คำวินิจฉัยที่ 24/2550

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๔/๒๕๕๐

วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๐

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดเพชรบุรี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีศาลที่รับฟ้องคดีเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจ และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๔๕ ศาลปกครองกลางได้รับคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ ๘๐๙/๒๕๔๕ ระหว่าง นายศักดา บุณยรักษ์ ผู้ฟ้องคดี อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๑ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๖๑๖๙ และ ๒๖๑๗๐ ตำบลหาดเจ้าสำราญ อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ ๑-๐-๙๐ ไร่ และ ๒-๑-๕๓ ไร่ ตามลำดับ รวมเนื้อที่ ๓-๒-๔๓ ไร่ โดยซื้อจากนายแคล้ว คงหิรัญ ที่ดินดังกล่าวนายแคล้วยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินเฉพาะรายโดยมิได้แจ้งการครอบครองเมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๓๔ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีอนุมัติให้ออกโฉนดที่ดินได้ ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวจึงผ่านการพิจารณาโดยผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และคณะกรรมการสุขาภิบาลหาดเจ้าสำราญแล้วว่าเป็นที่มีการครอบครองของเอกชน ไม่ใช่เป็นที่สาธารณประโยชน์ประจำหมู่บ้านตามที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๑ นายชูชาติ พูลศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี มีคำสั่งให้ออกและลงนามออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ พบ.๐๒๖๔ ที่ดินเลขที่ ๑๖๙ ประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน ตั้งอยู่ตำบลหาดเจ้าสำราญ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ ๓-๒-๒๔ ไร่ ทับที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลที่ได้ผ่านการพิจารณา โดยผู้ว่าราชการจังหวัดและพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในขณะนั้นมาแล้วว่า ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวไม่ใช่และไม่เคยเป็นที่สาธารณประโยชน์สำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของนายชูชาติ พูลศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีในขณะนั้น ที่ไม่ได้ตรวจสอบระวางแผนที่ตามเขตระวางที่ของที่ดินดังกล่าวเสียก่อน เป็นการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงโดยใช้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยรวบรัด จึงฟ้องขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ พบ.๐๒๖๔ ที่ดินเลขที่ ๑๖๙ ประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน ตั้งอยู่ตำบลหาดเจ้าสำราญ อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ส่วนที่ซ้อนทับกับที่ดินทั้งสองแปลงของผู้ฟ้องคดี
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงนั้น ผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแสดงความประสงค์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผ่านสำนักงานที่ดินจังหวัดหรือสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขา ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในท้องที่เป็นผู้ออกหนังสือสำคัญแทน สำหรับข้อเท็จจริงที่พิพาทในคดีนี้อยู่ระหว่างให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ตรวจสอบและรายงานให้ทราบ
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่า ที่ดินสาธารณประโยชน์ตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ พบ.๐๒๖๔ นั้น ได้ขึ้นทะเบียนที่ดินสาธารณประโยชน์ตำบลหาดเจ้าสำราญ ลำดับที่ ๕ ตั้งแต่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๓ บริเวณดังกล่าวแต่เดิมมีสภาพเป็นที่ดินสาธารณะ ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่ภายหลังประชาชนไม่ได้เข้าไปขุดน้ำใช้ แต่ก็ยังเป็นที่สำหรับใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่นพักผ่อนหย่อนใจของนักท่องเที่ยวถือได้ว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงได้ดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอนของระเบียบข้อบังคับ โดยชอบด้วยกฎหมาย
ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่าการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย
ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์
ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง โดยเห็นว่า เรื่องนี้ มีปัญหาที่คู่กรณียังโต้เถียงกันว่าที่พิพาทเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่หลวงหวงห้ามตามที่อำเภอเมืองเพชรบุรีนำขึ้นทะเบียนไว้ แม้รายละเอียดคู่กรณีจะมีการโต้แย้งกันในเรื่องกระบวนการของการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงว่า ได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องหรือไม่อยู่ด้วย แต่การที่จะวินิจฉัยและสั่งเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม การที่ศาลปกครองชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงในสำนวนคดีและนำประเด็นแห่งคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาตามรูปคดี โดยมิได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่ต้องหยุดการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว พร้อมจัดส่งความเห็นเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลส่งไปยังศาลยุติธรรมพิจารณา ทั้ง ๆ ที่มีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลในประเด็นเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันกับข้อพิพาทในคดีนี้มาก่อนที่ศาลปกครองชั้นต้นจะมีคำพิพากษา จึงเป็นการทำคำพิพากษาโดยมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ตามนัยข้อ ๑๑๒ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยการพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓ ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษายกคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง และให้ศาลปกครองกลางดำเนินกระบวนพิจารณาให้ถูกต้องแล้วมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยและมีความเห็นแล้วว่า