คำวินิจฉัยที่ 6/2551

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๖/๒๕๕๑

วันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลปกครองนครราชสีมา
ระหว่าง
ศาลจังหวัดศรีสะเกษ

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองนครราชสีมาโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๔๙ นางสมจิต วงศ์คำจันทร์ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง กรมทางหลวง ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองนครราชสีมาเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๐๘/๒๕๔๙ ความว่าเดิมนางทิพย์โลบุญ มารดาของผู้ฟ้องคดียกที่ดินจำนวน ๒ แปลง ให้แก่ผู้ฟ้องคดีเพื่อทำประโยชน์และปลูกสร้างบ้านโดยไม่ได้จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครอง แปลงที่หนึ่งเป็นที่สวนและแปลงที่สองเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เลขที่ ๘๐๘ ตำบลกำแพง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ผู้ฟ้องคดีครอบครองและทำประโยชน์เรื่อยมา เมื่อปี ๒๕๒๔ ผู้ถูกฟ้องคดีเวนคืนที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองแปลงเพื่อสร้างถนนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงจังหวัด สายแยกทางหลวงหมายเลข ๒๐๗๗ (ปัจจุบันเป็นทางหลวงหมายเลข ๒๒๖) (จังหวัดสุรินทร์)-อำเภอศีขรภูมิ-อำเภอสำโรงทาบ-ห้วยทับทัน-อำเภออุทุมพรพิสัย พ.ศ. ๒๕๑๘ โดยที่ดินแปลงที่เป็นที่สวนถูกเวนคืนทั้งแปลงส่วนแปลง น.ส. ๓ เลขที่๘๐๘ ถูกเวนคืนเพื่อสร้างถนนเพียงบางส่วน ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนบ้านในที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนแล้วนำมาสร้างในส่วนที่ไม่ถูกเวนคืนและสร้างยุ้งฉางเก็บผลผลิตทางการเกษตร จากนั้นเมื่อประมาณเดือนกันยายน ๒๕๒๔ หลังจากผู้ถูกฟ้องคดีจ่ายค่าเวนคืนและค่ารื้อถอนให้มารดาของผู้ฟ้องคดีแล้ว เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีนำหลักฐานที่ดินที่มีชื่อมารดาของผู้ฟ้องคดีไปแก้ไขทะเบียนผู้ถือครองที่ดินเป็นของผู้ถูกฟ้องคดี และนำสำเนาหนังสือหลักฐาน น.ส. ๓ เลขที่ ๘๐๘ เฉพาะฉบับด้านหน้าที่ไม่มีรายการจดทะเบียนคืนให้แก่มารดาของผู้ฟ้องคดี ซึ่งมารดาของผู้ฟ้องคดีและผู้ฟ้องคดีต่างเชื่อว่าผู้ถูกฟ้องคดีเวนคืนที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่ ๘๐๘ เฉพาะส่วนที่จะนำไปสร้างถนน ผู้ฟ้องคดีและมารดาพักอาศัยในบ้านบนที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่ ๘๐๘ดังกล่าวจนมารดาของผู้ฟ้องคดีเสียชีวิต ต่อมาเมื่อปี ๒๕๔๗ ผู้ฟ้องคดีประสงค์จะขอออกโฉนดที่ดินส่วนที่ไม่ถูกเวนคืนแต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากเมื่อสำนักงานที่ดินจังหวัด ศรีสะเกษ สาขาอุทุมพรพิสัยตรวจสอบปรากฏว่ามารดาของผู้ฟ้องคดีได้โอน น.ส. ๓ ซึ่งเดิมเป็นที่สวนและ ที่บ้านทั้งสองแปลงให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีแล้ว ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการเวนคืนของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าวไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่ผู้ฟ้องคดีได้รับ เนื่องจากได้รับค่าเวนคืนและค่ารื้อถอนเพียงบางส่วน และเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีสำเนาหลักฐาน น.ส. ๓ เลขที่ ๘๐๘ เฉพาะด้านหน้าให้แก่ผู้ฟ้องคดี ต่อมาสำนักทางหลวงที่ ๗ ได้รังวัดตรวจสอบแล้วปรากฏว่าที่ดินที่ไม่ถูกเวนคืนมีประมาณ ๓๐ ถึง ๓๕ ตารางวา แต่สำนักทางหลวงที่๗ มีหนังสือด่วนมาก ที่ คค ๐๖๒๑/ม.