คำวินิจฉัยที่ 75/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนฟ้องหน่วยงานทางปกครอง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เลขที่ ๔๕ เลขที่ ๓๑๕ และเลขที่ ๔๖๓ ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ก่อสร้างสะพานรุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีโดยไม่ได้รับอนุญาต อีกทั้งยังมีการขุดดินในที่ดินของผู้ฟ้องคดีเพื่อรองรับการก่อสร้างสะพาน ต่อมาผู้ฟ้องคดีไปยื่นขอออกโฉนดที่ดินทั้งสามแปลงต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๔ ไม่ยินยอมลงนามรับรองแนวเขต ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ บุกรุกที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ออกโฉนดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) ให้แก่ผู้ฟ้องคดี และให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่รุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดี โดยทำให้ที่ดินกลับคืนสู่สภาพเดิม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ และที่ ๕ ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ให้การว่า การขอออกโฉนดที่ดินจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) ทั้งสามแปลงของผู้ฟ้องคดี สำนักงานที่ดินได้ดำเนินการครบถ้วนแล้ว แต่ต้องรอผลการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการแก้ปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐจังหวัดนครนายกให้เป็นที่ยุติเสียก่อน เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินที่พิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นทางสาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๗๕/๒๕๕๘

วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๘

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดนครนายก

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๕ นายจิระวัตร สุพุทธิพงศ์ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง องค์การบริหารส่วนตำบลเขาเพิ่ม ที่ ๑ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาเพิ่ม ที่ ๒ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครนายก ที่ ๓ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๗ ตำบลเขาเพิ่ม ที่ ๔ นายอำเภอบ้านนา ที่ ๕ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๙๓๕/๒๕๕๕ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เลขที่ ๔๕ เลขที่ ๓๑๕ และเลขที่ ๔๖๓ หมู่ที่ ๕ ตำบลป่าขะ อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก อันเป็นที่ตั้งของสุสานกุ่ยฮง ทิศเหนือติดคลองเขาไม้ไผ่ โดยสุสานได้สร้างถนนเลียบคลอง ซึ่งเป็นทางพิพาทในคดีนี้ตลอดแนวเขตที่ดินของสุสาน ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทำการก่อสร้างสะพานดินถมมีท่อลอดจากที่ดินฝั่งตรงข้ามคลองเขาไม้ไผ่เพื่อเชื่อมต่อกับทางพิพาท อันเป็นการรุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีโดยไม่ได้รับอนุญาต อีกทั้งยังมีการขุดดินในที่ดินของผู้ฟ้องคดีเพื่อรองรับการก่อสร้างสะพาน เมื่อผู้ฟ้องคดีไปตรวจสอบแล้วจึงได้แจ้งต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ แต่กลับได้รับแจ้งว่าบริเวณทางพิพาทเป็นที่สาธารณะซึ่งไม่เป็นความจริง แม้ว่าสุสานจะได้สร้างทางพิพาทขึ้นและอนุญาตให้ชาวบ้านสามารถเดินทางผ่านได้ แต่ก็มิได้อุทิศให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ ต่อมาผู้ฟ้องคดีพบว่าการก่อสร้างสะพานข้ามคลองเขาไม้ไผ่รุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีกำลังดำเนินการจนใกล้จะแล้วเสร็จ ผู้ฟ้องคดีจึงไปยื่นขอออกโฉนดที่ดินทั้งสามแปลงต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๔ ไม่ยินยอมลงนามรับรองแนวเขตให้ โดยอ้างว่าการกำหนดหลักเขตเพื่อออกโฉนดที่ดินทั้งสามแปลงของผู้ฟ้องคดีทางด้านริมตลิ่งคลองเขาไม้ไผ่นั้น จะต้องมีระยะร่นเข้ามาในที่ดินของผู้ฟ้องคดีไม่น้อยกว่า ๖ เมตร ทำให้ผู้ฟ้องคดียังไม่ได้รับการออกโฉนดที่ดินทั้งสามแปลง ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ บุกรุกที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๔ ที่ระดมชาวบ้านมาประท้วงเพื่อขัดขวางการรังวัดของเจ้าหน้าที่เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ออกโฉนดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) ให้แก่ผู้ฟ้องคดี และให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่รุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดี โดยทำให้ที่ดินกลับคืนสู่สภาพเดิม
ศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องในส่วนคำขอท้ายฟ้อง ที่ว่าให้การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๔ ที่ระดมชาวบ้านมาประท้วงเพื่อขัดขวางการรังวัดของเจ้าหน้าที่เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไว้พิจารณา ส่วนคำขอข้ออื่นศาลรับไว้พิจารณา
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ และที่ ๕ ให้การว่า บิดาของผู้ฟ้องคดีอุทิศที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์โดยปริยายตั้งแต่ปี ๒๕๒๓ การดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ เป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายโดยถูกต้องชอบธรรม
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ให้การว่า การขอออกโฉนดที่ดินจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) ทั้งสามแปลงของผู้ฟ้องคดี สำนักงานที่ดินได้ดำเนินการครบถ้วนแล้ว แต่ต้องรอผลการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการแก้ปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐจังหวัดนครนายก (กบร. จังหวัดนครนายก) ให้เป็นที่ยุติเสียก่อน
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้ว เห็นว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินบริเวณพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) ได้ถูกผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทำการก่อสร้างสะพานรุกล้ำที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อต่อมาผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินตามหลักฐานหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ แต่จนถึงปัจจุบันผู้ฟ้องคดียังมิได้รับการออกโฉนดที่ดินให้แต่อย่างใด จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่รุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีดังกล่าวแล้วทำให้ที่ดินกลับคืนสู่สภาพเดิม และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ออกโฉนดที่ดินตามคำขอให้แก่ผู้ฟ้องคดี ดังนั้น เมื่อพิจารณาตามคำฟ้องดังกล่าว จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร และการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับเพื่อแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้ ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๒) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน คดีนี้จึงไม่ใช่คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ส่วนกรณีที่คดีนี้อาจมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยก่อนว่าบริเวณที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์นั้นเป็นเพียงปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี อันเป็นประเด็นย่อยข้อหนึ่งของประเด็นพิพาทหลักที่ศาลจะต้องพิจารณาให้ได้ความว่า การดำเนินงานก่อสร้างสะพานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ยังมิได้ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามคำขอเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรหรือไม่ และแม้การพิจารณาในเรื่องสิทธิในที่ดินในคดีนี้จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือประมวลกฎหมายที่ดินอันเป็นกฎหมายทั่วไป แต่ก็มิได้มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดห้ามมิให้ศาลปกครองนำบทกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดี หรือกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลหนึ่งศาลใดโดยเฉพาะที่จะนำบทกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ประกอบกับมาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินใดๆ คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นการยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นกัน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดนครนายกพิจารณาแล้ว เห็นว่า ต้นเหตุแห่งการโต้แย้งสิทธิตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างมาในฟ้อง คือ ที่พิพาทเป็นทางที่สุสานกุ่ยฮงทำขึ้นเพื่อประโยชน์ของผู้ที่นำศพบรรพบุรุษไปฝังในสุสานของผู้ฟ้องคดี มิใช่ทางสาธารณประโยชน์ การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ จึงเป็นละเมิด ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ให้การว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์จึงมีอำนาจซ่อมแซมและปรับปรุง ประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีมีว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ ศาลจะต้องพิจารณาถึงสิทธิครอบครองและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของผู้ฟ้องคดีเพื่อให้ได้ความเสียก่อนว่าทางพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีดังที่กล่าวอ้างหรือไม่ จึงเป็นกรณีพิพาทอันเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน แม้การฟ้องคดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีมีความประสงค์จะให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้าง อันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดในที่ดิน แต่ศาลก็จำต้องพิจารณาถึงสิทธิในที่ดินว่า เป็นของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นทางสาธารณประโยชน์ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ทั้งนี้ ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๒๔/๒๕๔๗

