คำวินิจฉัยที่ 25/2550

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๕/๒๕๕๐

วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๐

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลจังหวัดชลบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองระยอง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดชลบุรีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๘ นายสมพงษ์ ปรีชาธนพจน์ โจทก์ ยื่นฟ้อง นายวิทยา เหรียญแก้ว ที่ ๑ นายบุญเรือน ทรัพย์สมบูรณ์ ที่ ๒ นายไพฑูรย์ พงษ์ประดิษฐ์ ที่ ๓ นายสมมิตร โสภณชีวิน ที่ ๔ จำเลย ต่อศาลจังหวัดชลบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๑๕๒/๒๕๔๘ ความว่า โจทก์เป็นข้าราชการเคยดำรงตำแหน่งปลัดสุขาภิบาลบ้านสวน ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ ถึงปี ๒๕๔๓ จำเลยที่ ๑ เคยดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอเมืองชลบุรี จำเลยที่ ๒ เป็นกรรมการสุขาภิบาลบ้านสวนตั้งแต่ปี ๒๕๒๙ และเป็นประธานกรรมการสุขาภิบาลบ้านสวนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๑ จำเลยที่ ๓ เคยดำรงตำแหน่งกรรมการสุขาภิบาลบ้านสวนตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ ถึงปี ๒๕๔๓ จำเลยที่ ๔ เคยดำรงตำแหน่งกำนันตำบลบ้านสวนและเป็นกรรมการสุขาภิบาลบ้านสวนตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ ถึงปี ๒๕๔๓ เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๑ จำเลยที่ ๑ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีอำเภอเมืองชลบุรีรายงานว่ามีการปลอมแปลงเอกสารการประชุมคณะกรรมการสุขาภิบาลบ้านสวนครั้งที่ ๑๒/๒๕๔๐ และสุขาภิบาลบ้านสวนได้จ่ายเงินงบกลางประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๐ จำนวน ๗๗๐,๕๐๐ บาท เพื่อซ่อมแซมถนนจำนวน ๒๘ โครงการ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการสุขาภิบาลบ้านสวน ต่อมาคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าวได้สอบสวนข้อเท็จจริงและสรุปรายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงเสนอความเห็นกล่าวหาว่าโจทก์เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่สุขาภิบาลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๑, ๑๕๗ และกล่าวหาว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบของทางราชการอันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๘๕ การสรุปผลสอบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าวของจำเลยที่ ๑ ไม่เป็นความจริงและจำเลยที่ ๑ รู้อยู่แล้วว่า โจทก์มิได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหาแต่อย่างใด จำเลยที่ ๑ กระทำโดยมีเจตนาทุจริตเพื่อให้โจทก์ต้องได้รับโทษทางอาญา ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ จำเลยที่ ๒ ในฐานะประธานกรรมการสุขาภิบาลบ้านสวนในขณะนั้นได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๓ ในฐานะกรรมการสุขาภิบาลบ้านสวนให้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองชลบุรีเพื่อให้ดำเนินคดีอาญากับโจทก์ตามข้อหาที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้สรุปไว้ นอกจากนั้นเมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๔๓ จำเลยที่ ๓ ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์สินใด ๆ ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริตรู้เห็นเป็นใจในการสั่งการให้บันทึกเพิ่มเติมในรายงานการประชุมครั้งที่ ๑๒/๒๕๔๐ ลงวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๔๐ อันเป็นการเสียหายแก่สุขาภิบาลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๑, ๑๕๗ และเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๔๒ จำเลยที่ ๔ ในฐานะกรรมการสุขาภิบาลบ้านสวนได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า โจทก์ในฐานะปลัดสุขาภิบาลบ้านสวนเป็นผู้ลงนามอนุมัติจ่ายเงินงบประมาณ ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการสุขาภิบาลบ้านสวนครั้งที่ ๑๒ เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๔๐ นั้น โจทก์ได้เข้าร่วมประชุมด้วยและจะต้องทราบว่าไม่มีการอนุมัติการซ่อมแซมถนน ๒๘ โครงการดังกล่าว คำให้การของจำเลยที่ ๓ และ ที่ ๔ ต่อพนักงานสอบสวนนั้นเป็นความเท็จทั้งสิ้น โดยความจริงโจทก์ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการแก้ไขรายงานการประชุมและไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสั่งอนุมัติเบิกจ่ายเงินงบประมาณกลางดังกล่าว โจทก์มิได้กระทำความผิดอาญาตามที่จำเลยทั้งสี่กล่าวหาและแจ้งความร้องทุกข์ การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นเหตุให้โจทก์ต้องถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาต่อศาลจังหวัดชลบุรีข้อหาเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ร่วมกับบุคคลอื่นใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐและสุขาภิบาลและร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต่อมาศาลจังหวัดชลบุรีได้พิจารณาพยานหลักฐานที่นำสืบมาในคดีดังกล่าวแล้วเห็นว่า