คำวินิจฉัยที่ 68/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โจทก์ ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากกรณีการประปาส่วนภูมิภาค จำเลยร่วม ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ให้ก่อสร้างถังน้ำใสขนาด ๕๐๐ ลูกบาศก์เมตร และปรับปรุงระบบผลิตน้ำหน่วยบริการ ลำภูรา การประปาส่วนภูมิภาค สาขาห้วยยอด จังหวัดตรัง แล้วถูกลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ ๑ กระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังใช้เครื่องปั๊มลมไฮโดรลิกหัวเจาะดินดันท่อเหล็กลอดใต้ถนนเพชรเกษมกระแทกถูกสายไฟฟ้าเคเบิลใต้ดินแรงสูงของโจทก์เป็นเหตุให้สายไฟฟ้าเคเบิลใต้ดินแรงสูงระเบิดและชำรุดเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ย โดยศาลอนุญาตให้เรียกจำเลยร่วมในฐานะผู้ว่าจ้างเข้ามาเป็นคู่ความเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยตามคำร้องสอดของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เห็นว่า ประเด็นแห่งคดีเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดอันเกิดจากการกระทำของเอกชนซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ที่จำเลยทั้งสองขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วม ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองเข้ามาเป็นคู่ความเพื่อการ ใช้สิทธิไล่เบี้ยนั้น เป็นเพราะในฐานะผู้ว่าจ้าง และการที่จะพิจารณาว่าจำเลยทั้งสองมีสิทธิไล่เบี้ยจากจำเลยร่วมในหนี้ ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ได้หรือไม่ ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากข้อพิพาทที่ว่าลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ ๑ กระทำละเมิดหรือไม่เป็นสำคัญ ความรับผิดของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ และจำเลยร่วม จึงมีมูลความแห่งคดีเดียวกัน เหตุละเมิดตามคำฟ้องของโจทก์จึงมิได้เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ ๑ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๖๘/๒๕๕๗

วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๗

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลจังหวัดตรัง
ระหว่าง
ศาลปกครองสงขลา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดตรังส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๕ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โจทก์ ยื่นฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดตรังทอง ที่ ๑ นายภูมิพัฒน์ ตรังสุวรรณ ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดตรัง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๗๐๒/๒๕๕๕ ต่อมา ศาลเรียกการประปาส่วนภูมิภาคเข้าเป็นจำเลยร่วม ตามคำร้องสอดของจำเลยทั้งสอง ความว่า เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๕๓ จำเลยที่ ๑ ทำสัญญารับจ้างเหมาก่อสร้างถังน้ำใสขนาด ๕๐๐ ลูกบาศก์เมตร และปรับปรุงระบบผลิตน้ำหน่วยบริการลำภูรา การประปาส่วนภูมิภาค สาขาห้วยยอด จังหวัดตรัง จากจำเลยร่วม ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๓ ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ ๑ ได้ใช้เครื่องปั๊มลมไฮโดรลิกหัวเจาะดินดันท่อเหล็กเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓๐๐ มิลลิเมตร ยาว ๖ เมตร ลอดใต้ถนนเพชรเกษมโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง กระแทกถูกสายไฟฟ้าเคเบิลใต้ดินแรงสูงของโจทก์เป็นเหตุให้สายไฟฟ้าเคเบิลใต้ดินแรงสูงระเบิดและชำรุดเสียหาย