คำวินิจฉัยที่ 63/2555

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๖๓/๒๕๕๕
วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๕

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓)

ศาลจังหวัดนนทบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดนนทบุรีส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคสอง ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลหนึ่งไม่รับฟ้อง เพราะเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง เมื่อมีการฟ้องคดีต่ออีกศาลหนึ่งแล้วศาลดังกล่าวเห็นว่าคดีนั้นไม่อยู่ในเขตอำนาจเช่นกัน

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๓ บริษัทบุญรอด เทรดดิ้ง จำกัด โจทก์ ยื่นฟ้อง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่ ๑ ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดนนทบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ. ๘๖๐/๒๕๕๓ ความว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่ผลิตโดยกลุ่มบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ทั้งที่มีและไม่มีแอลกอฮอล์ ได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ โดยจำเลยที่ ๒ เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลรับผิดชอบการปฏิบัติงานของจำเลยที่ ๑ ได้ออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ ๙/๒๕๕๒ เรื่องการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามมาตรา ๓๒ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑ อันเป็นการออกประกาศหลักเกณฑ์เพื่อกำหนดแนวทาง วิธีการหรือเพิ่มเติมคำจำกัดความ นิยามคำศัพท์หรือเพิ่มเติมความหมายให้กับคำนิยามคำศัพท์ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยไม่มีอำนาจกระทำได้ตามกฎหมาย แล้วนำไปใช้ในการสั่งห้ามสถานีวิทยุโทรทัศน์และสื่อต่าง ๆ ไม่ให้มีการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ไม่สามารถโฆษณาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ตามกฎหมายและไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาว่าจ้างโฆษณาที่ได้ทำไว้ต่าง ๆ ทั้งยังอาศัยประกาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวตรวจค้น จับกุมและดำเนินคดีเกี่ยวกับโฆษณาดังกล่าวของโจทก์ เมื่อโจทก์โต้แย้ง จำเลยทั้งสองเพิกเฉยและจงใจแก้ไขประกาศของสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ ๙/๒๕๕๒ ดังกล่าว โดยออกประกาศของสำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับที่ ๔/๒๕๕๓ เรื่อง การห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามมาตรา ๓๒ อันเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองยกเลิกประกาศของสำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับที่ ๙/๒๕๕๒ และฉบับที่ ๔/๒๕๕๓ และห้ามออกประกาศดังกล่าวอีก ให้จำเลยทั้งสองหยุดการกระทำซ้ำหรือกระทำต่อเนื่องซึ่งการใช้และอ้างอิงประกาศของสำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับที่ ๙/๒๕๕๒ และฉบับที่ ๔/๒๕๕๓ ในทางที่จะทำให้โจทก์ได้รับความเสื่อมเสียสิทธิในการโฆษณาตามกฎหมาย ให้จำเลยทั้งสองชี้แจงต่อประชาชนถึงความผิดพลาดและให้ขออภัยต่อโจทก์สำหรับการกระทำละเมิดดังกล่าวในหนังสือพิมพ์และสถานีโทรทัศน์หรือสื่ออื่นที่เทียบเคียงหรืออยู่ในอันดับเดียวกัน ให้จำเลยทั้งสองมีหนังสือยกเลิกหนังสือแจ้งเตือนการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่อ้างอิงตามประกาศฉบับที่ ๙/๒๕๕๒ ถึงสถานีโทรทัศน์ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ที่จำเลยทั้งสองเคยมีหนังสือแจ้งเตือนไปแล้ว และให้จำเลยที่ ๑ ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน ๔๓,๔๓๐,๙๙๗.๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
อนึ่ง ก่อนฟ้องคดีนี้ โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๐๔๙/๒๕๕๒ หมายเลขแดงที่ ๒๐๓๕/๒๕๕๒ แต่ศาลปกครองกลางเห็นว่า ประกาศสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ ๙/๒๕๕๒ ดังกล่าว มิได้ออกโดยอาศัยอำนาจจากบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมากำหนดเพิ่มเติมหรือขัดแย้งกับพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑ แต่อย่างใด มิได้มีสภาพเป็นกฎหรือคำสั่งทางปกครองที่ศาลจะรับไว้พิจารณาพิพากษาได้ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองกระทำการตามอำนาจหน้าที่ของกฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๒๒ พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑ และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยประกาศของสำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งสองฉบับดังกล่าวนั้นออกโดยผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นคณะทำงานหรือคณะอนุกรรมการซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายโดยชอบและประกาศดังกล่าวเป็นเพียงการอธิบายบทบัญญัติของกฎหมายเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑ แล้วจึงมีหนังสือแจ้งเตือนไปยังสถานีโทรทัศน์ และสื่อต่าง ๆ เพื่อ มิให้มีการดำเนินการใด ๆ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ส่วนการระงับหรือยกเลิกโฆษณาใด ๆ ของโจทก์นั้นเป็นดุลพินิจที่จะปฏิบัติตามกฎหมายของสถานีโทรทัศน์ และสื่อต่าง ๆ ซึ่งไม่ใช่การกระทำของจำเลยที่ ๒ โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ และค่าเสียหายของโจทก์เป็นเรื่องในอนาคตที่ไม่แน่นอนเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับเรื่องขอให้จำเลยทั้งสองยกเลิกประกาศของสำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับที่ ๙/๒๕๕๒ และฉบับที่ ๔/๒๕๕๓ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดนนทบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็นหลักที่คู่กรณีโต้แย้งกันเป็นเรื่องเกี่ยวกับประเด็นว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่โจทก์กล่าวอ้างหรือไม่ เมื่อปรากฏว่ามีกฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๑๖ ดังนั้น เมื่อการกระทำของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของหน่วยงานจำเลยที่ ๑ คดีนี้ตามคำให้การระบุอ้างทำนองว่า ประกาศและหนังสือแจ้งเตือนดังกล่าวเป็นเพียงการอธิบายตัวบทกฎหมายตอบข้อสงสัยเท่านั้น อันถือได้ว่ามีลักษณะการใช้อำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๑๖ (๖) ที่บัญญัติว่า ให้คำปรึกษาแนะนำ และประสานงานแก่หน่วยงานของรัฐและเอกชนเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งการเสนอมาตรการในการป้องกันผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดจนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การที่ฝ่ายโจทก์ยื่นฟ้องโต้แย้งอ้างว่า ไม่มีอำนาจกระทำได้ตามกฎหมาย จึงต้องพิจารณาว่ากรณีนี้เป็นการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑ หรือไม่ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริตหรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมหรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควรหรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ ทั้งยังเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใด เนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจ หรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น หรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ และ (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร คดีนี้จำเลยที่ ๑ เป็นส่วนราชการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ตามมาตรา ๔๓ (๔) แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ ส่วนจำเลยที่ ๒ เป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามมาตรา ๒๔ วรรคสอง และมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นส่วนราชการในสังกัดจำเลยที่ ๑ จัดตั้งขึ้นตามมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑ ประกอบกับข้อ ๓ (๗) ของกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๕๒ และจำเลยที่ ๒ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวตามข้อ ๑ (๒๑) ของประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑ ดังนั้น จำเลยที่ ๑ จึงมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง และจำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า จำเลยที่ ๒ ออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ ๙/๒๕๕๒ และที่ ๔/๒๕๕๓ เพื่อกำหนดแนวทาง วิธีการ หรือเพิ่มเติม คำจำกัดความ นิยามศัพท์ หรือเพิ่มเติมความหมายให้กับคำนิยามที่บัญญัติในพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นการกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีกฎหมายให้อำนาจกระทำได้ แล้วใช้ประกาศดังกล่าวเป็นฐานในการดำเนินการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยอำเภอใจและมิชอบด้วยกฎหมาย ทำให้สถานีโทรทัศน์หลายสถานียกเลิกการโฆษณาของโจทก์ทุกช่วงเวลา อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้เพิกถอนประกาศที่พิพาทและให้จำเลยที่ ๑ ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ กรณีจึงเป็นการฟ้องว่า จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจหน้าที่ทางปกครองตามที่บัญญัติในมาตรา ๒๔ วรรคสอง และมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑ ใช้อำนาจทางปกครองในการออกประกาศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างบริษัทบุญรอด เทรดดิ้ง จำกัด โจทก์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่ ๑ ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท จิระ โกมุทพงศ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(จิระ โกมุทพงศ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

คมศิลล์ คัด/ทาน

Share