คำวินิจฉัยที่ 92/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

การไต่สวนชันสูตรพลิกศพตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๐ เป็นการสอบสวนอย่างหนึ่งเพื่อหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษด้วยวิธีการพิเศษที่บัญญัติให้ศาลต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยในชั้นสอบสวน เพื่อให้ศาลทำการไต่สวนและทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใครเป็นผู้กระทำร้ายเท่าที่จะทราบได้แม้ตามคำร้องจะระบุว่าผู้ตายเป็นทหารกองประจำการและตายในระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานทหารก็ตาม แต่กรณียังเป็นการไม่อาจทราบแน่ชัดว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด เหตุและพฤติการณ์ที่ตายเป็นอย่างไร ถ้าตายโดยคนทำร้ายแล้วใครเป็นผู้กระทำร้ายและผู้ที่ทำร้ายเป็นทหารซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ตามที่ปรากฏในคำร้องจริงหรือไม่ หากศาลไต่สวนแล้วปรากฏว่า การตายของผู้ตายมิได้เกิดจากการถูกเจ้าพนักงานที่เป็นทหารทำร้ายหรือเกิดจากการที่ทหารกับพลเรือนกระทำความผิดด้วยกันหรือเป็นคดีที่เกี่ยวพันกับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือน หรือเป็นคดีที่ต้องดำเนินในศาลคดีเด็กและเยาวชน คดีก็จะไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหารตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๔ กรณีจึงยังเป็นการไม่แน่ชัดว่าคดีจะอยู่ในอำนาจศาลใดกันแน่ ดังนั้นการไต่สวนชันสูตรพลิกศพคดีนี้ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๙๒ /๒๕๕๘

วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๘

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘

ศาลจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์
ระหว่าง
ศาลจังหวัดเพชรบูรณ์

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์ โดยสำนักตุลาการทหารส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลที่รับคำร้องเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๗ อัยการศาลจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์ ผู้ร้อง ยื่นคำร้องขอให้ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ พลทหาร กฤษดา วังคีรี ผู้ตาย ต่อศาลจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์เป็นคดีอาญา คดีดำที่ ช. ๑/๒๕๕๗ ความว่า เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ผู้ร้องได้รับสำนวนชันสูตรพลิกศพจากพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองเพชรบูรณ์ให้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์ เพื่อทำการไต่สวนการตายของผู้ตาย ซึ่งถึงแก่ความตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ จากกรณีเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕ พลทหาร กฤษดา วังคีรี ผู้ตาย เข้ารับราชการทหารกองประจำการ ผลัดที่ ๑/๒๕๕๕ สังกัดกองพลาธิการ กองพลทหารม้าที่ ๑ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีพันตรี ภิญโญ สุรฤทธิ์โยธิน เป็นผู้บังคับบัญชาปกครองดูแล ต่อมาวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๕๕ ผู้ตายกับพวกอีก ๓ คน ได้กระทำผิดวินัยทหารฐานดื้อขัดขืน หลีกเลี่ยง ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา พันตรี ภิญโญจึงสั่งลงโทษผู้ตายกับพวกให้รับทัณฑ์จำขังคนละ ๓ วัน โดยส่งผู้ตายกับพวกไปจำขังที่เรือนจำจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์ โดยมีสิบเอก ธนารักษ์ เขื่อนศิริ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่สิบเวรประจำเรือนจำจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์เป็นผู้รับตัวหลังจากนั้นผู้ต้องขังรุ่นพี่จำนวน ๗ คน ร่วมกันรับน้องใหม่ โดยสั่งลงโทษผู้ตายด้วยการดันพื้น ลุกนั่ง กระโดดกบ และร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้ตาย โดยใช้เท้าเตะที่ลำตัวอย่างแรงหลายครั้ง ต่อมาวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๕ สิบโท เจษฎาพร สุริโย ซึ่งปฏิบัติหน้าที่สิบเวรประจำเรือนจำจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์และพลทหาร อานนท์ บุญอุ้ม ผู้ช่วยสิบเวรได้ร่วมกันฟื้นฟูวินัยโดยสั่งลงโทษผู้ตายด้วยการดันพื้น ลุกนั่ง กระโดดกบ วิ่ง แล้วยังร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้ตาย โดยใช้ของแข็งตีที่ลำตัวเป็นเหตุให้ผู้ตายได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตายเนื่องจากระบบหายใจและหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน เนื่องจากผู้ตายถึงแก่ความตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งอ้างว่า ปฏิบัติราชการตามหน้าที่และมีการชันสูตรพลิกศพผู้ตายแล้ว ขอให้ศาลทำการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๐ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๒๑) พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔ ประกอบพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๔๕
ศาลจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า การไต่สวนชันสูตรพลิกศพ และทำความเห็นของศาลชั้นต้น ตามความในมาตรา ๑๕๐ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อาจเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวนแต่ก็เป็นวิธีการพิเศษที่บัญญัติให้ศาลต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยในชั้นสอบสวนและเมื่อพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๔๗ และมาตรา ๔๘ ได้บัญญัติเรื่องการสอบสวนคดีอาญาทั้งปวง ซึ่งอยู่ในอำนาจศาลทหารนั้น ให้อยู่ในอำนาจนายทหารพระธรรมนูญหรืออัยการทหาร มิได้บัญญัติวิธีการพิเศษให้ศาลเข้าไปเกี่ยวข้องในการสอบสวนด้วย ศาลจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์จึงไม่มีอำนาจในการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ
ศาลจังหวัดเพชรบูรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า ศาลชั้นต้นตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมีอำนาจทำการไต่สวนและมีคำสั่งในการไต่สวนชันสูตรพลิกศพก็ต่อเมื่อคดีนั้นอยู่ในอำนาจของศาลนั้นและการไต่สวนและมีคำสั่งให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทั้งกรณีไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไปใช้บังคับโดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๔๕ ได้ เพราะตามคำร้องผู้กระทำผิดต่อผู้ตายเป็นพลทหารกองประจำการ ซึ่งต้องถูกฟ้องยังศาลทหาร ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘มาตรา ๑๓ และมาตรา ๑๖ (๓) คดีของผู้กระทำผิดจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลพลเรือน ดังนี้ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลพลเรือนจะทำการไต่สวนและมีคำสั่งในการชันสูตรแต่เฉพาะคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลพลเรือนเท่านั้น แม้การไต่สวนทำคำสั่งในการชันสูตรพลิกศพของศาลชั้นต้นไม่ใช่การฟ้องคดีต่อผู้กระทำให้ตายดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้างก็ตาม แต่ก็เป็นวิธีการพิเศษที่บัญญัติให้ศาลต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๐ วรรคห้า และวรรคสิบเอ็ด ดังนี้ศาลพลเรือนจะรับไต่สวนและทำการชันสูตรพลิกศพได้เฉพาะคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือนเท่านั้น มิใช่ว่าเมื่ออัยการศาลจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์ เห็นว่า คดีไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารแต่ต้องดำเนินคดีในศาลพลเรือน แล้วส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการ เพื่อดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเมื่อพนักงานอัยการไม่อาจส่งสำนวนกลับคืนไปยังพนักงานอัยการศาลจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์ได้ จะทำให้ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลพลเรือน ต้องไต่สวนและมีคำสั่งในการชันสูตรพลิกศพคดีนี้ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจของศาลจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นศาลทหาร