กระแสไฟฟ้าในจังหวัดตรังดับทั้งจังหวัด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม และขาดประโยชน์จากการขายไฟฟ้า ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยตรง เพราะต้องปฏิบัติงานตามข้อกำหนด เงื่อนไข แบบแปลน ภายใต้การกำกับดูแล และควบคุมสั่งการของจำเลยร่วม โดยจำเลยที่ ๑ ไม่ทราบว่า มีสิ่งกีดขวาง หรืออุปสรรคใด ๆ ความเสียหายจึงเกิดจากการที่จำเลยร่วมปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับระบบการเดินสายไฟฟ้าใต้ดินของโจทก์ ทั้งโจทก์เองก็ไม่แจ้งหรือใช้เครื่องหมายแจ้งเตือนว่าเป็นบริเวณวางสายไฟฟ้าเคเบิลแรงสูง จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ค่าเสียหายสูงเกินจริง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยร่วมให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยร่วมได้ตรวจสอบแนวเขตสายไฟฟ้าเคเบิลใต้ดินตามผังของโจทก์ด้วยความระมัดระวังรอบคอบดีแล้ว แต่การดันท่อเหล็กยังถูกสายไฟฟ้าเคเบิลใต้ดินอีก แสดงว่าสายไฟฟ้าเคเบิลใต้ดินไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่ได้แสดงไว้ในแบบผังของโจทก์ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงเป็นความผิดพลาดของโจทก์เอง จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ค่าเสียหายสูงเกินจริง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีเกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากจำเลยที่ ๑ ทำสัญญาจ้างปรับปรุงระบบการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาแก่ประชาชนจากจำเลยร่วม ซึ่งเป็นภารกิจในการจัดทำบริการสาธารณะเกี่ยวกับระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนของจำเลยร่วม เมื่อศาลเรียกจำเลยร่วมเข้าเป็นคู่ความในคดีแล้ว ถือว่า คดีเป็นการพิพาทกันระหว่างโจทก์และจำเลยร่วมซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดตรังพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเอกชนให้ชดใช้ค่าเสียหายเนื่องจากลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ ๑ กระทำละเมิดในทางการที่จ้างหรือในขอบอำนาจของตัวแทน โดยการใช้เครื่องปั๊มลมไฮโดรลิกหัวเจาะดินดันท่อเหล็กลอดใต้ถนนโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังทำให้กระแทกถูกสายเคเบิลไฟฟ้าใต้ดินของโจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นกรณีที่หน่วยงานทางปกครองยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองที่เป็นเอกชนเพราะเหตุละเมิดเท่านั้น แม้การที่ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ ๑ กระทำการดังกล่าวจะสืบเนื่องมาจากเพราะจำเลยที่ ๑ เป็นคู่สัญญากับจำเลยร่วมตามสัญญาจ้างเหมางานก่อสร้างถังน้ำใสขนาด ๕๐๐ ลูกบาศก์เมตร และปรับปรุงระบบผลิตน้ำหน่วยบริการประชาชนลำภูรา และจำเลยร่วมได้เข้ามาเป็นคู่ความในคดีด้วยแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นการเข้ามาเพราะจำเลยทั้งสองขอให้หมายเรียก ดังนั้นย่อมต้องถือว่าผู้ที่มีข้อพิพาทกับจำเลยร่วมคือจำเลยทั้งสองเท่านั้นหาใช่โจทก์ไม่ และเมื่อจำเลยทั้งสองไม่ใช่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองจึงมิใช่การพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ส่วนข้อพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองกับจำเลยร่วมนั้น แม้สัญญาที่จำเลยร่วมทำกับจำเลยที่ ๑ จะเป็นสัญญาทางปกครอง แต่ประเด็นข้อนี้ก็เป็นเพียงประเด็นที่สืบเนื่องมาจากข้อพิพาทที่ว่าลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ ๑ กระทำละเมิดหรือไม่ ซึ่งการที่ศาลจะพิจารณาพิพากษาให้จำเลยร่วมรับผิดต่อโจทก์ตามคำขอของจำเลยทั้งสองได้หรือไม่นั้น จักต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดในการกระทำของลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ ๑ หรือไม่ก่อนเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาต่อไปว่าจำเลยทั้งสองมีสิทธิไล่เบี้ยในหนี้ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ดังกล่าวจากจำเลยร่วมได้หรือไม่ ดังนั้น คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองสงขลาพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากการดำเนินการก่อสร้างถังน้ำใสขนาด ๕๐๐ ลูกบาศก์เมตร และปรับปรุงระบบผลิตน้ำของหน่วยบริการลำภูรา การประปาส่วนภูมิภาค สาขาห้วยยอด ซึ่งเป็นการจัดทำภารกิจของหน่วยงานทางปกครองที่เป็นบริการสาธารณะและมีการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายของจำเลยร่วมในการใช้สอยที่ดินและเดินท่อน้ำไปใต้พื้นดินของบุคคลใด ๆ เพื่อสร้างระบบการผลิต การส่ง และการจำหน่ายน้ำประปา ตามมาตรา ๗ (๓) ประกอบกับมาตรา ๒๙ และมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติการประปาส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๒๒ โดย จำเลยร่วมได้มอบหมายให้จำเลยที่ ๑ เดินท่อน้ำประปาลอดใต้ถนนตามแบบแปลนและในบริเวณที่จำเลยร่วมกำหนด การดำเนินการของจำเลยที่ ๑ ในการเดินท่อประปาลอดใต้ถนนจึงมิได้ดำเนินการเองในฐานะเอกชนทั่วไป แม้โจทก์ฟ้องว่าได้รับความเสียหายจากการดำเนินการของจำเลยที่ ๑ เป็นเหตุให้สายไฟฟ้าเคเบิลใต้ดินแรงสูงของโจทก์เสียหาย แต่กรณีก็เห็นได้ว่า ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นและการใช้สิทธิทางศาลของโจทก์เพื่อขอให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหายในคดีนี้ เป็นกรณีที่โจทก์ได้รับความเสียหายจากการจัดทำภารกิจของหน่วยงานทางปกครองที่เป็นบริการสาธารณะ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ทางปกครองตามกฎหมายของจำเลยร่วมที่ต้องกระทำให้ถูกต้องภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้และต้องมีหน้าที่รับผิดชอบ หากมีความเสียหายเกิดขึ้นจากการกระทำดังกล่าวตามหลักนิติรัฐนั่นเอง สภาพของข้อพิพาทจึงมิใช่เรื่องที่เกิดขึ้นระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกัน แต่ต้องถือว่าเป็นข้อพิพาทอันเกิดขึ้นจากการจัดทำบริการสาธารณะของจำเลยร่วมซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และการพิจารณาแต่เพียงว่าข้อพิพาทในลักษณะนี้เกิดจากการกระทำของลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเอกชนโดยมิได้พิจารณาภารกิจที่เอกชนได้รับมอบหมายจากหน่วยงานทางปกครอง ย่อมเท่ากับปฏิเสธว่าการดำเนินการในเรื่องนี้มิใช่เป็นเรื่องการจัดทำภารกิจของหน่วยงานทางปกครองที่เป็นบริการสาธารณะและทำให้กลับกลายเป็นภาระของบุคคลภายนอกผู้ได้รับความเสียหายกับจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเพียงผู้รับจ้างแต่ได้รับมอบหมายจากหน่วยงานทางปกครองต้องหาทางดำเนินการแก้ไขเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการจัดทำบริการสาธารณะของหน่วยงานทางปกครองโดยลำพังระหว่างกัน ดังจะเห็นได้จากข้อเท็จจริงในการพิจารณาคดีที่จำเลยทั้งสองได้ให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ ๑ เป็นเพียงผู้รับจ้างกับจำเลยร่วมที่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขแห่งสัญญา