แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๘/๒๕๔๙
วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๔๙
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑)
ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีศาลที่รับฟ้องเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจ และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๗ นายปัญญวุฒิ การสุทธิ์ โจทก์ได้ยื่นฟ้องกระทรวงกลาโหม ที่ ๑ กองทัพเรือ ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๓๓๗/๒๕๔๗ ความว่า โจทก์เคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยทั้งสองโดยรับราชการที่กรมช่างโยธาทหารเรือซึ่งเป็นส่วนราชการสังกัดจำเลยที่ ๒ และได้รับพระราชทานยศทหาร ชั้นเรือโทระหว่างโจทก์รับราชการในสังกัดของจำเลยที่ ๒ นั้นได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ไปช่วยปฏิบัติราชการที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมซึ่งเป็นส่วนราชการในสังกัดของจำเลยที่ ๑ ต่อมาจำเลยที่ ๑ มีคำสั่งให้โจทก์ไปปฏิบัติงานที่คณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎรเป็นเวลา ๑ปี นับแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๕ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๖ ก่อนครบกำหนดประธานคณะกรรมาธิการทหารได้มีหนังสือถึงจำเลยที่ ๑ ขออนุมัติให้โจทก์ช่วยราชการต่อเพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างต่อเนื่องอีกเป็นเวลา ๑ ปี และเมื่อถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๖ ซึ่งเป็นวันครบกำหนดช่วยปฏิบัติราชการโจทก์พร้อมด้วยที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการทหารได้พบและรายงานตัวต่อเจ้ากรมช่างโยธาทหารเรือพร้อมได้ชี้แจงให้ทราบว่าประธานคณะกรรมาธิการทหารได้มีหนังสือขอตัวโจทก์ให้ช่วยราชการอีก ๑ ปี และระหว่างที่ยังรอคำสั่งให้ช่วยราชการโจทก์ขอไปปฏิบัติหน้าที่ที่คณะกรรมาธิการทหารตามคำสั่งของประธานคณะกรรมาธิการทหาร จากนั้นโจทก์ได้ปฏิบัติหน้าที่ต่อมา กระทั่งเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๖ ประธานคณะกรรมาธิการทหารแจ้งให้โจทก์ทราบว่าปลัดกระทรวงกลาโหมจะทำหนังสือแจ้ง จำเลยที่ ๒ว่าอนุญาตให้โจทก์อยู่ปฏิบัติราชการชั่วคราวที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมจนถึงวันที่ ๑ตุลาคม ๒๕๔๖ โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งไปยังเจ้ากรมกำลังพลทหารเรือซึ่งเป็นส่วนราชการของจำเลยที่ ๒ ว่าจะกลับเข้าปฏิบัติราชการที่กรมช่างโยธาทหารเรือในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๖ แต่เมื่อประธานคณะกรรมาธิการทหารทราบว่าจำเลยที่ ๒ ไม่อนุมัติให้โจทก์ช่วยราชการต่อ จึงหารือกับปลัดกระทรวงกลาโหมและได้รับคำแนะนำว่าควรขอให้มาช่วยราชการจนครบปีงบประมาณโดยให้ทำหนังสือ ขอช่วยราชการใหม่เป็นระยะเวลา ๓ เดือนนับแต่วันที่ ๑กรกฎาคม ๒๕๔๖ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๖ ซึ่งประธานคณะกรรมาธิการทหารได้มีหนังสือแจ้งไปยังจำเลยที่ ๑ ขอตัวโจทก์ไปช่วยปฏิบัติงานอีกครั้งหนึ่งโดยจำเลยที่ ๑ แจ้งว่ากำลังพิจารณาดำเนินการอยู่ ครั้นเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๖ โจทก์ได้ไปรายงานตัวเพื่อกลับไปรับราชการที่กรมช่างโยธาทหารเรือซึ่งเป็นต้นสังกัด แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๒ ได้ตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและพิจารณาลงทัณฑ์โจทก์ กรณีกระทำความผิดฐานหนีราชการทหารในเวลาประจำการเกินกว่า ๑๕ วัน ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เห็นว่าโจทก์กระทำผิดจริง จึงเสนอปลดและถอดยศโจทก์ และต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้มีคำสั่งให้ปลดโจทก์ออกจากราชการทหารพร้อมกับถอดยศโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่ได้หนีราชการทหารในเวลาประจำการเพราะโจทก์ได้แจ้งให้เจ้ากรมช่างโยธาทหารเรือทราบแล้วว่าไม่สามารถปฏิบัติราชการที่ต้นสังกัดได้ เนื่องจากขณะนั้นโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ช่วยราชการอยู่ที่คณะกรรมาธิการทหารสภาผู้แทนราษฎร โจทก์จึงมิได้มีเจตนาหนีราชการทหารอันเป็นองค์ประกอบความผิดที่สำคัญตามประมวลกฎหมายอาญาทหารมาตรา ๔๕ โจทก์จึงไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหาของจำเลยทั้งสองทั้งรายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริง ฉบับวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๔๖ ก็ไม่ได้สอบปากคำของเจ้ากรมช่างโยธาทหารเรือ เจ้ากรมกำลังพลทหารเรือ ประธานคณะกรรมาธิการทหารและบุคคลที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้การที่จำเลยทั้งสองปลดโจทก์ออกจากราชการทหารโดยอาศัยมติสภากลาโหม ครั้งที่ ๓/๐๗ ลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๐๗ และถอดยศโจทก์ตามระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยผู้ไม่สมควรดำรงอยู่ในยศทหารและบรรดาศักดิ์ พ.ศ. ๒๕๐๗ข้อ๒ นั้น ก็มิใช่การออกคำสั่งโดยอาศัยกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายจึงเป็นการไม่ชอบ โดยก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ได้ร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมตามพระราชบัญญัติวินัยทหาร พุทธศักราช ๒๔๗๖ไปยังต้นสังกัดโจทก์แล้วแต่ยังไม่ได้รับแจ้งผล การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ เพิกถอนคำสั่งกระทรวงกลาโหมที่ ๗๘๙/๒๕๔๖ ลงวันที่๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๖ เรื่องให้ปลดโจทก์ออกจากราชการและประกาศกระทรวงกลาโหมเรื่องพระราชทานพระบรมราชานุญาตถอดยศโจทก์ออกจากยศทหาร ลงวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๖และให้จำเลยทั้งสองมีคำสั่งบรรจุโจทก์เข้ารับราชการทหารตามตำแหน่งหน้าที่และยศทหารตามเดิม หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ ๑ มีคำสั่งให้โจทก์ไปช่วยราชการสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมและปฏิบัติงานคณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎรมีกำหนด ๑ ปีนับแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๕ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๖ ก่อนครบกำหนดดังกล่าวประธานคณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎรได้มีหนังสือขอให้โจทก์ช่วยราชการต่อไปอีกมีกำหนด ๑ ปี นับแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๖ แต่จำเลยที่ ๒ ได้พิจารณาแล้วมีคำสั่งงดให้โจทก์ไปช่วยราชการและให้กลับเข้ารับราชการที่กองทัพเรือในวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๖ เมื่อโจทก์มิได้รายงานตัวกลับเข้ารับราชการนับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดช่วยปฏิบัติราชการเกินกว่า๑๕ วัน จึงเป็นความผิดฐานหนีราชการทหารตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา ๔๕จำเลยที่ ๒ ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีดังกล่าวซึ่งมีมติว่า การกระทำของโจทก์เป็นการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยชอบด้วยกฎหมาย หนีราชการในเวลาประจำการและขาดราชการทหารหรือละทิ้งหน้าที่ จำเลยที่ ๒ จึงได้รายงานต่อไปยังจำเลยที่ ๑ เพื่อพิจารณาปลดออกจากราชการและถอดยศโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ ๑ จึงได้มีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากราชการเป็นนายทหารกองหนุน ไม่มีเบี้ยหวัด สังกัด กพ.