โจทก์ไม่ได้ร่วมกระทำความผิดในคดีอาญาดังกล่าวจึงพิพากษายกฟ้องเฉพาะโจทก์เป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๓๐๘๘/๒๕๔๖ การกระทำของจำเลยทั้งสี่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียงอย่างร้ายแรง ถูกตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง ทำให้เสียโอกาสในการพิจารณาความดีความชอบ เลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งและต้องถูกคำสั่งโยกย้ายราชการจากตำแหน่งปลัดสุขาภิบาลบ้านสวนไปเป็นปลัดสุขาภิบาลหนองตำลึง จังหวัดชลบุรี และถูกย้ายไปเป็นรองปลัดเทศบาลตำบลสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นจังหวัดชายแดนและมีเหตุการณ์ความไม่สงบ เสี่ยงต่ออันตราย ทำให้โจทก์ต้องเดินทางมาศาลระหว่างพิจารณาของศาลจังหวัดชลบุรีในคดีอาญาที่ถูกฟ้องเป็นเวลาประมาณ ๒ ปี โดยโจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าว่าจ้างทนายความในการต่อสู้คดี ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน จำนวน ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า จำเลยทั้งสี่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ และเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ผู้บังคับบัญชาได้สั่งการและมอบหมายตามกฎหมาย จำเลยทั้งสี่ไม่ได้กลั่นแกล้งใส่ร้ายป้ายสีโจทก์แต่อย่างใด ความเสียหายที่โจทก์อ้างมิใช่ผลอันเกิดจากการกระทำของจำเลยทั้งสี่ การที่โจทก์ถูกตั้งกรรมการสอบสวนวินัย และมีคำสั่งโยกย้ายมิใช่การกระทำของจำเลยทั้งสี่โดยส่วนตัวการที่โจทก์ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาก็เป็นดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม จำเลยทั้งสี่ไม่เกี่ยวข้องด้วย จำเลยทั้งสี่มิได้กระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิดและโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดชลบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยทั้งสี่ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดต่อโจทก์ซึ่งแยกประเด็นที่จะพิจารณาได้สองประเด็น โดยประเด็นแรกเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเดิมเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในกรณีปลอมแปลงเอกสารการประชุมคณะกรรมการสุขาภิบาลครั้งที่ ๑๒/๒๕๔๐ และการที่สุขาภิบาลบ้านสวนได้จ่ายเงินงบกลางประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๐ จำนวน ๗๗๐,๕๐๐ บาท เพื่อซ่อมแซมถนนจำนวน ๒๘ โครงการ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการสุขาภิบาลบ้านสวน โดยจำเลยที่ ๑ ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว และโจทก์อ้างว่าการที่จำเลยที่ ๑ มีความเห็นสรุปรายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงว่าโจทก์ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริตและไม่จงใจปฏิบัติตามระเบียบทางราชการอันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรงนั้น เป็นความเห็นที่ไม่ถูกต้องและเป็นความเท็จทำให้โจทก์ต้องถูกดำเนินคดีอาญาได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง ทำให้ไม่ได้รับการพิจารณาความดีความชอบ เลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งและถูกสั่งย้ายไปรับราชการที่จังหวัดนราธิวาส ทำให้ต้องเดินทางไกลและเสี่ยงอันตรายอย่างร้ายแรง ขอให้ชดใช้ค่าเสียหายต่าง ๆ นั้น การที่โจทก์อ้างว่าไม่ได้รับพิจารณาความดีความชอบ เลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งและถูกโยกย้ายโดยไม่เป็นธรรม อันเนื่องมาจากการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงของจำเลยที่ ๑ นั้น ย่อมถือได้ว่ากรณีดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงและการสรุปความเห็นการสอบสวนข้อเท็จจริงของกรรมการซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครอง จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนประเด็นที่สองนั้นกรณีที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๒ ในฐานะประธานกรรมการสุขาภิบาลบ้านสวนได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๓ แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญากับโจทก์และฟ้องว่าจำเลยที่ ๓ กับจำเลยที่ ๔ ได้ให้การเป็นพยานต่อพนักงานสอบสวนในคดีดังกล่าว ว่าโจทก์กระทำการโดยทุจริต อันเป็นความเท็จทำให้โจทก์ต้องถูกดำเนินคดีอาญา ได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำโดยละเมิดนั้น ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ การที่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อโจทก์และให้การต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าโจทก์กระทำความผิดอาญาจนเป็นเหตุทำให้โจทก์ต้องถูกดำเนินคดีอาญาต่อศาลจังหวัดชลบุรีนั้น เป็นการกระทำในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ และการดำเนินการดังกล่าวเป็นการดำเนินคดีอาญาตามขั้นตอนเพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดอาญา เป็นขั้นตอนที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติไว้โดยเฉพาะ ซึ่งอยู่ในอำนาจการควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม คดีละเมิดนี้โจทก์เรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและปฏิบัติตามขั้นตอนของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเป็นการเฉพาะโดยตรง จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองระยองพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ขณะดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครอง ๕) สังกัดอำเภอเมืองชลบุรี และจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ขณะดำรงตำแหน่งคณะกรรมการสุขาภิบาลบ้านสวน อำเภอเมืองชลบุรี ให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดอันเนื่องมาจากจำเลยที่ ๑ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีที่โจทก์ถูกกล่าวหาว่าปลอมแปลงเอกสารการประชุมคณะกรรมการสุขาภิบาลบ้านสวนและเบิกจ่ายงบกลางประจำปีงบประมาณโดยไม่ได้รับอนุญาตได้สรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่สุขาภิบาลและปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบของทางราชการเป็นเหตุให้เกิดการเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง เสนอต่อผู้บังคับบัญชาในฐานะผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เป็นเหตุให้โจทก์ถูกสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงและถูกดำเนินคดีอาญา และกรณีที่จำเลยที่ ๒ มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๓ ดำเนินคดีอาญากับโจทก์ รวมทั้งจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ได้ให้การเท็จต่อพนักงานสอบสวนในฐานะพยานในการดำเนินคดีอาญาดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายจนถูกดำเนินคดีอาญา ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันรับผิดชอบใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ กรณีจึงเห็นได้ว่าจำเลยทั้งสี่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับแต่งตั้งหรือได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสี่มิได้กระทำการในฐานะส่วนตัว และหากมีความเสียหายเกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยทั้งสี่ก็ต้องถือว่าเป็นการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันเองอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๒๗๖ วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น และมีลักษณะเป็นคดีปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้สรุปได้ว่า เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๑ ขณะจำเลยที่ ๑ ดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอเมืองชลบุรีได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีอำเภอเมืองชลบุรีรายงานว่ามีการปลอมแปลงเอกสารการประชุมคณะกรรมการสุขาภิบาลบ้านสวนครั้งที่ ๑๒/๒๕๔๐ และสุขาภิบาลบ้านสวนได้จ่ายเงินงบกลางประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๐ จำนวน ๗๗๐,๕๐๐ บาท เพื่อซ่อมแซมถนนจำนวน ๒๘ โครงการ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการสุขาภิบาลบ้านสวน คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าวได้สอบสวนและสรุปรายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงเสนอความเห็นกล่าวหาว่าโจทก์ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งปลัดสุขาภิบาลบ้านสวนกระทำผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๑, ๑๕๗ และกระทำผิดวินัยตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๘๕ ซึ่งจำเลยที่ ๑ รู้อยู่แล้วว่าไม่เป็นความจริง จำเลยที่ ๑ กระทำโดยมีเจตนาทุจริตเพื่อให้โจทก์ต้องได้รับโทษทางอาญา ต่อมาจำเลยที่ ๒ ในฐานะประธานกรรมการสุขาภิบาลบ้านสวนในขณะนั้นได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๓ ในฐานะกรรมการสุขาภิบาลบ้านสวนแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญากับโจทก์ และจำเลยที่ ๓ ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าโจทก์ ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริตรู้เห็นเป็นใจในการสั่งการให้บันทึกเพิ่มเติมในรายงานการประชุมครั้งที่ ๑๒/๒๕๔๐ ลงวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๔๐ อันเป็นความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๑, ๑๕๗ และจำเลยที่ ๔ ในฐานะกรรมการสุขาภิบาลบ้านสวนให้การต่อพนักงานสอบสวน กล่าวหาว่า โจทก์เป็นผู้ลงนามอนุมัติจ่ายเงินงบประมาณ ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการสุขาภิบาล บ้านสวนครั้งที่ ๑๒ เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๔๐ นั้น โจทก์ได้เข้าร่วมประชุมด้วยและจะต้องทราบว่าไม่มีการอนุมัติการซ่อมแซมถนน ๒๘ โครงการดังกล่าว คำให้การของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ เป็นความเท็จ การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นเหตุให้โจทก์ต้องถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาต่อศาลจังหวัดชลบุรีข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๑, ๑๕๗ ศาลจังหวัดชลบุรีได้พิจารณาพยานหลักฐานที่นำสืบแล้วเห็นว่า โจทก์ไม่ได้ร่วมกระทำความผิดและพิพากษายกฟ้องเฉพาะโจทก์ เป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๓๐๘๘/๒๕๔๖ โจทก์ได้รับความเสียหายเสื่อมเสียชื่อเสียงอย่างร้ายแรง ถูกตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง ทำให้เสียโอกาสในการพิจารณาความดีความชอบเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งและต้องถูกคำสั่งโยกย้ายราชการจากตำแหน่งปลัดสุขาภิบาลบ้านสวนไปเป็นปลัดสุขาภิบาลหนองตำลึง จังหวัดชลบุรี และถูกย้ายไปเป็นรองปลัดเทศบาลตำบลสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นจังหวัดชายแดนและมีเหตุการณ์ความไม่สงบ เสี่ยงต่ออันตราย ทำให้โจทก์ต้อง เดินทางมาศาลระหว่างพิจารณาของศาลจังหวัดชลบุรีในคดีอาญาที่ถูกฟ้องเป็นเวลาประมาณ ๒ ปี ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าว่าจ้างทนายความในการต่อสู้คดี จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสี่เป็นเงิน จำนวน ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสี่ให้การว่า จำเลยทั้งสี่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้และเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ผู้บังคับบัญชาได้สั่งการและมอบหมายตามกฎหมาย จำเลยทั้งสี่ไม่ได้กลั่นแกล้งใส่ร้ายป้ายสีโจทก์แต่อย่างใด ความเสียหายที่โจทก์อ้างมิใช่ผลอันเกิดจากการกระทำของจำเลยทั้งสี่ การที่โจทก์ถูกตั้งกรรมการสอบสวนวินัย และมีคำสั่งโยกย้ายมิใช่การกระทำของจำเลยทั้งสี่โดยส่วนตัว การที่โจทก์ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาก็เป็นดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม จำเลยทั้งสี่ไม่เกี่ยวข้องด้วย จำเลยทั้งสี่มิได้กระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิดและโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐยื่นฟ้องจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันว่า กระทำละเมิดต่อโจทก์ เรียกค่าเสียหาย โดยคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ทั้งสองศาลเห็นพ้องต้องตรงกันว่าเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง มีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง เมื่อโจทก์ฟ้องว่า เหตุคดีนี้เกิดจากจำเลยที่ ๑ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีที่โจทก์ถูกกล่าวหาว่าร่วมกับบุคคลอื่นปลอมแปลงเอกสารการประชุมคณะกรรมการสุขาภิบาลบ้านสวนและเบิกจ่ายงบกลางประจำปีงบประมาณโดยไม่ได้รับอนุญาต คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าวได้สรุปผล การสอบสวนข้อเท็จจริงเสนอความเห็นต่อผู้บังคับบัญชา เป็นเหตุให้โจทก์ถูกสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงและถูกดำเนินคดีอาญา ต่อมาจำเลยที่ ๒ มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๓ ดำเนินคดีอาญากับโจทก์และบุคคลอื่นตามความเห็นที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเสนอผู้บังคับบัญชา รวมทั้งจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ได้ให้การเท็จต่อพนักงานสอบสวนในฐานะพยานในการดำเนินคดีอาญาดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายจนถูกดำเนินคดีอาญา การดำเนินการของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ล้วนเป็นการกระทำที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงที่กล่าวหาว่าโจทก์กระทำผิดอาญาของคณะกรรมการซึ่งมีจำเลยที่ ๑ เป็นกรรมการและเลขานุการตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชากระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าวจนนำไปสู่การลงโทษทางวินัยและฟ้องร้องดำเนินคดีอาญากับโจทก์จึงเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ จึงมีมูลความแห่งคดีที่เกี่ยวเนื่องกับคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ดังนั้นคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ จึงเป็นกรณีพิพาทที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันมีลักษณะเป็นคดีปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเช่นกัน

จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายสมพงษ์ ปรีชาธนพจน์ โจทก์ นายวิทยา เหรียญแก้ว ที่ ๑ นายบุญเรือน ทรัพย์สมบูรณ์ ที่ ๒ นายไพฑูรย์ พงษ์ประดิษฐ์ ที่ ๓ นายสมมิตร โสภณชีวิน ที่ ๔ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

ติดราชการ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายปัญญา ถนอมรอด) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

คมศิลล์ คัด/ทาน

Share