รวมทั้งแบบแปลนที่กำหนดในสัญญา ภายใต้การกำกับดูแลและควบคุมสั่งการของจำเลยร่วม จำเลยที่ ๑ ไม่ทราบว่ามีสิ่งกีดขวางหรืออุปสรรคใด ๆ มาก่อน โจทก์ชอบที่จะฟ้องให้จำเลยร่วมรับผิดชอบในความเสียหายดังกล่าว และจำเลยร่วมได้ให้การต่อสู้ว่า การดำเนินการตามสัญญาจ้างของจำเลยที่ ๑ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของจำเลยร่วมตามที่กฎหมายกำหนด และอยู่ในความควบคุมดูแลของจำเลยร่วม จำเลยร่วมได้นำแผนผังของโจทก์มาศึกษาตรวจสอบก่อนที่จะให้จำเลยที่ ๑ ดำเนินงานตามที่ได้รับจ้าง ซึ่งจำเลยที่ ๑ ดำเนินการดันท่อประปาลอดใต้ถนนในตำแหน่งที่ห่างจากสายไฟฟ้าเคเบิลใต้ดินของโจทก์ในระยะที่ปลอดภัยตามแผนผังของโจทก์แล้ว แต่ก็ยังถูกสายไฟฟ้าเคเบิลใต้ดินของโจทก์ได้รับความเสียหาย ความเสียหายที่โจทก์ได้รับจึงเกิดจากความผิดพลาดของแบบแผนผังของโจทก์ ด้วยเหตุนี้ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากกรณีจำเลยร่วมทำสัญญาจ้างจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ให้ก่อสร้างถังน้ำใสขนาด ๕๐๐ ลูกบาศก์เมตร และปรับปรุงระบบผลิตน้ำหน่วยบริการ ลำภูรา การประปาส่วนภูมิภาค สาขาห้วยยอด จังหวัดตรัง แล้วถูกลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ ๑ กระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังใช้เครื่องปั๊มลมไฮโดรลิกหัวเจาะดินดันท่อเหล็กลอดใต้ถนนเพชรเกษมกระแทกถูกสายไฟฟ้าเคเบิลใต้ดินแรงสูงของโจทก์เป็นเหตุให้สายไฟฟ้าเคเบิลใต้ดินแรงสูงระเบิดและชำรุดเสียหาย กระแสไฟฟ้าในจังหวัดตรังดับทั้งจังหวัด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม และขาดประโยชน์จากการขายไฟฟ้า ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ย โดยศาลอนุญาตให้เรียกจำเลยร่วมในฐานะผู้ว่าจ้าง และเป็นหน่วยงานทางปกครองเข้ามาเป็นคู่ความเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยตามคำร้องสอดของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ ๑ ก่อสร้างถังน้ำใสและปรับปรุงระบบผลิตน้ำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง ใช้เครื่องปั๊มลมไฮโดรลิกหัวเจาะดินดันท่อเหล็กลอดใต้ถนนเพชรเกษมกระแทกถูกสายไฟฟ้าเคเบิลใต้ดินแรงสูงของโจทก์เป็นเหตุให้สายไฟฟ้าเคเบิลใต้ดินแรงสูงระเบิดและชำรุดเสียหาย ประเด็นแห่งคดีจึงเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดอันเกิดจากการกระทำของเอกชนซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ที่จำเลยทั้งสองขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วม ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองเข้ามาเป็นคู่ความเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยนั้น เป็นเพราะในฐานะผู้ว่าจ้าง และการที่จะพิจารณาว่าจำเลยทั้งสองมีสิทธิไล่เบี้ยจาก จำเลยร่วมในหนี้ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ได้หรือไม่ ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากข้อพิพาทที่ว่าลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ ๑ กระทำละเมิดหรือไม่เป็นสำคัญ ความรับผิดของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ และจำเลยร่วม จึงมีมูลความแห่งคดีเดียวกัน เหตุละเมิดตามคำฟ้องของโจทก์จึงมิได้เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ ๑ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โจทก์ ห้างหุ้นส่วนจำกัดตรังทอง ที่ ๑ นายภูมิพัฒน์ ตรังสุวรรณ ที่ ๒ จำเลย การประปาส่วนภูมิภาค จำเลยร่วม อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share