คำวินิจฉัยที่ 8/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยทั้งสี่ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และเอกชน อ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนด เลขที่ ก. จำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนด เลขที่ ข. ยื่นคำขอรังวัดสอบเขตที่ดินต่อสำนักงานที่ดินจังหวัด จำเลยที่ ๒ ได้นำชี้แนวเขตรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ และเจ้าหน้าที่รังวัดได้ทำการปักหลักหมุดที่ดิน เลขที่ ค. กับหลักหมุดที่ดิน เลขที่ ง. รุกล้ำที่ดินโจทก์ โดยโจทก์ไม่รู้เห็นและไม่ยินยอม รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ร่วมกันจงใจปกปิดเนื้อที่ดินที่แท้จริงไว้โดยไม่สุจริต ต่อมา จำเลยที่ ๒ ขายที่ดินให้จำเลยที่ ๓ และโดยจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ จะรู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวหรือไม่ก็ตาม การซื้อขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ หลังจากนั้นจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ได้ปักเสาเพื่อทำรั้วกั้นตามแนวเขตที่ดินระหว่างหลักหมุดที่ดินเลขที่ ค. ถึงหลักหมุดที่ดินเลขที่ ง. ตลอดแนวโดยไม่ชอบ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการรังวัดสอบเขตที่ดิน และให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดิน และให้รังวัดสอบเขตที่ดินตามโฉนดที่ดิน เลขที่ ข. ใหม่ จำเลยที่ ๑ ให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่เคยโต้แย้งคัดค้านแนวเขตที่ดิน โจทก์และจำเลยที่ ๓ ยืนยันชี้แนวเขตตามหลักหมุดที่ดินว่าถูกต้องแล้ว ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ ๓ และจำเลยที่ ๔ ให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท แต่ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ข. ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ที่ซื้อและจดทะเบียนมาโดยสุจริต โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า โจทก์หรือจำเลยที่ ๒ เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเป็นสำคัญ แล้วจึงพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๘/๒๕๕๗

วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดกันทรลักษ์
ระหว่าง
ศาลปกครองอุบลราชธานี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดกันทรลักษ์โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๕ นางพรรณี กลิ่นส่ง โจทก์ ยื่นฟ้องกรมที่ดิน ที่ ๑ นายเอกสุวัชร์ เหล่าสายเชื้อ ที่ ๒ ว่าที่ร้อยตรีบารมี แซ่เตีย ที่ ๓ นายบัญชา แซ่เตีย ที่ ๔ จำเลย ต่อศาลจังหวัดกันทรลักษ์ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๙๖/๒๕๕๕ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๘๖๗ เลขที่ดิน ๖๐ ตำบลหนองหว้า อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๓ จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๘๖๘ เลขที่ดิน ๖๑ ตำบลหนองหว้า อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ เนื้อที่ประมาณ ๑๔ ไร่ ๑ งาน ๐๒ ตารางวา ยื่นคำขอรังวัดสอบเขตที่ดินต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดศรีสะเกษ สาขากันทรลักษ์ เมื่อถึงวันนัดรังวัด จำเลยที่ ๒ ได้นำชี้แนวเขตรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ และเจ้าหน้าที่รังวัดได้ทำการปักหลักหมุดที่ดินเลขที่ ๘ฝ ๔๖๙๓ กับหลักหมุดที่ดินเลขที่ ๘ฝ ๔๓๕๘ รุกล้ำที่ดินโจทก์เนื้อที่รวม ๕ ไร่ ๙๔ ตารางวา โดยโจทก์ไม่รู้เห็นและไม่ยินยอม หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้จัดทำแผนที่และคำนวณเนื้อที่ดินของจำเลยที่ ๒ ได้เนื้อที่ ๑๕ ไร่ ๑ งาน ๐๗ ตารางวา เพราะหากรวมเนื้อที่ดินเดิมและในส่วนที่รังวัดรุกล้ำที่ดินโจทก์ จำนวน ๕ ไร่ ๙๔ ตารางวา แล้วต้องได้เนื้อที่รวมทั้งสิ้น ๑๙ ไร่ ๑ งาน ๙๖ ตารางวา แต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ กลับร่วมกันจงใจปกปิดเนื้อที่ดินที่แท้จริงไว้โดยไม่สุจริต การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นโมฆะและทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๔ จำเลยที่ ๒ ขายที่ดินให้จำเลยที่ ๓ และโดยจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ จะรู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวหรือไม่ก็ตาม การซื้อขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ หลังจากนั้นจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ได้ปักเสาเพื่อทำรั้วกั้นตามแนวเขตที่ดินระหว่างหลักหมุดที่ดินเลขที่ ๘ฝ ๔๖๙๓ ถึงหลักหมุดที่ดินเลขที่ ๘ฝ ๔๓๕๘ ตลอดแนวโดยไม่ชอบ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการรังวัดสอบเขตที่ดิน และให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ และให้รังวัดสอบเขตที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๘๖๘ ใหม่