๑/๑๒๑๕ ลงวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๔๘ แจ้งว่าที่ดิน น.ส. ๓เลขที่ ๘๐๘ ถูกเวนคืนทั้งแปลงเพื่อสร้างทางหลวงและมารดาของผู้ฟ้องคดีได้โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีเมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน๒๕๒๔ โดยไม่พบหลักฐานการจ่ายเงินค่าทดแทน แต่สันนิษฐานได้ว่า เมื่อที่ดิน ถูกเวนคืนผู้ถูกฟ้องคดีจะต้องจ่ายค่าเวนคืนให้แก่เจ้าของที่ดินแล้ว ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมเนื่องจากครอบครองและทำประโยชน์ที่ดินดังกล่าวมาเกือบ๔๐ ปี
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การและเพิ่มเติมคำให้การว่า การเวนคืนที่ดินของผู้ถูกฟ้องคดีไม่สามารถตรวจสอบการจ่ายเงินค่าเวนคืนได้เนื่องจากระยะเวลาล่วงเลยมานานแล้ว แต่สันนิษฐานตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๙๕ ว่ากรณีที่ดินแปลงใดถูกเวนคืนเจ้าของต้องนำหลักฐานไปจดทะเบียนซื้อขายและ ผู้ถูกฟ้องคดีจะต้องจ่ายค่าเงินค่าเวนคืนทุกครั้ง ซึ่งตามหลักฐาน น.ส. ๓เลขที่ ๘๐๘ ของมารดาผู้ฟ้องคดีนั้น มารดาผู้ฟ้องคดีโอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีในวันที่จดทะเบียนเมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๒๔ แล้ว ส่วนที่ดินที่เหลือจากงานทางผู้ถูกฟ้องคดียังใช้ประโยชน์ในเขตทางหลวงเพื่อความปลอดภัยในการจราจร ที่ดินพิพาทจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ถูกฟ้องคดีและเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิขอที่ดินคืนนอกจากนั้นจากการตรวจสอบที่พิพาทพบว่าผู้ฟ้องคดีสร้างบ้านและยุ้งข้าวบางส่วนรุกล้ำงานทาง ผู้ฟ้องคดียังยอมรับว่าบางส่วนของบ้านซึ่งเป็นกันสาดน้ำฝนหน้าบ้านและยุ้งฉางอยู่ในเขตงานทาง แสดงให้เห็นว่าผู้ฟ้องคดีสร้างบ้านบริเวณซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ถูกฟ้องคดี การครอบครองที่ดินดังกล่าวของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นการครอบครองโดยไม่มีสิทธิและไม่ชอบด้วยกฎหมาย การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทและการรับมรดกของผู้ฟ้องคดีเป็นระยะเวลากว่า ๑๐ ปีแล้ว คดีจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่าคดีนี้เป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินว่าที่ดินพิพาทเป็นของฝ่ายใด ระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า หลักกฎหมายในเรื่องสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลได้รับการรับรองและคุ้มครองจากรัฐตลอดมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑ มาตรา ๓๓ ซึ่งใช้บังคับในขณะที่มีการเวนคืนที่ดินน.ส. ๓ เลขที่ ๘๐๘ ของมารดาผู้ฟ้องคดีเมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๒๔ ได้บัญญัติรับรองสิทธิในทรัพย์สินของเอกชนมาเป็นของรัฐจะกระทำมิได้ เว้นแต่การอันเป็นสาธารณูปโภค การอันจำเป็นในการป้องกันประเทศ การได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ การผังเมือง การพัฒนาการเกษตรหรือการอุตสาหกรรม การปฏิรูปที่ดิน หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น และอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยการเวนคืนเพื่อการใด ถ้ามิได้ใช้เพื่อการนั้นภายในระยะเวลาที่กำหนดในกฎหมายต้องคืนให้เจ้าของเดิมหรือทายาท การที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงจังหวัด สายแยกทางหลวงหมายเลข ๒๐๗๗ (จังหวัดสุรินทร์)-อำเภอ ศีขรภูมิ-อำเภอสำโรงทาบ-ห้วยทับทัน-อำเภออุทุมพรพิสัย พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้กำหนดวัตถุประสงค์ไว้อย่างชัดแจ้งว่า เพื่อสร้างทางหลวงจังหวัดสายแยกทางหลวงหมายเลข ๒๐๗๗ ในท้องที่ดังกล่าว โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ กล่าวคือ ต้องนำที่ดินที่ถูกเวนคืนไปใช้เพื่อก่อสร้างทางหลวงโดยตรง เมื่ออสังหาริมทรัพย์ที่เวนคืนมามิได้ใช้ตามวัตถุประสงค์หรือเหลือจากการใช้ตามวัตถุประสงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมย่อมไม่มีอำนาจที่จะนำที่ดินดังกล่าวไปใช้นอกเหนือจากวัตถุประสงค์ตามพระราชกฤษฎีกาเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวดังนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะต้องคืนอสังหาริมทรัพย์ในส่วนที่มิได้ใช้นั้นให้แก่เจ้าของที่ดินเดิมหรือทายาทเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีอาศัยอยู่บ้านเลขที่ ๑๖๓ หมู่ที่ ๑ ตำบลสระกำแพงใหญ่ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ตามหลักฐาน น.ส. ๓ เลขที่ ๘๐๘ ซึ่งเป็นที่ดินที่ถูกเวนคืน ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงจังหวัด สายแยกทางหลวงหมายเลข ๒๐๗๗ (ปัจจุบันเป็นทางหลวงหมายเลข ๒๒๖) (จังหวัดสุรินทร์)-อำเภอศีขรภูมิ-อำเภอสำโรงทาบ-ห้วยทับทัน-อำเภออุทุมพรพิสัย พ.ศ. ๒๕๑๘ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้ก่อสร้างทางหลวงหรือใช้ประโยชน์ในงานทางในส่วนของที่ดินที่เหลือ ผู้ฟ้องคดีจึงได้ก่อสร้างบ้านและพักอาศัยในบ้านหลังนั้นมาโดยตลอด ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ผู้ฟ้องคดีขอออกโฉนดที่ดิน แต่ไม่อาจออกโฉนดที่ดินได้เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีไม่ยอมคืนที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี โดยอ้างว่าที่ดินแปลงดังกล่าวถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงและไม่มีที่เหลือจากการเวนคืนและไม่ได้ใช้ประโยชน์แต่อย่างใด ตามหนังสือด่วนมาก ที่ คค ๐๖๐๖.๓(๓)/๙๓๔๔ ลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดี ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒และศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน
ศาลจังหวัดศรีสะเกษพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เลขที่ ๘๐๘ ได้ถูกผู้ถูกฟ้องคดีเวนคืนเพียงบางส่วนยังเหลือที่ไม่ถูกเขตทางหลวงและผู้ฟ้องคดีได้ปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัยมีเนื้อที่เหลืออีกประมาณ ๓๐-๓๕ ตารางวา ต่อมาปี ๒๕๔๗ ผู้ฟ้องคดีจึงได้ไปยื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนดังกล่าว แต่เจ้าพนักงานที่ดินไม่สามารถออกโฉนดที่ดินให้ได้ อ้างว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์แล้วซึ่งฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีก็โต้แย้งว่ามารดาของผู้ฟ้องคดีได้จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวทั้งแปลงให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดแล้ว ที่ดินส่วนที่พิพาทดังกล่าวจึงเป็นที่สาธารณประโยชน์ ไม่สามารถคืนหรือนำไปออกโฉนดที่ดินได้ ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นหลักที่คู่กรณียังโต้แย้งกันอยู่ อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินส่วนที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าที่ดินส่วนที่ไม่ถูกเวนคืนดังกล่าวเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่เหลือจากการถูกเวนคืนหรือได้ถูกเวนคืนไปเป็น