คำวินิจฉัยที่ 93/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่อัยการศาลทหารกรุงเทพยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นนายทหารประทวนประจำการต่อศาลทหารกรุงเทพว่ากระทำความผิดอาญาสองกรรมต่างกัน กล่าวคือ ข้อ ก. จำเลยบังอาจถีบรถยนต์ของผู้เสียหายเป็นเหตุให้ประตูหลังข้างขวาเป็นรอยบุบได้รับความเสียหาย และข้อ ข. ภายหลังเกิดเหตุข้อ ก. จำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายด้วยการชกและเตะแล้วใช้ไม้เป็นอาวุธตีจนผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา เห็นว่า สำหรับความผิดตามฟ้องข้อ ข. ฐานทำร้ายร่างกายทั้งสองศาลเห็นตรงกันว่าทหารกับพลเรือนกระทำผิดด้วยกันอยู่ในอำนาจของ
ศาลยุติธรรม จึงเป็นอันยุติไป คงมีปัญหาเฉพาะความผิดตามฟ้องข้อ ก. ฐานทำให้เสียทรัพย์เท่านั้น แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยซึ่งเป็นทหารกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระกันก็ตาม แต่เมื่อปรากฏจากเหตุการณ์เดียวกันนี้ว่าผู้เสียหายก็ถูกพนักงานอัยการยื่นฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลแขวงดุสิตว่าทำร้ายร่างกายจำเลยคดีนี้เช่นกันและศาลมีคำพิพากษาลงโทษผู้เสียหายไปแล้ว คดีทั้งสองต่างเกิดเหตุในวัน เวลา และสถานที่เดียวกัน ผู้เสียหายและจำเลยต่างทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันและต่างก็เป็นผู้เสียหายคดีทั้งสองจึงมีมูลความแห่งคดีเดียวกัน พฤติการณ์ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์และฐานทำร้ายร่างกายจึงเป็นความผิดที่เกี่ยวพันกันและเป็นคดีที่มีบุคคลที่อยู่ในอำนาจของศาลทหารกับบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจของศาลทหารต่างกระทำผิดด้วยกัน ความผิดทั้งสองฐานในคดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามมาตรา ๑๔ (๑) และ (๒) แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ แต่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๙๓/๒๕๕๘

วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๘

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘

ศาลทหารกรุงเทพ
ระหว่าง
ศาลแขวงดุสิต

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลทหารกรุงเทพ โดยสำนักตุลาการทหารส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลที่รับฟ้องคดีเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ อัยการศาลทหารกรุงเทพ โจทก์ ยื่นฟ้อง สิบเอก อนุสรณ์ ทรัพย์กล้า จำเลย ต่อศาลทหารกรุงเทพ เป็นคดีอาญาคดีดำที่ ๒๕/๒๕๕๘ ความว่า จำเลยเป็นนายทหารประทวนประจำการ สังกัดกรมกิจการพลเรือนทหารบก กองทัพบก ได้กระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ
ก. เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๗ เวลากลางวัน จำเลยบังอาจถีบรถยนต์ คันหมายเลขทะเบียน ทว ๒๖๖๔ กรุงเทพมหานคร ของนายปริญญา ทิพย์วดีศิทธ์ ถูกที่บริเวณประตูหลังข้างขวาเป็นรอยบุบ ทำให้รถยนต์คันดังกล่าวได้รับความเสียหาย คิดเป็นเงินทั้งสิ้น ๓,๐๐๐ บาท
ข. ตามวันเวลาดังกล่าวในข้อ ก. ภายหลังจากที่จำเลยได้กระทำความผิดตามข้อ ก. แล้วจำเลยได้บังอาจทำร้ายร่างกายนายปริญญา โดยชกและเตะที่บริเวณใบหน้าและลำตัวหลายครั้งจนล้มลง แล้วจำเลยใช้ไม้หนาประมาณ ๑ นิ้วครึ่ง ยาวประมาณ ๑ เมตร เป็นอาวุธตีถูกที่บริเวณลำตัวหลายครั้งเป็นเหตุให้นายปริญญาได้รับอันตรายแก่กาย มีบาดแผลถลอกบริเวณริมฝีปากและคาง บาดแผลถลอกเป็นแนวยาวบริเวณท้อง บาดแผลฉีกขาดบริเวณปลายนิ้วมือขวา เหตุตามข้อ ก. และ ข. เกิดที่แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕, ๓๕๘, ๙๑ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๔
ศาลทหารกรุงเทพพิจารณาแล้วเห็นว่า สิบเอก อนุสรณ์ ทรัพย์กล้า และนายปริญญา ทิพย์วดีศิทธ์ ต่างถูกอัยการศาลทหารกรุงเทพและพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดี
ศาลแขวง ๓ (ดุสิต) ฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลทหารกรุงเทพและศาลแขวงดุสิต ในมูลเรื่องเดียวกันและความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์มีความเกี่ยวพันกันด้วย จึงเป็นคดีที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารกับบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหารกระทำผิดด้วยกัน และเป็นคดีที่เกี่ยวพันกับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือน ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๔ (๑) (๒) จึงไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารซึ่งมาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ บัญญัติว่า “คดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ให้ดำเนินคดีในศาลพลเรือน” และคู่ความมีความเห็นว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารกรุงเทพ แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลแขวงดุสิตพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อหาทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๘ ตามฟ้องข้อ ก. นั้น เมื่อตามคำฟ้องโจทก์บรรยายฟ้องข้อหานี้ เป็นอีกข้อหนึ่ง แยกต่างหากออกจากข้อหาทำร้ายร่างกาย โดยมีนายปริญญา เป็นผู้เสียหาย และเป็นการกระทำของจำเลยเพียงฝ่ายเดียว ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอื่นและกระทำก่อนข้อหาทำร้ายร่างกาย การกระทำดังกล่าวจึงต่างกรรมต่างวาระกับข้อหาทำร้ายร่างกาย ข้อหาดังกล่าวจึงมิใช่ข้อหาที่เกี่ยวพันกับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือนตามมาตรา ๑๔ (๒) แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ อันจะอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร
สำหรับข้อหาทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยและนายปริญญามิได้ร่วมกระทำความผิดในลักษณะตัวการร่วมกันทั้งคู่ จึงเป็นคดีที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจของศาลทหารกับบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจศาลทหารกระทำผิดด้วยกัน แต่คำว่ากระทำผิดด้วยกันตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๔ (๑) บุคคลที่กระทำผิดหาจำต้องมีเจตนาร่วมกันเสมอไปไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยและนายปริญญาต่างก็ได้รับบาดเจ็บด้วยกัน และนายปริญญาถูกฟ้องข้อหานี้ที่ศาลแขวงดุสิตโดยมีจำเลยเป็นผู้เสียหาย ดังนั้น ถ้าปราศจากการกระทำของฝ่ายหนึ่ง อาจจะไม่มีการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่ง หรืออาจเป็นเพราะบุคคลทั้งสองสมัครใจต่อสู้กัน จึงถือได้ว่าความผิดเกิดขึ้นเพราะต่างได้กระทำผิดด้วยกันทั้งคู่ จึงเป็นคดีที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารกับบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจศาลทหารกระทำผิดด้วยกัน ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร ตามมาตรา ๑๔ (๑) แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลทหาร
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องว่าจำเลยเป็นนายทหารประทวนประจำการได้กระทำความผิดสองกรรมต่างกัน กล่าวคือ ข้อ ก. จำเลยบังอาจถีบรถยนต์ หมายเลขทะเบียน ทว ๒๖๖๔ กรุงเทพมหานคร ของนายปริญญา ผู้เสียหาย เป็นเหตุให้ประตูหลังข้างขวาเป็นรอยบุบได้รับความเสียหายเป็นเงิน ๓,๐๐๐ บาท และข้อ ข. ภายหลังเกิดเหตุข้อ ก. จำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายด้วยการชกและเตะที่บริเวณใบหน้าและลำตัวหลายครั้งจนล้มลงแล้วใช้ไม้หนาประมาณ ๑ นิ้วครึ่ง ยาวประมาณ ๑ เมตร เป็นอาวุธตีถูกที่บริเวณลำตัวจนได้รับอันตรายแก่กายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕, ๓๕๘, ๙๑ เห็นว่า สำหรับความผิดตามฟ้องข้อ ข. ฐานทำร้ายร่างกายทั้งสองศาลเห็นตรงกันว่าอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม จึงเป็นอันยุติไป คงมีปัญหาเฉพาะความผิดตามฟ้องข้อ ก. ฐานทำให้เสียทรัพย์เท่านั้น แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยซึ่งเป็นทหารกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์แยกต่างหากออกจากความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย อันเป็นการกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระกันนั้น แต่เมื่อปรากฏจากเหตุการณ์เดียวกันนี้ว่าผู้เสียหายถูกพนักงานอัยการยื่นฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลแขวงดุสิตว่าทำร้ายร่างกายจำเลยคดีนี้และศาลแขวงดุสิตมีคำพิพากษาลงโทษผู้เสียหายแล้ว คดีทั้งสองต่างมีที่เกิดเหตุในวัน เวลา และสถานที่เดียวกัน และเมื่อพิจารณาจากคำฟ้องของทั้งสองคดีจำเลยในแต่ละคดีต่างทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันจนได้รับอันตรายแก่กายทั้งสองฝ่ายและต่างก็เป็นผู้เสียหายทั้งสองคดีดังนี้คดีทั้งสองจึงมีมูลความแห่งคดีเดียวกัน พฤติการณ์ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์และฐานทำร้ายร่างกายจึงเป็นความผิดที่เกี่ยวพันกันและเป็นคดีที่มีบุคคลที่อยู่ในอำนาจของศาลทหารกับบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจของศาลทหารต่างกระทำผิดด้วยกันและเกี่ยวพันกันกับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือน ความผิดทั้งสองฐานในคดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามมาตรา ๑๔ (๑) และ (๒) แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ แต่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ ประกอบพระราชบัญญัติพระธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๕
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างอัยการศาลทหารกรุงเทพ โจทก์ สิบเอก อนุสรณ์ ทรัพย์กล้า จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share