คำวินิจฉัยที่ 7/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่นักโทษเด็ดขาดซึ่งถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ และถูกอายัดตัวตามหมายจับของศาลจังหวัดเพื่อดำเนินคดีอีกคดีหนึ่ง ฟ้องพนักงานสอบสวนและผู้กำกับการสถานีตำรวจ ขอให้เร่งรัดการสอบสวนและส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณา เห็นว่า มูลความแห่งคดีเนื่องมาจากการดำเนินการของพนักงานสอบสวนภายหลังการอายัดตัวผู้ฟ้องคดีซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาตามหมายจับของศาลข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวนใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อนำไปสู่การฟ้องคดีและลงโทษผู้กระทำความผิดทางอาญาที่ให้อำนาจพนักงานสอบสวนไว้เป็นการ เฉพาะโดยตรง และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๑) ก็บัญญัติว่า “ศาล” หมายความถึงศาลยุติธรรมหรือผู้พิพากษาซึ่งมีอำนาจเกี่ยวกับคดีอาญา ดังนั้น ศาลที่มีอำนาจในการควบคุมตรวจสอบการสอบสวนของพนักงานสอบสวน คือ ศาลยุติธรรมซึ่งมีอำนาจเกี่ยวกับคดีอาญาเท่านั้น และเป็นศาลที่ใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาออกหมายจับผู้ฟ้องคดีไว้แล้ว ซึ่งถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจศาลเหนือคดีนี้แล้วด้วย แม้ผู้ฟ้องคดีจะบรรยายฟ้องในทำนองว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ละเลย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ก็ตาม แต่การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวก็เป็นเรื่องการสอบสวนเพื่อนำตัวผู้ฟ้องคดีไปลงโทษทางอาญา มิใช่เป็นเรื่องของการใช้อำนาจทางปกครอง ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอันอยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๗/๒๕๕๖

วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๖

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒)

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดมีนบุรี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๓ นายวัฒนา ปั้นเกตุ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลลำผักชี ที่ ๑ พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวน สถานีตำรวจนครบาลลำผักชี ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๘๖๘/๒๕๕๓ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นนักโทษเด็ดขาดชายซึ่งได้ทราบว่าถูกอายัดตัวตามหมายจับที่ ๒๑๖/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๔๗ ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือลงวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เร่งพิจารณาสอบสวนและส่งเรื่องให้แก่พนักงานอัยการต่อไป แต่ปรากฏว่าไม่มีการดำเนินการตามที่ร้องขอและแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นการละเลยต่อหน้าที่ ละเว้นการปฏิบัติต่อหน้าที่ เลือกปฏิบัติ และประวิงเวลา เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย เสียสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับตามกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้พนักงานอัยการผู้รับผิดชอบมีความเห็นสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องคดีต่อไปภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า ผู้ฟ้องคดีไม่มีอำนาจฟ้องต่อศาลปกครองเนื่องจากเป็นการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เดิมผู้ฟ้องคดีถูกจำคุกอยู่ที่เรือนจำพิเศษมีนบุรีตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดมีนบุรีในคดีหมายเลขแดงที่ ๖๘๔๓/๒๕๕๑ และคดีหมายเลขแดงที่ ๕๖๑๕/๒๕๕๑ รวมโทษจำคุกสองคดีเป็นเวลา ๒๐ ปี ๙ เดือน และได้มีการโอนตัวผู้ฟ้องคดีไปควบคุมที่เรือนจำกลางคลองเปรม และเรือนจำกลางขอนแก่นตามลำดับ ขณะที่ผู้ฟ้องคดีถูกควบคุมที่เรือนจำพิเศษมีนบุรี ผู้ฟ้องคดีได้ถูกพนักงานสอบสวนท้องที่ ต่าง ๆ อายัดตัวดำเนินคดีรวมถึงพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลลำผักชี ตามหมายจับของศาลจังหวัดมีนบุรี ที่ ๒๑๖/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๔๗ ขณะผู้ฟ้องคดีถูกควบคุมที่เรือนจำกลางคลองเปรม ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้เร่งรัดดำเนินคดีที่อายัดไว้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลำผักชีได้สอบสวน และส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการพิจารณาแล้วเมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๓ แต่พนักงานอัยการไม่รับสำนวน เนื่องจากไม่มีผลการตรวจสอบประวัติลายพิมพ์นิ้วมือและไม่มีตัวผู้ต้องหามาฟ้องพร้อมกับสำนวนการสอบสวน ต่อมา เมื่อได้ทำการสอบสวนผู้ฟ้องคดีเพิ่มเติมที่เรือนจำกลางขอนแก่นแล้ว จึงได้ส่งผลการสอบสวนให้พนักงานอัยการอีกครั้งเมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๓ แต่พนักงานอัยการได้ปฏิเสธไม่รับสำนวนการสอบสวน เนื่องจากไม่เป็นไปตามข้อ ๙๙ ของระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. ๒๕๔๗ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ เลือกปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นการประวิงเวลาให้ล่าช้าเพื่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายต่อผู้ฟ้องคดี ทั้งไม่เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีเสียสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับตามกฎหมาย เนื่องจากการลดโทษหรือลดวันต้องโทษจำคุกไม่เกี่ยวกับการอายัดตัวผู้ต้องขัง และแม้ไม่มีการอายัดตัวผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีก็ไม่ได้รับการพักโทษเนื่องจากจำคุกมาเพียง ๓ ปี จาก ๒๐ ปี ๙ เดือน ซึ่งยังไม่ถึง ๑ ใน ๓ ของโทษทั้งหมด ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า การที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเร่งดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานคดีตามหมายจับที่ ๒๑๖/๒๕๔๗ ส่งให้พนักงานอัยการพิจารณาสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องนั้น เป็นกรณีขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเป็นขั้นตอนการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ในการดำเนินกิจการหรือการกระทำต่าง ๆ ของรัฐทุกระบบจะต้องถูกตรวจสอบได้โดยศาล โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ประกอบกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีที่มีการฟ้องว่า หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือในคดีที่มีการฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร หรือในคดีที่มีการฟ้องเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่ง หรือคำสั่งทางปกครอง หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร หรือในคดีที่มีการฟ้องเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง หรือในคดีที่กฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้บุคคลต้องกระทำหรือละเว้นกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด หรือในคดีที่มีการฟ้องเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง อันเป็นการตรวจสอบการกระทำทางปกครองหรือการดำเนินกิจการทางปกครอง ส่วนศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวงที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลอื่น ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ ซึ่งได้แก่คดีแพ่ง คดีอาญา และคดีอื่น ๆ ที่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ
สำหรับการดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น เป็นขั้นตอนการดำเนินงานเพื่อที่จะนำตัวผู้กระทำความผิดในคดีอาญามาลงโทษ เช่น การจับกุม การสอบสวน การเปรียบเทียบปรับ การมีความเห็นในคดี เช่น การสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง และการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลยุติธรรม ซึ่งในขั้นตอนการดำเนินการของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อาจมีการกระทำทางปกครองปะปนอยู่ด้วย ถ้าขั้นตอนใดเป็นการกระทำที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้อำนาจไว้เป็นการเฉพาะโดยตรง การกระทำดังกล่าวจะอยู่ในอำนาจควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม แต่ถ้าการกระทำใดที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการกระทำนอกเหนือหรือมิได้กระทำตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และเป็นการกระทำที่เข้าเกณฑ์เป็นกรณีพิพาทตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ การกระทำนั้นจะอยู่ในอำนาจการควบคุมตรวจสอบของศาลปกครอง
โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๔๐ (๔) และ (๗) ได้บัญญัติรับรองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ว่า ในคดีอาญา ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิที่จะได้รับการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีที่ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม ซึ่งเป็นสิทธิของบุคคลที่ได้รับรองไว้โดยชัดแจ้ง และมีผลผูกพันศาล และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓๐ ประกอบกับมาตรา ๑๒๑ ได้บัญญัติให้พนักงานสอบสวนซึ่งมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาจะต้องเริ่มการสอบสวนโดยมิชักช้า จะทำการที่ใด เวลาใด แล้วแต่จะเห็นสมควร โดยที่ผู้ต้องหาไม่จำต้องอยู่ด้วย นอกจากนี้ ประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ข้อ ๒๐๙ (๑) กำหนดว่า พนักงานสอบสวนจะต้องรีบกระทำการสอบสวนโดยมิชักช้าด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้น เมื่อคดีนี้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นนักโทษเด็ดขาด ชั้นดีมาก ในคดีฐานความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ และฐานชิงทรัพย์โดยมีอาวุธปืนหรือใช้อาวุธปืนหรือโดยใช้ยานพาหนะ ซึ่งศาลมี คำพิพากษาลงโทษจำคุก ๒๐ ปี ๙ เดือน อยู่ที่เรือนจำกลางขอนแก่น ฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้มีหนังสือสถานีตำรวจนครบาลลำผักชี ที่ ๐๐๑๖.