ทร. เนื่องจากการกระทำความผิดฐานหนีราชการทหารในเวลาประจำการพร้อมกับได้ดำเนินการถอดยศของโจทก์อันเป็นไปตามมติสภากลาโหมและระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยผู้ไม่สมควรดำรงอยู่ในยศทหารและบรรดาศักดิ์พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมพ.ศ. ๒๕๐๓ และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. ๒๕๒๑ การดำเนินการของจำเลยทั้งสองตามฟ้องเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีนี้เพื่อขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ เพิกถอนคำสั่งและประกาศเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปลดโจทก์ออกจากราชการและถอดยศโจทก์ออกจากยศทหารและให้จำเลยทั้งสองมีคำสั่งบรรจุโจทก์เข้ารับราชการตำแหน่งหน้าที่และยศทหารเดิมโดยอ้างว่าคำสั่งกระทรวงกลาโหมที่ ๗๘๙/๒๕๔๖ ฉบับลงวันที่ ๒๔ตุลาคม ๒๕๔๖ เรื่องให้ปลดนายทหารสัญญาบัตรออกจากราชการและประกาศกระทรวงกลาโหมเรื่องพระราชทาน พระบรมราชานุญาตถอดยศโจทก์ออกจากยศทหาร ฉบับลงวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๖ เป็นการดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเมื่อพิจารณาตามคำสั่งกระทรวงกลาโหมที่ ๗๘๙/๒๕๔๖ และประกาศกระทรวงกลาโหมเรื่องพระราชทานพระบรมราชานุญาตถอดยศ อันเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องแล้วจะเห็นได้ว่าคำสั่งและประกาศดังกล่าวระบุถึงสาเหตุที่ปลดโจทก์ออกจากราชการและ ถอดยศโจทก์ออกจากยศทหารเนื่องจากโจทก์กระทำความผิดหนีราชการทหารในเวลาประจำการ มิใช่เป็นการระบุอย่างชัดแจ้งว่าการปลดและถอดยศออกจากราชการทหารสืบเนื่องจากการกระทำความผิดวินัยทหารตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ. ๒๔๗๖ โดยตรง ดังนั้น กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๐๓ อันเป็นหน่วยงานทางปกครองกระทำการปลดโจทก์ออกจากราชการโดยอาศัยมติสภากลาโหมครั้งที่ ๓/๒๕๐๗ ลงวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๐๗ และถอดยศโจทก์ออกจากยศทหาร ตามระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยผู้ไม่สมควรดำรงอยู่ในยศทหารและบรรดาศักดิ์ พ.ศ. ๒๕๐๗โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้อำนาจศาลปกครองพิจารณาพิพากษาหรือ มีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร หรือคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และคดีพิพาทอื่นตามที่บัญญัติในมาตรา ๙วรรคหนึ่ง แต่โดยที่มาตรา ๙ วรรคสอง (๑) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ได้บัญญัติให้การดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหารไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง และโดยที่คดีนี้ข้อเท็จจริงจากคำฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายเนื่องจากจำเลยที่ ๑ โดยปลัดกระทรวงกลาโหมได้มีคำสั่งกระทรวงกลาโหม ที่ ๗๘๙/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๖ ปลดโจทก์ออกจากราชการเป็นทหารกองหนุน ไม่มีเบี้ยหวัดบำนาญ เนื่องจากกระทำความผิดฐานหนีราชการในเวลาประจำการ ซึ่งตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พุทธศักราช๒๔๗๖ บัญญัติว่า วินัยทหาร คือการที่ทหารต้องประพฤติตามแบบธรรมเนียมของทหาร ดังนั้นการที่ทหารไม่มาปฏิบัติราชการหรือหนีราชการทหารจึงเป็นความผิดต่อวินัยทหาร ประกอบกับมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน บัญญัติว่า ทหารผู้ใดกระทำผิดต่อวินัยทหารจักต้องรับทัณฑ์ตามที่ปรากฏในหมวด ๓ แห่งพระราชบัญญัตินี้ และอาจต้องถูกปลดจากประจำการหรือถูกถอดยศทหาร ดังนั้น การที่จำเลยที่ ๒ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและพิจารณาลงทัณฑ์โจทก์กรณีกระทำความผิดฐานหนีราชการทหารในเวลาประจำการ และจำเลยที่ ๑ ได้อาศัยอำนาจตามข้อบังคับ กห. ว่าด้วยการบรรจุ ปลด ย้าย เลื่อน และลดตำแหน่งข้าราชการกลาโหม พ.ศ. ๒๕๐๒ หมวด ๑ ข้อ ๔ (๒) และคำสั่ง กห. (เฉพาะ) ที่ ๑๓๕/๔๓ ลงวันที่ ๑๕กันยายน ๒๕๔๓ ผนวก ก. ข้อ ๑.๓๖ มีคำสั่งกระทรวงกลาโหม ที่ ๗๘๙/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๒๔ตุลาคม ๒๕๔๖ ปลดออกจากราชการเนื่องจากกระทำผิดฐานหนีราชการทหารในเวลาประจำการและมีประกาศกระทรวงกลาโหม ลงวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๖ ถอดยศโจทก์ จึงเป็นการดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหารตามมาตรา ๔ ประกอบมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พุทธศักราช ๒๔๗๖ คดีพิพาทดังกล่าวจึงไม่อยู่ในอำนาจของ ศาลปกครองที่จะพิจารณาพิพากษาตามมาตรา ๙ วรรคสอง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว คดีนี้ โจทก์เป็นอดีตข้าราชการทหารยื่นฟ้องกระทรวงกลาโหม ที่ ๑ กองทัพเรือ ที่ ๒ จำเลย ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคำให้การสรุปได้ว่า ขณะโจทก์รับราชการที่กรมช่างโยธาทหารเรือซึ่งเป็นส่วนราชการสังกัดจำเลยที่ ๒ ได้รับคำสั่งจากจำเลยที่ ๑ ให้ไปปฏิบัติงานที่คณะกรรมาธิการทหารสภาผู้แทนราษฎรเป็นเวลา ๑ ปี นับแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๕ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๖เมื่อครบกำหนดประธานคณะกรรมาธิการทหารขอให้ช่วยปฏิบัติงานต่อและแจ้งว่าปลัดกระทรวงกลาโหมจะทำหนังสือแจ้งจำเลยที่ ๒ ว่าอนุญาตให้โจทก์อยู่ปฏิบัติราชการชั่วคราวที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมจนถึงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๖ โจทก์กลับไปรายงานตัวในวันที่ ๑ ตุลาคม๒๕๔๖ แต่ถูกจำเลยที่ ๒ ตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและพิจารณาลงทัณฑ์ กรณีกระทำความผิดฐานหนีราชการทหารในเวลาประจำการเกินกว่า ๑๕ วัน และจำเลยที่ ๑ มีคำสั่งให้ปลดโจทก์ออกจากราชการทหารพร้อมกับถอดยศโจทก์ตามที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเสนอ โจทก์เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบเพราะโจทก์มิได้เจตนาหนีราชการทหาร อันเป็นองค์ประกอบความผิดที่สำคัญตามประมวลกฎหมายอาญาทหารมาตรา ๔๕ รายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงก็ไม่ได้สอบปากคำของบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย คำสั่งปลดออกจากราชการและถอดยศอาศัยตามมติสภากลาโหมครั้งที่ ๓/๐๗ ลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๐๗ และระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยผู้ไม่สมควรดำรงอยู่ในยศทหารและบรรดาศักดิ์ พ.