ที่สาธารณประโยชน์แล้ว ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินส่วนพิพาทดังกล่าวเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดียังมีสิทธิครอบครองและสามารถนำออกโฉนดที่ดินตามข้ออ้างหรือไม่เสียก่อน จึงจะสามารถพิจารณาวินิจฉัยประเด็นอื่นต่อไปได้ ซึ่งการพิจารณาสิทธิในที่ดินแปลงพิพาทระหว่างคู่กรณีดังกล่าว จำเป็นต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๔ และตามประมวลกฎหมายที่ดินประกอบด้วย โดยจะต้องพิจารณาถึงสิทธิครอบครองและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของผู้ฟ้องคดี ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน ซึ่งศาลจำต้องพิจารณาถึง สิทธิครอบครองในที่ดินของผู้ฟ้องคดีเสียก่อนว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมายหรือที่ดินเป็นที่สาธารณประโยชน์ของแผ่นดินเป็นหลัก ดังนั้นศาลที่มีอำนาจพิพากษาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินตามกฎหมายที่ดินจึงได้แก่ศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้สรุปได้ว่า มารดาของผู้ฟ้องคดี ยกที่ดินจำนวน ๒ แปลง ให้แก่ผู้ฟ้องคดีเพื่อทำประโยชน์และปลูกสร้างบ้านโดยไม่ได้จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครอง แปลงที่หนึ่งเป็นที่สวนและแปลงที่สองเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เลขที่ ๘๐๘ ตำบลกำแพง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ผู้ฟ้องคดีครอบครองและทำประโยชน์เรื่อยมา เมื่อปี ๒๕๒๔ ผู้ถูกฟ้องคดีเวนคืนที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองแปลงเพื่อสร้างถนนโดยที่ดินแปลงที่เป็นที่สวนถูกเวนคืนทั้งแปลง ส่วนแปลง น.ส. ๓ เลขที่๘๐๘ ถูกเวนคืนเพื่อสร้างถนนเพียงบางส่วน ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนบ้านในที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนแล้วนำมาสร้างในส่วนที่ไม่ถูกเวนคืนและสร้างยุ้งฉางเก็บผลผลิตทางการเกษตร เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีนำหลักฐานที่ดินที่มีชื่อมารดาของผู้ฟ้องคดีไปแก้ไขทะเบียนผู้ถือครองที่ดินเป็นของผู้ถูกฟ้องคดี และนำสำเนาหนังสือหลักฐาน น.ส. ๓ เลขที่ ๘๐๘ เฉพาะฉบับด้านหน้าที่ไม่มีรายการจดทะเบียนคืนให้แก่มารดาของผู้ฟ้องคดี ซึ่งมารดาของผู้ฟ้องคดีและผู้ฟ้องคดีต่างเชื่อว่าผู้ถูกฟ้องคดีเวนคืนที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่ ๘๐๘ เฉพาะส่วนที่จะนำไปสร้างถนน ผู้ฟ้องคดีและมารดาพักอาศัยในบ้านบนที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่ ๘๐๘ ดังกล่าวจนมารดาของผู้ฟ้องคดีเสียชีวิต ต่อมาผู้ฟ้องคดีขอออกโฉนดที่ดินส่วนที่ไม่ถูกเวนคืนแต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากเมื่อสำนักงานที่ดินจังหวัดศรีสะเกษ สาขาอุทุมพรพิสัย ตรวจสอบปรากฏว่ามารดาของผู้ฟ้องคดีได้โอน น.ส. ๓ ซึ่งเดิมเป็นที่สวนและที่บ้านทั้งสองแปลงให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีแล้ว ต่อมาสำนักทางหลวงที่ ๗ ได้รังวัดตรวจสอบแล้วปรากฏว่าที่ดินที่ไม่ถูกเวนคืนมีประมาณ ๓๐ ถึง ๓๕ ตารางวา แต่สำนักทางหลวงที่ ๗ แจ้งว่าที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่ ๘๐๘ ถูกเวนคืนทั้งแปลงและมารดาของผู้ฟ้องคดีได้โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีเมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๒๔ โดยไม่พบหลักฐานการจ่ายเงินค่าทดแทน แต่สันนิษฐานได้ว่า