลงอีก ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่า จำเลยไม่มีความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 เพราะผู้เสียหายมิได้หลงเชื่อในคำหลอกลวงของจำเลย คงมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 แต่เพียงกระทงเดียว ให้จำคุกจำเลย 2 เดือน จำเลยรับสารภาพเป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือนเมื่อจำเลยไม่มีความผิดฐานฉ้อโกง ศาลก็สั่งให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายตามโจทก์ขอไม่ได้ โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาคดีแล้ว ปัญหามาสู่ศาลฎีกาเพียงว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 ด้วยหรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกง กับความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 จำเลยให้การรับสารภาพผิดตามฟ้อง คดีจึงเป็นอันฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามโจทก์ฟ้องทั้ง 2 ฐาน เพราะคดีนี้ฟ้องของโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงในความผิดฐานฉ้อโกงไว้ครบถ้วนแล้ว โดยกล่าวว่า จำเลยโดยสุจริตหลอกลวงนางประยูร บุญรอดผู้เสียหาย ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ปกปิดความจริงซึ่งควรต้องบอกให้แจ้งว่า จำเลยไม่มีเงินอยู่ในบัญชี อันจะพึงให้ใช้เงินได้ ซึ่งความจริงในวันออกเช็คก็ดีวันสั่งจ่ายเงินตามเช็คก็ดี เงินในบัญชีของจำเลยไม่มีพอจ่ายทั้งธนาคารก็ได้ปิดบัญชีจำเลยแล้วการหลอกลวงของจำเลยดังกล่าวทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงได้มอบเงิน 10,000บาทให้จำเลยไป ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ถูกต้องสมบูรณ์ในข้อหาฐานฉ้อโกงแล้ว เมื่อจำเลยยอมรับสารภาพผิดในข้อหาฐานฉ้อโกง จำเลยจึงต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 อีกฐานหนึ่งด้วยดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น จึงพร้อมกันพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 อีกฐานหนึ่งด้วยให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นทุกประการ.