คำวินิจฉัยที่ 73/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน และจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง อ้างว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน น.ส. ๓ ก. และออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๕๘๒๔ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันบุกรุกที่ดินบางส่วนของโจทก์และทำลายรั้วกั้นบางส่วน โดยกั้นรั้วขึ้นใหม่และนำโอ่งมาตั้งเป็นแนวเขตรั้วรุกล้ำที่ดินของโจทก์ ทั้งคัดค้านการรังวัดที่ดินของโจทก์ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ อยู่ในเขตที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๕๘๒๕ การที่เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๕๘๒๕ รุกล้ำที่ดินบางส่วนของโจทก์ทั้งสอง เป็นการไม่ชอบและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ขอให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์ ให้รื้อถอนสิ่งอื่นใดออกจากที่ดินและห้ามเข้ายุ่งเกี่ยว กับให้จำเลยที่ ๓ เพิกถอนการออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๕๘๒๕ เฉพาะที่ดินบริเวณพิพาท จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การและจำเลยที่ ๑ ฟ้องแย้งว่า โจทก์มิได้ครอบครองที่ดินบริเวณพิพาท แต่ที่ดินบริเวณพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ จึงมิได้รุกล้ำที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ ๓ ออกโฉนดที่ดินโดยชอบ สิ่งปลูกสร้างของโจทก์รุกล้ำที่ดินของจำเลยที่ ๑ ขอให้รื้อถอนและชำระค่าเสียหาย จำเลยที่ ๓ ให้การว่า ได้ปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมายครบถ้วน โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งโดยสรุปว่า ที่ดินบริเวณพิพาทไม่ใช่ที่ดินของจำเลยทั้งสอง เห็นว่า แม้คดีมีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวข้องกับการที่หน่วยงานทางปกครองออกเอกสารสิทธิในที่ดินพิพาท แต่โจทก์ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ออกรุกล้ำที่ดินของโจทก์ เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ที่ใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์ได้รับการรับรองและคุ้มครองเป็นสำคัญ และการที่ศาลจะพิพากษาตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่า ที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๗๓/๒๕๕๗

วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๗

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดเพชรบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดเพชรบุรีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ นางสาวมัทนา สกุลแก้ว ที่ ๑ นางสาวน้ำทิพย์ สกุลแก้ว ที่ ๒ โจทก์ ยื่นฟ้องนายแย้ม ประสมศรี ที่ ๑ นายไชยา ประสมศรี ที่ ๒ กรมที่ดิน ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๓๒/๒๕๕๖ ความว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๗๕๔ ตำบลบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ ๑ งาน ๘๖ ตารางวา และออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๕๘๒๔ เนื้อที่ ๑ งาน ๗๓ ตารางวาเศษ โดยใช้ปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัย ต่อมาจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันกระทำการโดยมีเจตนาทุจริตบุกรุกที่ดินบางส่วนของโจทก์ทั้งสองและทำลายรั้วกั้นบางส่วนระหว่างที่ดินและบ้านโจทก์ทั้งสองกับที่ดินและบ้านของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ โดยนำแผ่นพื้นคอนกรีตมากั้นเป็นรั้วขึ้นใหม่และนำโอ่งมาตั้งเป็นแนวเขตรั้วรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสองทางทิศเหนือและทิศใต้ประมาณ ๑ เมตร โจทก์ทั้งสองจึงยื่นคำร้องขอรังวัดสอบเขตที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๕๘๒๔ โดยนำชี้พื้นที่และเนื้อที่ตามที่ได้ครอบครองและเคยนำชี้ไว้ แต่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ คัดค้านว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ ๑และที่ ๒ โดยอ้างว่าอยู่ในเขตที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๕๘๒๕ ของจำเลยที่ ๑ และมารดาจำเลยที่ ๒
ต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรี สังกัดจำเลยที่ ๓ ได้เรียกโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มาไกล่เกลี่ย แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงแจ้งให้ใช้สิทธิทางศาล การที่เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๕๘๒๕ ให้แก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ รุกล้ำที่ดินบางส่วนของโจทก์ทั้งสอง เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงและเป็นการออกโฉนดโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์ ให้รื้อถอนสิ่งอื่นใดที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินพิพาทออกทั้งสิ้น และห้ามเข้ายุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาทอีก กับให้จำเลยที่ ๓ เพิกถอนการออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๕๘๒๕ เฉพาะที่ดินบริเวณพิพาท
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การและจำเลยที่ ๑ ฟ้องแย้งว่า โจทก์มิได้ครอบครองที่ดินบริเวณที่พิพาท แต่ที่ดินบริเวณที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ ตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๕๘๒๕ จำเลยที่ ๑ มิได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ ๓ ได้ออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๕๘๒๕ โดยถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายและโจทก์ทั้งสองก็รับทราบแนวเขตที่ดินแล้ว ขอให้ยกฟ้อง โจทก์ทั้งสองปลูกสร้างบ้านโดยหลังคาบ้านบางส่วนรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของจำเลยที่ ๑ ทั้งท่อระบายน้ำทิ้งและบ่อพักน้ำทิ้งของโจทก์ทั้งสองฝังอยู่ใต้ดิน ขอให้บังคับโจทก์ทั้งสองให้รื้อถอนหลังคาบ้านและท่อระบายน้ำทิ้ง บ่อพักน้ำทิ้งออกไปจากแนวเขตที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๕๘๒๕ และชำระค่าเสียหายให้แก่จำเลยที่ ๑
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า การออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๕๘๒๔ และเลขที่ ๒๕๘๒๕ ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายครบถ้วน จึงเป็นโฉนดที่ดินที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งโดยสรุปว่า ขณะสร้างบ้าน ที่ดินของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ ๑ ยังไม่ได้ออกโฉนดที่ดิน โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของและเป็นผู้ครอบครองที่ดินบริเวณที่พิพาท เนื้อที่ ๑๕ ตารางวาเศษ และครอบครองสืบต่อมาโดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน โจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายเสียหาย เพราะไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินบริเวณที่พิพาทได้ตามปกติสุข ที่ดินบริเวณที่พิพาทไม่ใช่ที่ดินของจำเลยทั้งสอง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
