คำวินิจฉัยที่ 71/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกันและจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของจำเลยที่ ๑ โดยนำชี้แนวเขตทับที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ ๒ ได้ออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข ให้แก่จำเลยที่ ๑ โดยผิดหลง ขอให้เพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข ในส่วนที่ทับที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทและไม่ได้นำชี้แนวเขตทับที่ดินของโจทก์ การออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข ถูกต้องแล้ว จำเลยที่ ๒ ให้การว่า ได้ดำเนินการโดยถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบ ไม่จำต้องเพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข เห็นว่า คดีนี้แม้มีประเด็นเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข ทับซ้อนกับที่ดินของโจทก์ แต่โจทก์ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข เฉพาะส่วนที่ทับซ้อนกับที่ดินของโจทก์ เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ในการใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๗๑/๒๕๕๗

วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๗

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดกันทรลักษ์
ระหว่าง
ศาลปกครองอุบลราชธานี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดกันทรลักษ์โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๖ นายปิ่น แสงทอง โจทก์ ยื่นฟ้องนายบุญถิน ประคอง ที่ ๑ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดกันทรลักษ์ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๖๓/๒๕๕๖ หมายเลขแดงที่ ๓๑๓/๒๕๕๖ ความว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ เนื้อที่ประมาณ ๑๗ ไร่เศษ เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของจำเลยที่ ๑ ที่อยู่ติดกับโจทก์ต่อเจ้าพนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดศรีสะเกษ เจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยที่ ๒ เพื่อให้จำเลยที่ ๒ ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของจำเลยที่ ๑ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม โดยจำเลยที่ ๑ นำชี้แนวเขตทับที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ ๒ ได้ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข) เลขที่ ๑๒๒๖๕ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ เนื้อที่ ๓๕ ไร่ ๒ งาน ๕๖ ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ ๑ โดยผิดหลง โดยนำที่ดินของโจทก์ซึ่งยังไม่ได้จัดซื้อหรือเวนคืนมอบให้แก่จำเลยที่ ๑ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข เลขที่ ๑๒๒๖๕ ในส่วนที่ทับที่ดินของโจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท แต่ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินซึ่งมี ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข เลขที่ ๑๒๒๖๕ ของจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๑ ได้ครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดินตลอดมา ไม่เคยมีผู้ใดรบกวนการครอบครอง และไม่ได้นำชี้แนวเขตทับที่ดินของโจทก์ การออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข เลขที่ ๑๒๒๖๕ ถูกต้องตรงตามพื้นที่ซึ่งจำเลยที่ ๑ ได้ครอบครองทำประโยชน์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า ที่ดินแปลงพิพาทตามฟ้องโจทก์ได้กำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จำเลยที่ ๑ เป็นผู้นำรังวัดปักหลักเขตพร้อมนำผู้ปกครองท้องที่มารับรองการทำประโยชน์และคุณสมบัติการเป็นเกษตรกร เมื่อคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดศรีสะเกษออกประกาศผลการคัดเลือกที่ดินแปลงพิพาทให้ผู้มีส่วนได้เสียคัดค้าน ไม่มีผู้ใดคัดค้าน การอนุญาตให้จำเลยที่ ๑ เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน จึงเป็นการดำเนินการโดยถูกต้อง ตามกฎหมายและระเบียบ ไม่จำต้องเพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข เลขที่ ๑๒๒๖๕ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่า จำเลยที่ ๒ ออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข เลขที่ ๑๒๒๖๕ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข ดังกล่าว จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดกันทรลักษ์พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้จำเลยที่ ๒ จะเป็นหน่วยงานของรัฐแต่จากคำฟ้องและคำให้การเป็นการโต้แย้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลยที่ ๑ แม้โจทก์จะมีคำขอบังคับให้เพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข เพียงประการเดียว โดยไม่ได้ขอบังคับจำเลยที่ ๑ ด้วยก็ตาม แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองอุบลราชธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นกรณีที่ฟ้องว่าจำเลยที่ ๒ ออกหนังสืออนุญาตให้จำเลยที่ ๑ เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมทับที่ดินของโจทก์ การปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ในกรณีดังกล่าวของจำเลยที่ ๒ จึงเป็นการใช้อำนาจทางปกครองที่มีผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของโจทก์อันถือเป็นคำสั่งทางปกครอง จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สำหรับประเด็นปัญหาว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์หรือจำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ เป็นประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดีอันเป็นเพียงประเด็นย่อยหนึ่งในหลายประเด็น และแม้ว่าการพิจารณาประเด็นดังกล่าวจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การพิจารณาในปัญหาดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายดังกล่าว มาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกันและจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ เนื้อที่ประมาณ ๑๗ ไร่เศษ จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของจำเลยที่ ๑ โดยนำชี้แนวเขตทับที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ ๒ ได้ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข) เลขที่ ๑๒๒๖๕ เนื้อที่ ๓๕ ไร่ ๒ งาน ๕๖ ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ ๑ โดยผิดหลง โดยนำที่ดินของโจทก์ซึ่งยังไม่ได้จัดซื้อหรือเวนคืนมอบให้แก่จำเลยที่ ๑ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข เลขที่ ๑๒๒๖๕ ในส่วนที่ทับที่ดินของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท แต่ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินซึ่งมี ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข เลขที่ ๑๒๒๖๕ ของจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๑ ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตลอดมา ไม่เคยมีผู้ใดรบกวน การครอบครองและไม่ได้นำชี้แนวเขตทับที่ดินของโจทก์ การออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข เลขที่ ๑๒๒๖๕ ถูกต้องแล้ว จำเลยที่ ๒ ให้การว่า การอนุญาตให้จำเลยที่ ๑ เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน เป็นการดำเนินการโดยถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบ ไม่จำต้องเพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข ดังกล่าว เห็นว่า คดีนี้แม้มีประเด็นเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข) ทับซ้อนกับที่ดินของโจทก์ แต่โจทก์ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนหนังสืออนุญาต ให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข) ดังกล่าวเฉพาะส่วนที่ทับซ้อนกับที่ดินของโจทก์ เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ในการใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายปิ่น แสงทอง โจทก์ นายบุญถิน ประคอง ที่ ๑ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share