คดีนี้มีปัญหาที่คู่กรณียังโต้แย้งกันว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือที่หลวงหวงห้ามตามที่นายอำเภอเมืองเพชรบุรีได้นำขึ้นทะเบียนไว้ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม กรณีจึงมิใช่คดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดเพชรบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่จะให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเนื่องจากทับซ้อนที่ดินโฉนดทั้งสองแปลงของผู้ฟ้องคดีนั้น จะต้องพิจารณาให้ได้ความเบื้องต้นเสียก่อนว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๖๑๖๙ และ ๒๖๑๗๐ ตำบลหาดเจ้าสำราญ อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม แต่คดีนี้ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาในเนื้อหาและประเด็นแห่งคดีไปแล้ว จนผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำพิพากษาไปยังศาลปกครองสูงสุด คดีนี้แม้ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษายกคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นและย้อนให้ศาลปกครองชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาให้ถูกต้องก็ตาม คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดมีผลให้คดีตกมาที่ศาลปกครองชั้นต้นอีกครั้งหนึ่ง ย่อมไม่ก่อให้ศาลปกครองชั้นต้นมีอำนาจทำความเห็นเรื่องอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลอีก เพราะขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ไม่ต้องการให้เกิดความล่าช้าในการพิจารณาคดี หากมีการยกคำพิพากษาและย้อนสำนวนจากศาลปกครองสูงสุดหลายครั้งแล้วถือว่าคดียังอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลปกครองชั้นต้นทำให้ศาลปกครองชั้นต้นมีอำนาจทำความเห็นเรื่องอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ทั้ง ๆ ที่ศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคดีไปแล้วย่อมมีผลกระทบเสียหายต่อประชาชน หากมีการโอนคดีนี้มายังศาลยุติธรรมย่อมมีการจัดทำคำฟ้องให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและกระทบข้อกฎหมายอื่นตามมาอีกอันทำให้ต้องเสียเวลาในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลยุติธรรม ขัดต่อเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่ต้องการให้ปัญหาเรื่องอำนาจศาลยุติตั้งแต่ในศาลชั้นต้น ผู้ฟ้องคดีย่อมได้รับผลกระทบจากความล่าช้าดังกล่าวโดยตรง ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่ความผิดของตน ดังนั้นคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องอธิบดีกรมที่ดินและผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องสรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๖๑๖๙ และ ๒๖๑๗๐ ตำบลหาดเจ้าสำราญ อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ ๑-๐-๙๐ ไร่ และ ๒-๑-๕๓ ไร่ โดยซื้อจากนายแคล้ว ซึ่งเป็นผู้ขอออกโฉนด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีอนุมัติให้ออกโฉนดที่ดินได้ ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวจึงผ่านการพิจารณาโดยผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และคณะกรรมการสุขาภิบาลหาดเจ้าสำราญแล้วว่าเป็นที่มีการครอบครองของเอกชน ไม่ใช่เป็นที่สาธารณประโยชน์ประจำหมู่บ้านตามที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ ต่อมานายชูชาติ พูลศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี มีคำสั่งให้ออกและลงนามออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ พบ.๐๒๖๔ ที่ดินเลขที่ ๑๖๙ ประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน เนื้อที่ ๓-๒-๒๔ ไร่ ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเพราะใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐโดยรวบรัดดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงโดยไม่ได้ตรวจสอบระวางแผนที่ตามเขตระวางที่ของที่ดินดังกล่าวเสียก่อน จึงฟ้องขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ พบ.๐๒๖๔ ที่ดินเลขที่ ๑๖๙ ประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน ตั้งอยู่ตำบลหาดเจ้าสำราญ อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ส่วนที่ซ้อนทับกับที่ดินทั้งสองแปลงของผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงนั้น ผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแสดงความประสงค์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผ่านสำนักงานที่ดินจังหวัดหรือสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขา ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในท้องที่เป็นผู้ออกหนังสือสำคัญแทน สำหรับข้อเท็จจริงที่พิพาทในคดีนี้อยู่ระหว่างให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ตรวจสอบและรายงานให้ทราบ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่า ที่ดินสาธารณประโยชน์ตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ พบ.๐๒๖๔ นั้น ขึ้นทะเบียน ที่ดินสาธารณประโยชน์ตำบลหาดเจ้าสำราญ ลำดับที่ ๕ ตั้งแต่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๓ บริเวณดังกล่าวแต่เดิมมีสภาพเป็นที่ดินสาธารณะ ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่ภายหลังประชาชนไม่ได้เข้าไปขุดน้ำใช้ แต่ก็ยังเป็นที่สำหรับใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่นพักผ่อนหย่อนใจของนักท่องเที่ยวถือได้ว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอนของระเบียบข้อบังคับโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้จะสืบเนื่องมาจากคำสั่งของฝ่ายปกครองในการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ พบ.๐๒๖๔ ตำบลหาดเจ้าสำราญ อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งผู้ฟ้องคดีอ้างว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงฉบับดังกล่าวตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ โต้แย้งเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายศักดา บุณยรักษ์ ผู้ฟ้องคดี อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๑ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ติดราชการ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายปัญญา ถนอมรอด) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

คมศิลล์ คัด/ทาน
??

??

??

??

Share