(บก.น.๓)(๑๐)(๓๒)/๔๓๔๘ ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ถึงผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลมีนบุรี ซึ่งได้ฝากขังผู้ฟ้องคดีระหว่างสอบสวนไว้ที่เรือนจำพิเศษมีนบุรี เพื่อขออายัดตัวผู้ฟ้องคดีเพื่อนำมาดำเนินคดีซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดฐานชิงทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยมีและใช้อาวุธปืน โดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำความผิดหรือพาทรัพย์นั้นไป และการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย ทำร้ายร่างกายมีและพกพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร ตามคดีอาญาที่ ๖/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๗ ของสถานีตำรวจนครบาลลำผักชี และตามหมายจับของศาลจังหวัดมีนบุรีที่ ๒๑๖/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๔๗ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มิได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยแจ้งข้อกล่าวหาและทำการสอบปากคำเพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเร่งรัดการสอบสวนและดำเนินคดีเพื่อให้พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องคดีต่อไปแล้ว แต่ไม่ได้รับแจ้งผลการดำเนินการ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองชอบที่จะแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำผู้ฟ้องคดีตั้งแต่มีหนังสือขออายัดตัว โดยไม่จำต้องรอให้ผู้ฟ้องคดีได้รับการปล่อยตัวก่อน การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ประวิงเวลาให้ล่าช้า ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ต้องเสียสิทธิประโยชน์ทางกฎหมายหลายประการ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องคดีต่อไป โดยให้ศาลกำหนดระยะเวลาในขั้นตอนการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานมิให้ชักช้าเกินควร จึงเห็นได้ว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ดำเนินการให้ผู้ฟ้องคดีเข้าสู่กระบวนการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในข้อหาที่ผู้ฟ้องคดีได้กระทำผิดอาญาดังกล่าว ารกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงมิใช่เรื่องการดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่เป็นการกระทำที่มีลักษณะเป็นการกระทำนอกเหนือหรือมิได้กระทำตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อันเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองว่า ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร อันเข้าลักษณะเป็นคดีปกครอง ตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับโดยสั่งให้ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการสอบสวนคดีตามอำนาจหน้าที่เพื่อเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดได้ ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน คดีนี้จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดมีนบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๘ นั้น ได้บัญญัติให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น ซึ่งการพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลใดระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมต้องถือตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และข้อพิพาทในคดีระหว่างคู่ความเป็นสำคัญ สำหรับคดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นการละเลย เพิกเฉยต่อการปฏิบัติหน้าที่ และประวิงเวลา เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย และได้มีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้พนักงานอัยการผู้รับผิดชอบมีความเห็นสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องคดีต่อไปภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด ซึ่งตามคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของผู้ฟ้องคดีนั้นเป็นการกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรในเรื่องการดำเนินการสอบสวนคดีอาญากับผู้ฟ้องคดี ซึ่งการสอบสวนคดีอาญานั้น กฎหมายได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถกระทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา อันเป็นขั้นตอนที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้อำนาจเจ้าพนักงานไว้เป็นการเฉพาะโดยตรง