คำวินิจฉัยที่ 94/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ประกาศ คสช. ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ กำหนดให้ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารและประกาศ คสช. ฉบับที่ ๓๘/๒๕๕๗ ก็กำหนดให้คดีที่เกี่ยวโยงกันอยู่ในอำนาจของศาลทหารด้วย โดยประกาศเมื่อวันที่ ๒๕ พ.ค.๒๕๕๗ แม้คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดโดยนำข้อความและภาพล้อเลียนอันเป็นเท็จและเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และจำเลยไม่ได้ทำการลบหรือนำข้อความและภาพล้อเลียนออกจากระบบคอมพิวเตอร์ โดยกระทำความผิดตั้งแต่ก่อนใช้ประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวก็ตาม แต่การที่จำเลยไม่ได้ทำการลบหรือนำข้อความและภาพล้อเลียนออกจากระบบคอมพิวเตอร์ และยังคงปรากฏอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ตลอดมาจนกระทั่งภายหลังจากมีการประกาศใช้ประกาศดังกล่าวทั้งสองฉบับแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดต่อเนื่องและเป็นการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกัน ดังนั้น จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๙๔/๒๕๕๘

วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๘

เรื่อง เขตอำนาจศาลตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ และฉบับที่ ๓๘/๒๕๕๗

ศาลทหารกรุงเทพ
ระหว่าง
ศาลอาญา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลทหารกรุงเทพโดยสำนักตุลาการทหาร กรมพระธรรมนูญส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๗ อัยการศาลทหารกรุงเทพ โจทก์ ยื่นฟ้องนายสิรภพ กรณ์อรุษ จำเลย ต่อศาลทหารกรุงเทพ เป็นคดีดำที่ ๘๓ ก./๒๕๕๗ ความว่า จำเลยเป็นบุคคลพลเรือนได้กระทำความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ อันเป็นความผิดที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติประกาศให้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร เพื่อให้การรักษาความสงบและการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร ลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ข้อ ๑ และมีการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกัน ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๘/๒๕๕๗ เรื่อง คดีที่ประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกันให้อยู่ในอำนาจของศาลทหาร ลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ จำเลยได้กระทำผิดกฎหมายหลายกรรมต่างกัน อันประกอบด้วย การกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกันในระหว่างที่ประกาศทั้งสองฉบับใช้บังคับ กล่าวคือ ข้อ ก. เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องเกี่ยวโยงกัน จำเลยบังอาจใส่ความ หมิ่นประมาทและดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน ต่อบุคคลที่สามและประชาชน กล่าวคือ เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ เวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยบังอาจเขียนและนำบทกลอนซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ลงในเว็บบอร์ดของเว็บไซต์ประชาไท โดยใช้นามแฝงทางอินเตอร์เน็ตว่า “รุ่งศิลา” และบทความซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ยังคงปรากฏเรื่อยมาในเว็บบอร์ดของเว็บไซด์ดังกล่าวจนถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ ข้อ ข. เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๖ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องเกี่ยวโยงกัน จำเลยบังอาจใส่ความหมิ่นประมาท และดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระมหากษัตริย์ รัชกาลปัจจุบัน ต่อบุคคลที่สามและประชาชน กล่าวคือ เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๖ เวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยบังอาจลงข้อความและภาพการ์ตูนล้อเลียนในเว็บไซต์ Facebook ชื่อบัญชี “Sira Rungsira” โดยใช้นามแฝงทางอินเตอร์เน็ตว่า “รุ่งศิลา” ข้อความและภาพการ์ตูนซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ยังคงปรากฏเรื่อยมาในเว็บไซต์ดังกล่าว จนถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ ข้อ ค. เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๗ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องเกี่ยวโยงกัน จำเลยบังอาจใส่ความ หมิ่นประมาทและดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระมหากษัตริย์ รัชกาลปัจจุบัน ต่อบุคคลที่สามและประชาชน กล่าวคือ เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๗ เวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยบังอาจลงข้อความและภาพการ์ตูนล้อเลียนในเว็บไซต์ http://rungsira.blogsport.com/2014/01/blog-post_22.html โดยใช้นามแฝงทางอินเตอร์เน็ตว่า “รุ่งศิลา” ข้อความและ ภาพการ์ตูนล้อเลียนซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ก็ยังคงปรากฏเรื่อยมาในเว็บไซต์ดังกล่าวจนถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจตรวจสอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าว อันเป็นวันและเวลาที่อยู่ในระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ซึ่งเป็นการนำเข้าสู่ เผยแพร่ หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยที่จำเลยรู้อยู่แล้วว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่พระมหากษัตริย์ ผู้อื่นหรือประชาชนและความมั่นคงของประเทศ ซึ่งบุคคลที่สามหรือประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์สามารถรับรู้ข้อมูลดังกล่าว จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลย ในคดีดำ ที่ ๔๐ ก./๒๕๕๗ ของศาลทหารกรุงเทพ ฐานฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติเรียกบุคคลให้มารายงานตัว ขอให้ลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ , ๙๑ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน (ฉบับที่ ๔๑) ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ ข้อ ๑ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๔ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๔ กับขอให้นับโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีดำที่ ๔๐ ก./๒๕๕๗ ของศาลทหาร
จำเลยให้การปฏิเสธ และยอมรับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีดำที่ ๔๐ ก./๒๕๕๗
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พ.ศ. ๒๕๕๗ มาตรา ๔ ประกอบกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง ข้อ ๑๔ (๑) และ (๕) อีกทั้งการกระทำของจำเลยตามฟ้องเกิดขึ้นก่อนที่ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ คดีจึงไม่อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารกรุงเทพ แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลทหารกรุงเทพพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายฟ้องเป็นความผิดสำเร็จแล้วตั้งแต่จำเลยนำข้อความและภาพล้อเลียนเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ แต่ข้อความและภาพล้อเลียนยังคงปรากฏในระบบคอมพิวเตอร์ตลอดมา โดยจำเลยไม่ได้ทำการลบหรือนำข้อความและภาพล้อเลียนออกจากระบบคอมพิวเตอร์ แสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาที่จะให้ข้อความและภาพล้อเลียนดังกล่าวปรากฏอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ต่อไป การกระทำของจำเลยจึงยังคงเป็นความผิดต่อเนื่องกันตลอดมา จนกระทั่งเจ้าพนักงานตำรวจตรวจพบ อันเป็นเวลาระหว่างมีประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรและประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ และฉบับที่ ๓๘/๒๕๕๗ มีผลบังคับใช้แล้ว คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร
ศาลอาญาพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำความผิดในฟ้องแต่ละข้อด้วยการนำข้อมูล คอมพิวเตอร์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์นั้น การกระทำดังกล่าวมีผลสำเร็จทันทีเมื่อลงข้อมูลครบถ้วนตั้งแต่วันที่นำเข้าสู่ระบบตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่านอกจากวันที่จำเลยลงมือกระทำความผิดในฟ้องแต่ละข้อ แล้วนั้น จำเลยได้ลงมือกระทำความผิดด้วยการนำข้อมูลในครั้งแรกเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ในวันอื่นอีก กรณีจึงไม่ใช่เป็นความผิดที่ยืดออกไป เนื่องจากไม่มีการกระทำหลายอย่างโดยผู้กระทำความผิดคนเดียวกัน เพียงแต่การกระทำในฟ้องแต่ละข้ออันเป็นกรรมเดียวกันนั้นเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ทั้งกรณีไม่ใช่ เป็นความผิดต่อเนื่องซึ่งเป็นความผิดที่เกิดขึ้นติดต่อสืบเนื่องกันตลอดเวลาชั่วระยะเวลาหนึ่ง เพราะมิได้มีลักษณะเป็นความผิดที่มีทั้งการกระทำและเจตนาประกอบกันอยู่ตลอดเวลาที่การกระทำนั้นยังปรากฏอยู่ เนื่องจากการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เพียงครั้งเดียวในฟ้องแต่ละข้อนั้นเป็นความผิดสำเร็จไปแล้ว แม้จะปรากฏมีข้อความอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ตลอดไปก็ตาม แต่ก็มิใช่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดจากการกระทำขึ้นใหม่หลังจากการกระทำของจำเลยในตอนแรก การที่ข้อความยังคงปรากฏอยู่นั้นเนื่องจากยังมิได้ถูกลบไป ไม่ว่าด้วยตัวจำเลยเองหรือการปล่อยปละละเลยของเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก็ตาม จะถือว่าจำเลยมีเจตนาให้ข้อความนั้นยังคงอยู่มิได้ เพราะเป็นที่รู้กันอยู่โดยทั่วไปว่าเมื่อมีการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์เข้าสู่ในระบบคอมพิวเตอร์แล้ว โดยสภาพของคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นเครื่องอิเล็กทรอนิกส์แบบอัตโนมัติทำหน้าที่เสมือนสมองกลถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสามารถใช้เป็นแหล่งเก็บข้อมูลที่ได้โปรแกรมเข้าไปแล้วจะเก็บรักษาข้อมูลนั้นไว้ จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือลบข้อมูลนั้นทิ้งไป กรณีจึงไม่ใช่เรื่องที่จำเลยมีเจตนาประสงค์ให้ข้อมูลที่นำเข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์แล้วคงอยู่ตลอดไป จำเลยเพียงแต่มีเจตนาเผยแพร่ข้อความของตนเท่านั้น การที่จะตีความให้จำเลยยังต้องรับผิดในผลทุกอย่างที่เกิดขึ้นโดยไม่มีข้อจำกัดเป็นการตีความในทางอาญาที่ไม่เป็นธรรมแก่จำเลย และการอ้างว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่อเนื่องนั้นเป็นการตีความในลักษณะเอาอายุความมาแทนผลของการกระทำความผิดของจำเลย เมื่อการกระทำความผิดตามฟ้องเป็นความผิดสำเร็จและมิใช่ความผิดต่อเนื่อง ทั้งเกิดขึ้นก่อนที่ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ และฉบับที่ ๓๘/๒๕๕๗ มีผลใช้บังคับแล้ว คดีจึงไม่อยู่ในบังคับของประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลทหาร
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้สรุปได้ว่า จำเลยกระทำความผิด ๓ กรรมต่างกัน โดยประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกัน กล่าวคือ ข้อ ก. เมื่อระหว่าง วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ จำเลยเขียนบทความและบทกลอนอันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ แล้วนำบทความและบทกลอนดังกล่าว เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ในเว็บบอร์ดของเว็บไซต์ประชาไท และบทความและบทกลอนยังคงปรากฏเรื่อยมา ในเว็บบอร์ดของเว็บไซด์ดังกล่าวจนถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ ข้อ ข. เมื่อระหว่างวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๖ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ จำเลยลงข้อความและภาพการ์ตูนล้อเลียนในเว็บไซต์ Facebook อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และข้อความและภาพล้อเลียนดังกล่าวยังคงปรากฏเรื่อยมาในเว็บบอร์ดของเว็บไซด์ดังกล่าวจนถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ และข้อ ค. เมื่อระหว่างวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๗ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ จำเลยลงข้อความและภาพการ์ตูนล้อเลียนในเว็บไซต์ http://rungsira.blogsport.com/2014/01/blog-post_22.html อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และข้อความและภาพการ์ตูนล้อเลียนดังกล่าวยังคงปรากฏเรื่อยมาในเว็บไซต์ดังกล่าวจนถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ และมาตรา ๙๑ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน (ฉบับที่ ๔๑) ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ ข้อ ๑ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๔ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๔
ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร โดยกำหนดให้การกระทำความผิดตามที่กำหนดไว้ดังต่อไปนี้ ซึ่งการกระทำผิดเกิดขึ้นในเขตราชอาณาจักรและในระหว่างที่ประกาศนี้ใช้บังคับอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร
๑. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
(๑) ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่มาตรา ๑๐๗ ถึงมาตรา ๑๑๒ และฉบับที่ ๓๘/๒๕๕๗ เรื่อง คดีที่ประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกันให้อยู่ในอำนาจของศาลทหาร โดยกำหนดให้บรรดาคดีความผิดที่อยู่ในอำนาจศาลทหารพิจารณาพิพากษาตามประกาศ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ และประกาศหรือคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับอื่น ถ้าคดีใดประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกัน แม้แต่ละอย่างจะเป็นความผิดได้ในตัวเองและไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารก็ให้อยู่ในอำนาจศาลทหารที่จะพิจารณาพิพากษาด้วย
เห็นว่า คดีนี้ โจทก์ฟ้องโดยกล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำความผิดต่อเนื่องเกี่ยวโยงกันตั้งแต่ก่อนใช้ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ และฉบับที่ ๓๘/๒๕๕๗ จนภายหลังมีการประกาศใช้ประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องระบุว่า จำเลยเริ่มกระทำความผิด ๓ กรรม ดังนี้ กรรมแรก เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ กรรมที่สอง เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๖ และกรรมที่สาม เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๗ ตามลำดับ โดยจำเลยหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่พระมหากษัตริย์ และจำเลยไม่ได้ทำการลบหรือนำข้อความและภาพล้อเลียนออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ต่อมาวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ คณะรักษาความสงบแห่งชาติประกาศใช้ประกาศ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ และฉบับที่ ๓๘/๒๕๕๗ ให้คดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ รวมทั้งคดีที่ประกอบไปด้วยการกระทำหลายอย่างที่เกี่ยวโยงกันให้อยู่ในอำนาจของศาลทหาร หลังจากนั้น ข้อความและภาพล้อเลียนของจำเลยยังคงปรากฏอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ตลอดมาจนกระทั่งถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ ดังนี้ แม้จำเลยจะเริ่มกระทำความผิดตั้งแต่วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๖ และวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๗ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ และฉบับที่ ๓๘/๒๕๕๗ จะมีผลใช้บังคับก็ตาม แต่การที่จำเลยไม่ได้ทำการลบหรือนำข้อความและภาพล้อเลียนออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ข้อความและภาพล้อเลียนยังคงปรากฏอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ ตลอดมาจนกระทั่งถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ ซึ่งเป็นวันที่ภายหลังจากมีการประกาศใช้ประกาศดังกล่าวทั้งสองฉบับแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดต่อเนื่องและเป็นการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกัน ดังนั้น จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง อัยการศาลทหารกรุงเทพ โจทก์ นายสิรภพ กรณ์อรุษ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share