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลทหาร
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้อัยการศาลจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์ผู้ร้องได้รับสำนวนชันสูตรพลิกศพจากพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองเพชรบูรณ์ ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์เพื่อทำการไต่สวนการตายของ พลทหาร กฤษดา วังคีรี ผู้ตาย เนื่องจากผู้ตายซึ่งเข้ารับราชการทหารกองประจำการและถูกนายทหารผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษให้รับทัณฑ์ จำขัง ๓ วัน ในขณะถูกจำขัง ก็ถูกผู้ต้องขังอื่นอีก ๗ คน ร่วมกันทำร้ายและถูกสิบเวรกับผู้ช่วยสิบเวรประจำเรือนจำสั่งลงโทษและทำร้ายอีกจนผู้ตายถึงแก่ความตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่และมีการชันสูตรพลิกศพผู้ตายแล้ว ขอให้ศาลทำการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ เห็นว่า การไต่สวนชันสูตรพลิกศพตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๐ เป็นการสอบสวนอย่างหนึ่งเพื่อหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษด้วยวิธีการพิเศษที่บัญญัติให้ศาลต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยในชั้นสอบสวน เพื่อให้ศาลทำการไต่สวนและทำคำสั่งแสดงว่า ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่า ใครเป็นผู้กระทำร้ายเท่าที่จะทราบได้ แม้ตามคำร้องจะระบุว่าผู้ตายเป็นทหารกองประจำการและตายในระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานทหารก็ตาม แต่กรณียังเป็นการไม่อาจทราบแน่ชัดว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด เหตุและพฤติการณ์ที่ตายเป็นอย่างไร ถ้าตายโดยคนทำร้ายแล้วใครเป็นผู้กระทำร้ายและผู้ที่ทำร้ายเป็นทหารซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ตามที่ปรากฏในคำร้องจริงหรือไม่ หากศาลไต่สวนแล้วปรากฏว่า การตายของผู้ตายมิได้เกิดจากการถูกเจ้าพนักงานที่เป็นทหารทำร้ายหรือเกิดจากการที่ทหารกับพลเรือนกระทำความผิดด้วยกัน หรือเป็นคดีที่เกี่ยวพันกับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือน หรือเป็นคดีที่ต้องดำเนินในศาลคดีเด็กและเยาวชน คดีก็จะไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหารตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๔ กรณีจึงยังเป็นการไม่แน่ชัดว่าคดีจะอยู่ในอำนาจศาลใดกันแน่ ดังนั้นการไต่สวนชันสูตรพลิกศพคดีนี้ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีที่อัยการศาลจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์ ผู้ร้อง ขอให้ไต่สวน ชันสูตรพลิกศพของ พลทหาร กฤษดา วังคีรี ผู้ตาย อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share