จำเลยที่ ๓ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองและชดใช้ค่าเสียหาย จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดเพชรบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้โจทก์ทั้งสองจะฟ้องจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องจากโจทก์ทั้งสองอ้างว่าการออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๕๘๒๕ ของเจ้าพนักงานที่ดินของจำเลยที่ ๓ ให้แก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่ตรงกับความเป็นจริง ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ทั้งสองได้นั้นจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองหรือเป็นของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อโจทก์ทั้งสองฟ้องว่า เจ้าพนักงานที่ดินของจำเลยที่ ๓ ทำการออกโฉนดที่ดินพิพาทอันเป็นการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินและชดใช้ค่าเสียหาย ในส่วนที่ฟ้องจำเลยที่ ๓ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สำหรับคดีระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นกรณีที่มีมูลความแห่งคดีเดียวกันชอบที่จะได้ดำเนินกระบวนพิจารณาที่ศาลเดียวกัน สำหรับประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองหรือเป็นที่ดินของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงหนึ่งในหลายประเด็นที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี ซึ่งมิได้มีผลทำให้คดีที่เป็นคดีปกครองเปลี่ยนเป็นคดีแพ่งแต่อย่างใด แม้การพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทจะต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเป็นบทกฎหมายทั่วไปมาใช้ในการพิจารณาด้วยก็ตาม แต่ก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองเป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน และจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง โดยอ้างว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๗๕๔ และออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๕๘๒๔ โดยใช้ปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัย ต่อมาจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันบุกรุกที่ดินบางส่วนของโจทก์ทั้งสองและทำลายรั้วกั้นบางส่วนระหว่างที่ดินและบ้านโจทก์ทั้งสองกับที่ดินและบ้านของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ โดยนำแผ่นพื้นคอนกรีตมากั้นเป็นรั้วขึ้นใหม่และนำโอ่งมาตั้งเป็นแนวเขตรั้วรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงยื่นคำร้องขอรังวัดสอบเขตที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๕๘๒๔ แต่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ คัดค้านว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ อยู่ในเขตที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๕๘๒๕ ต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรี สังกัดจำเลยที่ ๓ ได้เรียกทั้งสองฝ่ายมาไกล่เกลี่ย แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงแจ้งให้ใช้สิทธิทางศาล การที่เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๕๘๒๕ ให้แก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ รุกล้ำที่ดินบางส่วนของโจทก์ทั้งสอง เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงและเป็นการออกโฉนดโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์ ให้รื้อถอนสิ่งอื่นใดที่รุกล้ำที่ดินพิพาท ออกทั้งสิ้นและห้ามเข้ายุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาทอีก กับให้จำเลยที่ ๓ เพิกถอนการออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๕๘๒๕ เฉพาะที่ดินบริเวณพิพาท จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การและจำเลยที่ ๑ ฟ้องแย้งว่า โจทก์มิได้ครอบครองที่ดินบริเวณที่พิพาท แต่ที่ดินบริเวณที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ ตามโฉนดที่ดิน เลขที่ ๒๕๘๒๕ จำเลยที่ ๑ มิได้รุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ ๓ ได้ออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๕๘๒๕ โดยถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสองปลูกสร้างบ้านโดยหลังคาบ้านบางส่วนรุกล้ำที่ดินของจำเลยที่ ๑ ทั้งท่อระบายน้ำทิ้งและบ่อพักน้ำทิ้งของโจทก์ทั้งสองฝังอยู่ใต้ดิน ขอให้บังคับโจทก์ทั้งสองรื้อถอนหลังคาบ้านและท่อระบายน้ำทิ้ง บ่อพักน้ำทิ้งออกจากแนวเขตที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๕๘๒๕ และชำระค่าเสียหาย จำเลยที่ ๓ ให้การว่า การออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๕๘๒๔ และเลขที่ ๒๕๘๒๕ ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของระเบียบ และกฎหมายครบถ้วน จึงเป็นโฉนดที่ดินที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้ง โดยสรุปว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของและเป็นผู้ครอบครองที่ดินบริเวณที่พิพาท เนื้อที่ ๑๕ ตารางวาเศษ โดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน ที่ดินบริเวณที่พิพาทไม่ใช่ที่ดินของจำเลยทั้งสอง เห็นว่า แม้คดีมีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวข้องกับการที่หน่วยงานทางปกครองออกเอกสารสิทธิในที่ดินพิพาท แต่โจทก์ทั้งสองขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ออกรุกล้ำที่ดินบางส่วนของโจทก์ทั้งสอง เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ทั้งสองที่ใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์ทั้งสองได้รับการรับรองและคุ้มครองเป็นสำคัญ และการที่ศาลจะพิพากษาตามคำขอของโจทก์ทั้งสองได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่า ที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินระหว่างเอกชนด้วยกันว่า โจทก์ทั้งสองหรือจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่พิพาทดีกว่ากัน แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางสาวมัทนา สกุลแก้ว ที่ ๑ นางสาวน้ำทิพย์ สกุลแก้ว ที่ ๒ โจทก์ นายแย้ม ประสมศรี ที่ ๑ นายไชยา ประสมศรี ที่ ๒ กรมที่ดิน ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share