จำเลยที่ ๑ ให้การและฟ้องแย้งว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ โจทก์ไม่เคยโต้แย้งคัดค้านหรือตรวจสอบแนวเขตที่ดินตามที่จำเลยที่ ๑ แจ้ง อีกทั้งในการขอรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ โจทก์และจำเลยที่ ๓ ต่างยืนยันชี้แนวเขตตามหลักหมุดที่ดิน เลขที่ ๘ฝ ๔๖๙๓ และเลขที่ ๘ฝ ๔๓๕๘ ว่าถูกต้องแล้ว แต่โจทก์กลับมาฟ้องจำเลยที่ ๑ ให้เพิกถอนการรังวัดสอบเขตการปักหลักหมุดที่ดินดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๓ และจำเลยที่ ๔ ให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทเนื้อที่ ๕ ไร่ ๙๔ ตารางวา แต่ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๘๖๘ เลขที่ ๖๑ ตำบลหนองหว้า อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ โดยจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ซื้อและจดทะเบียนมาโดยสุจริต หลังจากซื้อแล้วจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ เข้าครอบครองทำประโยชน์ โดยปลูกมันสำปะหลังและทำนา การปักเสาล้อมรั้วมีเจ้าของที่ดินข้างเคียงรวมทั้งโจทก์มาชี้แนวเขต ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านการปักเสาและล้อมรั้วของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๘ และมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดกันทรลักษ์พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยที่ ๑ จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง และเจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ดำเนินการรังวัดสอบเขตที่ดินของจำเลยที่ ๒ จนนำไปสู่ข้อพิพาทในคดีนี้ก็ตาม แต่ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า จำเลยที่ ๒ นำเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ไปรังวัดสอบเขตที่ดินของจำเลยที่ ๒ โดยนำชี้และรังวัดรุกล้ำที่ดินของโจทก์คิดเป็นเนื้อที่ ๕ ไร่ ๙๔ ตารางวา ต่อมาจำเลยที่ ๒ ขายที่ดินรวมทั้งที่ดินพิพาทส่วนที่รุกล้ำที่ดินโจทก์ให้แก่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ หลังจากนั้นจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ นำเสารั้วไปปักตามแนวเขตที่ดินส่วนที่รุกล้ำที่ดินโจทก์ ขอให้เพิกถอนการรังวัดปักหมุดที่ดิน หรือให้ถอยร่นหลักหมุดที่ดินที่ปักรุกล้ำแนวเขตที่ดินของโจทก์กลับไปดังเดิม ให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินพิพาทส่วนที่รุกล้ำที่ดินโจทก์และคืนที่ดินพิพาทแก่โจทก์กับให้จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกันรื้อถอนเสารั้วที่ปักตามแนวเขตที่ดินส่วนที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์ออกไป จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ นำเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ไปรังวัดสอบเขตที่ดินถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบของจำเลยที่ ๑ แล้ว แต่โจทก์ไม่ไประวังแนวเขตของตน ไม่ไปตรวจสอบแนวเขตที่ดินที่จำเลยที่ ๒ นำชี้และที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ปักหลักหมุดไว้ อีกทั้งในการขอรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ โจทก์และจำเลยที่ ๓ ต่างยืนยันชี้แนวเขตว่าถูกต้องแล้ว ส่วนจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ให้การว่าปักเสาล้อมรั้วมีเจ้าของที่ดินข้างเคียงรวมทั้งโจทก์มาชี้แนวเขต โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านการปักเสาและล้อมรั้วของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ขอให้ยกฟ้อง ดังนั้น การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีนี้ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองอุบลราชธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์อ้างว่า เดิมจำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๘๖๘ เลขที่ดิน ๖๑ ตำบลหนองหว้า อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ เนื้อที่ประมาณ ๑๔ ไร่ ๑ งาน ๐๒ ตารางวา ได้ยื่นคำขอรังวัดสอบเขตที่ดินต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดศรีสะเกษ สาขากันทรลักษ์ และได้นำชี้แนวเขตรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ และเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ได้ทำการปักหลักหมุดที่ดินเลขที่ ๘ฝ ๔๖๙๓ ถึงหลักหมุดที่ดินเลขที่ ๘ฝ ๔๓๕๘ รุกล้ำที่ดินโจทก์คิดเป็นเนื้อที่รวม ๕ ไร่ ๙๔ ตารางวา แต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ กลับจัดทำแผนที่และคำนวณเนื้อที่ดินให้จำเลยที่ ๒ เป็นจำนวน ๑๕ ไร่ ๑ งาน ๐๗ ตารางวา ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะหากรวมเนื้อที่ดินเดิมและในส่วนที่รังวัดรุกล้ำที่ดินโจทก์แล้ว ต้องได้เนื้อที่ดินทั้งสิ้น ๑๙ ไร่ ๑ งาน ๙๖ ตารางวา อันเป็นการร่วมกันจงใจปกปิดเนื้อที่ดินที่แท้จริงไว้โดยไม่สุจริต และต่อมาจำเลยที่ ๒ ขายที่ดินแปลงพิพาทดังกล่าวให้กับจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีพิพาทเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ได้ออกไปทำการรังวัดสอบเขตที่ดินตามคำขอของจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา ๖๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ประกอบระเบียบกรมที่ดิน ว่าด้วยการรังวัดสอบเขต แบ่งแยก และรวมโฉนดที่ดิน พ.