ศ. ๒๕๐๗ ข้อ ๒ นั้นมิใช่คำสั่ง กฎ หรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่๑ เพิกถอนคำสั่งปลดโจทก์ออกจากราชการและประกาศถอดยศ และให้จำเลยทั้งสองบรรจุโจทก์กลับเข้ารับราชการทหารตามเดิม จำเลยทั้งสองให้การว่า เมื่อจำเลยที่ ๒ มีคำสั่งงดให้โจทก์ไปช่วยราชการและให้กลับเข้ารับราชการในวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๖ แต่โจทก์มิได้รายงานตัวกลับเข้ารับราชการนับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดช่วยปฏิบัติราชการเกินกว่า ๑๕ วัน จึงเป็นความผิดฐานหนีราชการทหารตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา ๔๕ จำเลยที่ ๒ จึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนซึ่งมีมติว่า การกระทำของโจทก์เป็นการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยชอบด้วยกฎหมาย หนีราชการในเวลาประจำการและขาดราชการทหารหรือละทิ้งหน้าที่ จำเลยที่ ๑ จึงมีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากราชการและถอดยศ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๐๓ และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. ๒๕๒๑ การดำเนินการของจำเลยทั้งสองชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
คดีจึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า คำสั่งของจำเลยที่ ๑ ที่ให้ปลดโจทก์ออกจากราชการพร้อมกับดำเนินการถอดยศของโจทก์นั้น เป็นการดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหารหรือไม่เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พุทธศักราช ๒๔๗๖ มาตรา ๔ บัญญัติว่า “วินัยทหาร คือการที่ทหารต้องประพฤติตามแบบธรรมเนียมของทหาร” และมาตรา ๗ บัญญัติว่า”ทหารผู้ใดกระทำผิดต่อวินัยทหาร จักต้องรับทัณฑ์ตามวิธีที่ปรากฏในหมวด ๓ แห่งพระราชบัญญัตินี้ และอาจต้องถูกปลดจากประจำการหรือถูกถอดจากยศทหาร” ดังนั้น การที่จำเลยที่ ๒ มีคำสั่งงดให้โจทก์ไปช่วยราชการและ ให้กลับเข้ารับราชการในวันที่ ๑ กรกฎาคม๒๕๔๖ แต่โจทก์มิได้รายงานตัวกลับเข้ารับราชการนับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดช่วยปฏิบัติราชการเกินกว่า ๑๕ วัน กรณีจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา และหนีราชการทหารหรือละทิ้งหน้าที่อันเป็นการไม่ประพฤติตามแบบธรรมเนียมของทหารและถือเป็นความผิดต่อวินัยทหาร ต้องรับทัณฑ์อาจต้องถูกปลดจากประจำการหรือถูกถอดจาก ยศทหาร เมื่อจำเลยที่ ๒ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและพิจารณาลงทัณฑ์โจทก์กรณีกระทำความผิดฐานหนีราชการทหารในเวลาประจำการ และจำเลยที่ ๑ มีคำสั่งกระทรวงกลาโหมที่๗๘๙/๒๕๔๖ลงวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๖ ให้ปลดโจทก์ออกจากราชการเนื่องจากกระทำผิดฐานหนีราชการทหารในเวลาประจำการ กรณีจึงเป็นการดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหาร ซึ่งศาลปกครองไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา ตามมาตรา ๙ วรรคสอง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและ วิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมตามมาตรา ๒๗๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดี ระหว่าง นายปัญญวุฒิ การสุทธิ์ โจทก์กระทรวงกลาโหมที่ ๑ กองทัพเรือ ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ชาญชัย ลิขิตจิตถะ (ลงชื่อ) วิชัย วิวิตเสวี
(นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ) (นายวิชัย วิวิตเสวี)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
คมศิลล์ คัด/ทาน
๗