ซึ่งการที่พนักงานสอบสวนจะดำเนินการสอบสวนหรือพนักงานอัยการจะพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่อย่างใดหรือใช้เวลาดำเนินการเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานและพิจารณาสั่งคดีนั้น ย่อมเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการที่จะใช้ดุลพินิจภายใต้หลักเกณฑ์ของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องตามที่ได้ให้อำนาจไว้ อันเป็นการใช้อำนาจกระทำการในทางกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ทั้งกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจกระทำการในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติไว้ อันเป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานในทางอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา ซึ่งมีลักษณะเฉพาะและแตกต่างกับการใช้ดุลพินิจทางปกครอง คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นนักโทษเด็ดขาดชายยื่นฟ้องผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลลำผักชี ที่ ๑ พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวน สถานีตำรวจนครบาลลำผักชี ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อ้างว่าผู้ฟ้องคดีถูกอายัดตัวตามหมายจับของศาลจังหวัดมีนบุรี ที่ ๒๑๖/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๔๗ จึงมีหนังสือลงวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดี ที่ ๑ เร่งการพิจารณาสอบสวนและส่งเรื่องให้แก่พนักงานอัยการต่อไป แต่ไม่มีการดำเนินการตามที่ร้องขอและแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบ การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นการละเลยต่อหน้าที่ ละเว้นการปฏิบัติต่อหน้าที่เลือกปฏิบัติ และประวิงเวลาเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย เสียสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับตามกฎหมาย ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้พนักงานอัยการผู้รับผิดชอบมีความเห็นสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องคดีต่อไปภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด เห็นว่า มูลความแห่งคดีเนื่องมาจากการดำเนินการของพนักงานสอบสวนภายหลังการอายัดตัวผู้ฟ้องคดีตามหมายจับของศาลจังหวัดมีนบุรี ที่ ๒๑๖/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๔๗ ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยมีและใช้อาวุธปืนโดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิดหรือพาทรัพย์นั้นไป และการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ควบคุมตัวผู้ฟ้องคดีไว้เพื่อทำการสอบสวนดำเนินคดีอาญา อันเป็นการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งจะต้องเริ่มทำการสอบสวนโดยไม่ชักช้า จะทำการสอบสวนในที่ใด เวลาใด แล้วแต่จะเห็นสมควร โดยผู้ต้องหาไม่จำต้องอยู่ด้วย และให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจหน้าที่ทำการรวบรวมหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓๐ และมาตรา ๑๓๑ ประกอบมาตรา ๒ (๖) อันเป็นขั้นตอนดำเนินการเพื่อนำไปสู่การฟ้องคดีและลงโทษผู้กระทำความผิดทางอาญาที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้อำนาจพนักงานสอบสวนไว้เป็นการเฉพาะโดยตรง และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๑) ก็บัญญัติว่า “ศาล” หมายความถึงศาลยุติธรรมหรือผู้พิพากษาซึ่งมีอำนาจเกี่ยวกับคดีอาญา ดังนั้นศาลที่มีอำนาจในการควบคุมตรวจสอบการสอบสวนของพนักงานสอบสวน คือศาลยุติธรรมซึ่งมีอำนาจเกี่ยวกับคดีอาญาเท่านั้น นอกจากนี้ศาลยุติธรรมยังเป็นศาลที่ใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาออกหมายจับผู้ฟ้องคดีไว้แล้ว ซึ่งถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจศาลเหนือคดีนี้แล้วด้วย แม้ผู้ฟ้องคดีจะบรรยายฟ้องในทำนองว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ละเลย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ก็ตาม แต่การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวก็เป็นเรื่องการสอบสวนเพื่อนำตัวผู้ฟ้องคดีไปลงโทษทางอาญาดังที่กล่าวมาแล้ว มิใช่เป็นเรื่องของการใช้อำนาจทางปกครองแต่อย่างใด ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรมในทางอาญาอันอยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายวัฒนา ปั้นเกตุ ผู้ฟ้องคดี ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลลำผักชี ที่ ๑ พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวน สถานีตำรวจนครบาลลำผักชี ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ติดราชการ
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สถาพร เกียรติภิญโญ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สถาพร เกียรติภิญโญ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share