ศ. ๒๕๒๗ จึงเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ได้ปฏิบัติหน้าที่ไปโดยที่มีกฎหมายกำหนดไว้ให้ต้องปฏิบัติ ตลอดจนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ดำเนินการให้ระหว่างจำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานที่ดินตามกฎหมาย อันเป็นการใช้อำนาจทางปกครองที่มีผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของบุคคล การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมดังกล่าว จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องว่า เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ซึ่งมีหน้าที่ทำการรังวัดสอบเขตโฉนดที่ดิน กับมีหน้าที่รับคำขอและสอบสวนสิทธิในการทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดิน ไม่ตรวจสอบเอกสารหลักฐานก่อนการจดทะเบียนขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ จึงมีคำขอให้เพิกถอนการรังวัดสอบเขตและการปักหมุดที่ดินของจำเลยที่ ๒ ให้กลับไปอยู่ดังเดิมขณะที่ยังไม่มีการรังวัดตรวจสอบแล้วให้ทำการรังวัดสอบเขตที่ดินแปลงดังกล่าวใหม่ และมีคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ กรณีจึงเป็นการฟ้องว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ทำการรังวัดสอบเขต และจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมไม่ชอบด้วยกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับตามคำขอของโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนการรังวัดสอบเขตของเจ้าหน้าที่จำเลยที่ ๑ กับขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายระหว่างจำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ได้ ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง เมื่อคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ ตามนัยมาตรา ๒๑๘ ประกอบกับมาตรา ๒๒๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยทั้งสี่ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และเอกชน โดยโจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๘๖๗ จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๘๖๘ ยื่นคำขอรังวัดสอบเขตที่ดินต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดศรีสะเกษ สาขากันทรลักษ์ จำเลยที่ ๒ ได้นำชี้แนวเขตรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ และเจ้าหน้าที่รังวัดได้ทำการปักหลักหมุดที่ดินเลขที่ ๘ฝ ๔๖๙๓ กับหลักหมุดที่ดินเลขที่ ๘ฝ ๔๓๕๘ รุกล้ำที่ดินโจทก์เนื้อที่รวม ๕ ไร่ ๙๔ ตารางวา โดยโจทก์ไม่รู้เห็นและไม่ยินยอม รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ กลับร่วมกันจงใจปกปิดเนื้อที่ดินที่แท้จริงไว้โดยไม่สุจริต การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นโมฆะและทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต่อมา จำเลยที่ ๒ ขายที่ดินให้จำเลยที่ ๓ และโดยจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ จะรู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวหรือไม่ก็ตาม การซื้อขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ หลังจากนั้นจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ได้ปักเสาเพื่อทำรั้วกั้นตามแนวเขตที่ดินระหว่างหลักหมุดที่ดินเลขที่ ๘ฝ ๔๖๙๓ ถึงหลักหมุดที่ดินเลขที่ ๘ฝ ๔๓๕๘ ตลอดแนวโดยไม่ชอบ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการรังวัดสอบเขตที่ดิน และให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ และให้รังวัดสอบเขตที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๘๖๘ ใหม่ จำเลยที่ ๑ ให้การและฟ้องแย้งว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ โจทก์ไม่เคยโต้แย้งคัดค้านหรือตรวจสอบแนวเขตที่ดินตามที่จำเลยที่ ๑ แจ้ง อีกทั้งในการขอรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ โจทก์และจำเลยที่ ๓ ต่างยืนยันชี้แนวเขตตามหลักหมุดที่ดินว่าถูกต้องแล้ว แต่โจทก์กลับมาฟ้องจำเลยที่ ๑ ให้เพิกถอนการรังวัดสอบเขตการปักหลักหมุดที่ดินดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ ๓ และจำเลยที่ ๔ ให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท แต่ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๘๖๘ ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ที่ซื้อและจดทะเบียนมาโดยสุจริต โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านการปักเสาและล้อมรั้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า ข้อหาและข้อต่อสู้เป็นเรื่องกรรมสิทธิ์ การที่ศาลจะมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า โจทก์หรือจำเลยที่ ๒ เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเป็นสำคัญ แล้วจึงพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางพรรณี กลิ่นส่ง โจทก์ กรมที่ดิน ที่ ๑ นายเอกสุวัชร์ เหล่าสายเชื้อ ที่ ๒ ว่าที่ร้อยตรีบารมี แซ่เตีย ที่ ๓ นายบัญชา แซ่เตีย ที่ ๔ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share