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นหน่วยงานทางปกครอง และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๕ จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เลขที่ ๔๕ เลขที่ ๓๑๕ และเลขที่ ๔๖๓ อันเป็นที่ตั้งของสุสาน โดยสุสานได้สร้างถนนเลียบคลองซึ่งเป็นทางพิพาทตลอดแนวเขตที่ดินของสุสาน ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทำการก่อสร้างสะพานดินถมมีท่อลอดจากที่ดินฝั่งตรงข้ามคลองเขาไม้ไผ่เพื่อเชื่อมต่อกับทางพิพาท อันเป็นการรุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีโดยไม่ได้รับอนุญาต อีกทั้งยังมีการขุดดินในที่ดินของผู้ฟ้องคดีเพื่อรองรับการก่อสร้างสะพาน ต่อมาผู้ฟ้องคดีไปยื่นขอออกโฉนดที่ดินทั้งสามแปลงต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๔ ไม่ยินยอมลงนามรับรองแนวเขต ทำให้ผู้ฟ้องคดียังไม่ได้รับการออกโฉนดที่ดินทั้งสามแปลง ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ บุกรุกที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ออกโฉนดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) ให้แก่ผู้ฟ้องคดี และให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่รุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดี โดยทำให้ที่ดินกลับคืนสู่สภาพเดิม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ และที่ ๕ ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ให้การว่า การขอออกโฉนดที่ดินจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) ทั้งสามแปลงของผู้ฟ้องคดี สำนักงานที่ดินได้ดำเนินการครบถ้วนแล้ว แต่ต้องรอผลการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการแก้ปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐจังหวัดนครนายกให้เป็นที่ยุติเสียก่อน เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีที่ฟ้องต่อศาล ก็เพื่อให้ศาลรับรองและคุ้มครองสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดี การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินที่พิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นทางสาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายจิระวัตร สุพุทธิพงศ์ ผู้ฟ้องคดี องค์การบริหารส่วนตำบลเขาเพิ่ม ที่ ๑ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาเพิ่ม ที่ ๒ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครนายก ที่ ๓ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๗ ตำบลเขาเพิ่ม ที่ ๔ นายอำเภอบ้านนา ที่ ๕ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share