เมื่อที่ดินถูกเวนคืนผู้ถูกฟ้องคดีจะต้องจ่ายค่าเวนคืนให้แก่เจ้าของที่ดินแล้ว ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมเนื่องจากครอบครองและทำประโยชน์ที่ดินดังกล่าวมาเกือบ๔๐ ปี ผู้ถูกฟ้องคดีให้การและเพิ่มเติมคำให้การว่า การเวนคืนที่ดินของผู้ถูกฟ้องคดีไม่สามารถตรวจสอบการจ่ายเงินค่าเวนคืนได้ เนื่องจากระยะเวลาล่วงเลยมานานแล้ว แต่สันนิษฐานตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๙๕ ว่า กรณีที่ดินแปลงใดถูกเวนคืนเจ้าของต้องนำหลักฐานไปจดทะเบียนซื้อขายและผู้ถูกฟ้องคดีจะต้องจ่ายเงินค่าเวนคืนทุกครั้ง ซึ่งตามหลักฐาน น.ส. ๓ เลขที่๘๐๘ ของมารดาผู้ฟ้องคดีนั้น มารดาผู้ฟ้องคดีโอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีในวันที่จดทะเบียน เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๒๔ แล้ว ส่วนที่ดินที่เหลือจากงานทางผู้ถูกฟ้องคดียังใช้ประโยชน์ในเขตทางหลวงเพื่อความปลอดภัยในการจราจร ที่ดินพิพาทจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ถูกฟ้องคดีและเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิขอที่ดินคืน นอกจากนั้นจากการตรวจที่พิพาทพบว่าผู้ฟ้องคดีสร้างบ้านและยุ้งข้าวบางส่วนรุกล้ำงานทาง ผู้ฟ้องคดียังยอมรับว่าบางส่วนของบ้านซึ่งเป็นกันสาดน้ำฝนหน้าบ้านและยุ้งฉางอยู่ในเขตงานทาง แสดงให้เห็นว่าผู้ฟ้องคดีสร้างบ้านบริเวณซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ถูกฟ้องคดี การครอบครองที่ดินดังกล่าวของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นการครอบครองโดยไม่มีสิทธิและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากการเวนคืนที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงจังหวัด สายแยกทางหลวงหมายเลข ๒๐๗๗ (ปัจจุบันเป็นทางหลวงหมายเลข ๒๒๖) (จังหวัดสุรินทร์)-อำเภอศีขรภูมิ-อำเภอสำโรงทาบ-ห้วยทับทัน-อำเภออุทุมพรพิสัย พ.ศ. ๒๕๑๘ การดำเนินการก่อสร้างถนนอันเป็นทางหลวงตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองนั้นเป็นการจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันโดยในการจัดให้ได้มาซึ่งที่ดินตามแนวทางหลวงตามพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้เวนคืนจะต้องทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับผู้ถูกเวนคืน นิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นผู้เวนคืนกับผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ถูกเวนคืนจึงเป็นนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชนและมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีขอออกโฉนดที่ดินส่วนที่เหลือที่ไม่ได้ถูกเวนคืนประมาณ ๓๐ ถึง ๓๕ ตารางวา ซึ่งผู้ฟ้องคดีครอบครองและปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัย แต่ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่ามารดาของผู้ฟ้องคดีได้จดทะเบียนโอนที่ดินซึ่งถูกเวนคืนทั้งแปลงให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีแล้ว ทั้งที่ดินพิพาทดังกล่าวผู้ถูกฟ้องคดีก็ยังใช้ประโยชน์สำหรับงานทางอยู่ กรณีจึงมีข้อพิพาทที่สืบเนื่องจากสัญญาซื้อขายที่ดินอันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางสมจิต วงศ์คำจันทร์ ผู้ฟ้องคดี กรมทางหลวงผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ดิเรกพล วัฒนะโชติ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ดิเรกพล วัฒนะโชติ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

คมศิลล์ คัด/ทาน

Share