คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 267/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัท น. ได้รับสิทธิให้ทำการฉายภาพยนตร์เรื่อง ทูดายฟอร์ ในโรงภาพยนตร์ รวมทั้งทำเป็นวิดีโอออกขายหรือให้เช่าแต่ผู้เดียวในประเทศไทย เมื่อจำเลยกระทำละเมิดโดยนำเอาแถบบันทึกภาพและเสียงภาพยนตร์หรือวิดีโอเทปเรื่องดังกล่าวออกให้เช่าหรือเสนอให้เช่าแก่บุคคลทั่วไป จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ภาพยนตร์ดังกล่าว บริษัท น. จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 4 , 6 , 31 , 61 , 70 , 75 , 76 พ.ร.บ. ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. 2530 มาตรา 4 , 10 , 35 ป.อ. มาตรา 91 ริบของกลางเฉพาะเอกสารแสดงการให้เช่า 2 แผ่น ส่วนวิดีโอเทปจำนวน 2 ม้วน ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ กับให้จ่ายค่าปรับกึ่งหนึ่งแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31 (1) , 61 , 70 วรรคสอง พ.ร.บ. ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. 2530 มาตรา 10 , 35 เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 ฐานละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้า ปรับ 50,000 บาท ฐานมีเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ซึ่งมิได้ผ่านการตรวจพิจารณาและให้ความเห็นชอบโดยเจ้าพนักงาน ปรับ 3,000 บาท รวมปรับ 53,000 บาท ริบการ์ดให้เช่าของกลาง ส่วนวิดีโอเทปของกลางให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ ให้จ่ายค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษาให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่ง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. 2530 มาตรา 10 , 35 (1) ปรับ 3,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29 , 30 ริบการ์ดให้เช่าของกลาง ข้อหาอื่นและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว คดีมีข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติคือ จำเลยเป็นผู้ประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายซึ่งเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ บริษัทโคลัมเบีย พิคเจอร์ส อินดัสตรีส์ล อิงค์ จำกัด เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์เรื่อง ทูดายฟอร์ โดยบริษัท น. เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิแต่ผู้เดียวในประเทศไทย ตามวันเวลาเกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจตรวจยึดวิดีโอเทปของกลาง 2 ม้วน พร้อมการ์ดให้เช่า 2 แผ่น จากร้านของจำเลย วิดีโอเทปดังกล่าวไม่มีเครื่องหมายการค้าของผู้ได้รับมอบลิขสิทธิ์ติดไว้ ไม่ได้ผ่านการตรวจพิจารณาจากเจ้าพนักงานผู้ตรวจ และไม่มีตราประทับของเจ้าพนักงานประทับ มีการแจ้งความร้องทุกข์แล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยว่า บริษัท น. เป็นผู้เสียหายที่จะร้องทุกข์ในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ เห็นว่า บริษัทแรงค์ ฟิล์ม ดิสตริบิวเตอร์ส จำกัด เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิทุกอย่างทั่วโลกในภาพยนตร์เรื่อง ทูดายฟอร์ ยกเว้นประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา จากบริษัทโคลัมเบีย พิคเจอร์ส อินดัสตรีส์ล อิงค์ จำกัด และบริษัท น. ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิแต่ผู้เดียวจากบริษัทแรงค์ ฟิล์ม ดิสตริบิวเตอร์ส จำกัด ในด้านโรงฉายขนาด 35 มม. กับสิทธิส่วนบุคคลที่จะฉายตามบ้านจากคาสเซ็ทและดิสก์ภายในประเทศไทย ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2542 พยานโจทก์เบิกความยืนยันว่า บริษัท น. ได้รับสิทธิให้ทำการฉายในโรงภาพยนตร์ รวมทั้งทำเป็นวิดีโอออกขายหรือให้เช่า โดยจำเลยมิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น บริษัท น. ซึ่งได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิแต่ผู้เดียวจากบริษัทแรงค์ ฟิล์ม ดิสตริบิวเตอร์ส จำกัด จึงมีสิทธิในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวแต่ผู้เดียวในประเทศไทย เมื่อจำเลยกระทำละเมิดโดยนำเอาแถบบันทึกภาพและเสียงภาพยนตร์หรือวิดีโอเทปเรื่อง ทูดายฟอร์ ออกให้เช่าหรือเสนอให้เช่าแก่บุคคลทั่วไป จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ภาพยนตร์ดังกล่าวซึ่งบริษัท น. มีสิทธิใช้แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย บริษัท น. จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ได้ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น…
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ให้จ่ายเงินเฉพาะค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษาฐานละเมิดลิขสิทธิ์เป็นจำนวนกึ่งหนึ่งให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์.

Share