คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8022/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บันทึกการจับกุมและบันทึกคำให้การผู้ต้องหา จำเลยได้ลงลายมือชื่อโดยบันทึกดังกล่าวมีข้อความอยู่แล้ว ทั้งไม่ได้เกิดจากการบังคับ ขู่เข็ญทรมาน หรือทำร้ายร่างกายแต่อย่างใด จึงสามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้และไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 28,243

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 67, 102 และริบของกลาง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 67 (ที่ถูกมาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67), 102 จำคุก1 ปีลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก8 เดือน และริบของกลาง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ฎีกาได้แต่เฉพาะข้อกฎหมายในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนั้น ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยและยึดเฮโรอีนจำนวน 1 หลอด น้ำหนัก 0.03 กรัม บันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.1 สิบตำรวจตรีพัฒนา หงษ์ทอง เป็นผู้ทำบันทึก ขณะเกิดเหตุสิบตำรวจตรีพัฒนาออกปฏิบัติหน้าที่สายตรวจกับพลตำรวจพงษ์ศาสตร์ จันนา แต่งกายในเครื่องแบบ ใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะพบจำเลยนั่งอยู่ริมถนนหน้าร้านขายเสื้อผ้าลักษณะมีพิรุธโดยเมื่อเห็นเจ้าพนักงานตำรวจจะมีอาการลุกลี้ลุกลนจึงขอตรวจค้น ขณะนั้นพลตำรวจชูเกียรติ จุงาม ผ่านมายืนดูอยู่ พลตำรวจพงษ์ศาสตร์ค้นตัวจำเลย พบเฮโรอีน 1 หลอด อยู่ในกระเป๋าเสื้อด้านซ้าย จำเลยรับว่ามีเฮโรอีนไว้ในครอบครอง นำตัวไปทำบันทึกการจับกุมที่สถานีตำรวจภูธรตำบลคลองด่าน พลตำรวจพงษ์ศาสตร์กับพลตำรวจชูเกียรติต่างยืนยันว่าไม่มีการบังคับขู่เข็ญหรือทำร้ายร่างกายจำเลยแต่ประการใด ร้อยตำรวจโทภิญโญ พวงทอง พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาว่าจำเลยมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยให้การรับสารภาพว่าซื้อเฮโรอีนจากหญิงไทยไม่ทราบชื่อที่บริเวณสะพานคลองมอญในราคา 1 หลอด50 บาท แล้วซุกซ่อนไว้ในกระเป๋าเสื้อ ระหว่างเดินทางไปที่ถนนหลวงพ่อปานสาย 1 พบเจ้าพนักงานตำรวจจึงถูกตรวจค้นและจับกุมเจ้าพนักงานตำรวจได้อ่านใบแจ้งสิทธิให้ผู้ต้องหาทราบแล้วจึงให้ลงลายมือชื่อขณะรับตัวจำเลยไม่มีร่องรอยถูกทำร้าย ไม่ได้รับแจ้งว่าถูกทำร้ายหรือถูกกลั่นแกล้ง

ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยมีว่า ข้อวินิจฉัยและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 28 วรรคสอง และมาตรา 243 วรรคสอง หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติห้ามมิให้รับฟังพยานหลักฐานที่เกิดจากการขู่เข็ญหลอกลวง ถูกทรมาน ใช้กำลังบังคับหรือกระทำโดยมิชอบประการใด ๆ แต่บันทึกการจับกุมตามเอกสารหมาย จ.1 และบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.3 เกิดจากการบังคับขู่เข็ญทรมานใช้เป็นหลักฐานไม่ได้ เห็นว่า เมื่อพยานโจทก์ผู้จับจำเลยยืนยันว่า ชั้นจับกุมจำเลยรับสารภาพตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.1 โดยมิได้บังคับ ขู่เข็ญ ทรมานหรือทำร้ายร่างกายจำเลยก็มิได้ถามค้านให้รับฟังได้เป็นอย่างอื่น บันทึกคำให้การผู้ต้องหาเอกสารหมายจ.3 จำเลยก็รับว่าชื่อบิดาและมารดาตลอดจนชื่อผู้ใหญ่บ้านถูกต้อง นอกจากนั้นลักษณะวรรค ตอน และช่องลงลายมือชื่อก็เชื่อมโยงต่อเนื่องกันไม่น่าจะเป็นการลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่า ดังนั้น บันทึกการจับกุมและบันทึกคำให้การผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.1 และ จ.3 จำเลยได้ลงลายมือชื่อโดยบันทึกดังกล่าวมีข้อความอยู่แล้ว ทั้งไม่ได้เกิดจากการบังคับขู่เข็ญ ทรมาน หรือทำร้ายร่างกายแต่อย่างใด บันทึกการจับกุมและบันทึกคำให้การผู้ต้องหาดังกล่าวสามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ข้อวินิจฉัยและคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

พิพากษายืน

Share