แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ผู้ได้รับอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารพิพาท คือบริษัทค. ซึ่งจำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการ และมีการปลูกสร้างอาคารดังกล่าวบนที่ดินซึ่งเป็นของบริษัท ค. เองก็ตาม แต่เมื่อจำเลยเป็นผู้ติดต่อว่าจ้างโจทก์ให้ออกแบบตกแต่งภายในโดยไม่ได้แจ้งว่ากระทำการในฐานะเป็นผู้แทนบริษัทเจ้าของอาคาร ดังนี้จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นส่วนตัวตามสัญญานั้น จำเลยได้ว่าจ้างให้ออกแบบตกแต่งภายในอาคารบ้านพักส่วนตัวของจำเลย แล้วจำเลยนำแบบแปลนไฟฟ้าของโจทก์ไปใช้เพียงบางส่วน แต่แบบตกแต่งในกระดาษไขซึ่งเป็นแบบที่ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่มีรายละเอียดของวัสดุที่จะใช้รวมทั้งระยะต่าง ๆ เป็นเพียงแบบเสนอและยังไม่ได้รบอนุมัติจากจำเลย จึงยังไม่มีการนำแบบไปใช้ตกแต่ง ดังนี้ต้องถือว่าโจทก์ทำงานยังไม่แล้วเสร็จเมื่อโจทก์ไม่เขียนแบบต่อไปและมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระค่าจ้าง จำเลยก็ไม่ได้ชำระค่าจ้าง ทั้งโจทก์จำเลยปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยมาโดยมิได้จัดการอย่างหนึ่งอย่างใดพฤติการณ์ของโจทก์จำเลยแสดงให้เห็นว่า โจทก์จำเลยต่างมีเจตนาเลิกสัญญาต่อกันแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 391 โดยจำเลยต้องใช้เงินให้แก่โจทก์ตามควรค่าแห่งการงานของโจทก์ แม้โจทก์จะฟ้องเรียกค่าว่าจ้างทำของ แต่เมื่อศาลเห็นว่าโจทก์สมควรได้เป็นค่าแห่งการงานที่ได้กระทำให้แก่จำเลย ศาลก็มีอำนาจ กำหนดให้โจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ว่าจ้าง โจทก์ออกแบบตกแต่งภายในอาคารอันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย โจทก์ตกลงรับจ้างตามที่จำเลยว่าจ้างโดยดำเนินการไปตามขั้นตอนและวิธีการตามหลักวิชาอย่างถูกต้องครบถ้วน เมื่อออกแบบถึงขั้นตอนใดโจทก์จะนำแบบไปให้จำเลยตรวจสอบแก้ไขยืนยันงานก่อน ซึ่งจำเลยก็ได้ตรวจสอบแบบแล้วอนุมัติให้โจทก์ดำเนินการออกแบบต่อไปทุกครั้ง ระหว่างที่โจทก์ออกแบบนั้น จำเลยสั่งให้นายวิชาญ แซ่โป่ว ผู้รับเหมาตกแต่งภายในมารับแบบแปลนพื้นและแปลนไฟฟ้าซึ่งโจทก์ออกแบบเสร็จแล้ว เพื่อไปดำเนินการวางแปลนพื้นและแปลนไฟฟ้าให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องเหมาะสม จำเลยคาดหมายว่าจะใช้งบประมาณในการตกแต่งภายในอาคารทั้งหมด 10,000,000 บาท ซึ่งโจทก์คิดค่าจ้างจากจำเลยเพียงร้อยละ 10 ของงบประมาณตกแต่งภายในทั้งหมดเป็นเงินค่าจ้าง 1,000,000 บาท โจทก์ทำงานตามที่จำเลยว่าจ้างสำเร็จไปประมาณร้อยละ 70 ของงานออกแบบทั้งหมด โจทก์ขอเบิกเงินค่าจ้างจำนวน 700,000 บาท จากจำเลย จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงยุติการออกแบบไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับเงินค่าจ้าง หลังจากนั้นโจทก์มีหนังสือทวงถาม จำเลยก็ไม่ชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24เมษายน 2536 ซึ่งเป็นวันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 525,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด คือวันที่24 เมษายน 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันฟังได้ยุติว่าจำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทคาลิเบรชั่นออฟเจมส์แฟคตอรี่ จำกัด ผู้ได้รับอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารขึ้นบนที่ดินของบริษัทเองที่ซอยเจริญนคร 30 ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อแรกมีว่า จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ให้ออกแบบตกแต่งภายในอาคารดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่า นอกจากพยานโจทก์จะยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ให้ออกแบบตกแต่งภายในแล้ว โจทก์ยังมีนางเสาวนีย์ ซึ่งเป็นผู้จัดการบริษัทเอสเอสซีอาคิเทค จำกัดที่คู่ความรับกันว่าเป็นผู้ออกแบบแปลนก่อสร้างบ้านให้จำเลยเบิกความว่า จำเลยในฐานะส่วนตัวได้ว่าจ้างให้บริษัทเอสเอสซีอาคิเทค จำกัดออกแบบบ้านให้จำเลย ได้ระบุไว้ในแบบก่อสร้างตามเอกสารหมาย จ.2ว่า เป็นบ้านพักอาศัยของจำเลย และจำเลยได้จ่ายค่าจ้างออกแบบให้แล้วประมาณร้อยละ 75 เห็นได้ว่าเป็นการว่าจ้างในฐานะส่วนตัวของจำเลยในลักษณะเดียวกันกับที่ว่าจ้างโจทก์ แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าผู้ได้รับอนุญาตจากเขตคลองสานให้ปลูกสร้างอาคารดังกล่าวได้เป็นบริษัทคาลิเบรชั่นออฟ เจมส์แแฟคตอรี่ จำกัด ซึ่งจำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการ ตามใบอนุญาตเอกสารหมาย ล.1 และ ล.3 และปลูกสร้างบนที่ดินซึ่งเป็นของบริษัทเองก็ตาม แต่ผู้ว่าจ้างให้ออกแบบตกแต่งภายในไม่จำเป็นจะต้องเป็นเจ้าของอาคารและที่ดินเสมอไป เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้ติดต่อว่าจ้างโจทก์ให้ออกแบบตกแต่งภายในโดยไม่ได้แจ้งว่ากระทำการในฐานะเป็นผู้แทนบริษัทเจ้าของอาคาร จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์
ปัญหาต่อไปตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยจะต้องรับผิดจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า นางเสาวนีย์พยานโจทก์เองเบิกความว่า รูปภาพตามเอกสารหมาย จ.9 ภาพที่ 1 ถึงภาพที่ 4 เป็นแบบการเดินสายไฟในบ้านของจำเลยซึ่งนางเสาวนีย์เคยออกแบบไว้ แต่ทราบภายหลังว่าโจทก์เปลี่ยนแปลงการเดินสายไฟใหม่ซึ่งคิดคำนวณได้ประมาณร้อยละ 7 ของงบประมาณ แบบตกแต่งตามเอกสารหมาย จ.7 คัดลอกมาจากแบบสถาปัตย์บางส่วนเป็นแบบลอย ๆยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่สามารถตีราคาได้ ตามลักษณะแบบดังกล่าวถือว่ายังไม่ได้รับอนุมัติจากผู้ว่าจ้าง หากนางเสาวณีย์ เป็นผู้จัดทำจะไม่คิดค่าจ้างออกแบบ ส่วนแบบตกแต่งตามเอกสารหมาย จ.3จ.4 และ จ.5 เป็นแบบทัศนียภาพ จะต้องไปจัดทำรายละเอียดอีกครั้งหนึ่งซึ่งจะต้องระบุการใช้วัสดุทุกชนิด และจะต้องมีระยะต่าง ๆ ครบถ้วนจึงจะถือว่าเป็นแบบที่สมบูรณ์ สรุปได้ว่าเป็นเพียงแบบเสนอจะคิดค่าว่าจ้างได้เฉพาะการเขียนรูปเท่านั้น นายวิชาญพยานจำเลยผู้รับจ้างตกแต่งภายในให้จำเลยเบิกความว่า โจทก์รับช่วงงานออกแบบไฟฟ้า ประปา ฝ้าเพดานและพื้นจากนางเสาวนีย์ นายวิชาญเซ็นรับแบบไฟฟ้าจากโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.8 แต่ไม่ตรงกับแบบที่นางเสาวนีย์เขียนไว้ ทำให้วางสายไฟได้เพียงบางส่วน รายละเอียดตามเอกสารหมาย จ.9 ภาพที่ 1 ถึงภาพที่ 5 แบบที่ได้รับมามีเพียงร้อยละ 10 ของแบบไฟฟ้าทั้งหมด นายวิชาญได้ทำฝ้าภายนอกอาคารบางส่วนภายหลังทราบว่าโจทก์จำเลยขัดใจกัน โจทก์ไม่ได้เขียนแบบต่อไปนายวิชาญจึงหยุดทำงานตั้งแต่นั้นมา ในการเดินเผชิญสืบของศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณา ฉบับลงวันที่ 22 มีนาคม 2538 ว่าขณะเดินเผชิญสืบบ้านสร้างเสร็จเพียงโครงสร้าง ส่วนภายในทั้งชั้นล่างและชั้นบนยังไม่มีการตกแต่ง ไม่ได้ติดฝ้า ใต้เพดานบ้านชั้นล่างห้องโถงมีการเดินสายไฟทิ้งไว้รวม 3 ห้อง ชั้นบนซึ่งมี 6 ห้องนอนมีการเดินท่อร้อยสายไฟไว้ตามภาพเอกสารหมาย จ.9 เมื่อนับจากวันที่นายวิชาญรับแบบแปลนพื้นและแปลนไฟฟ้าไปจากโจทก์ เมื่อวันที่ 15พฤษภาคม 2535 ตามใบรับเอกสารหมาย จ.8 จนถึงวันที่ศาลชั้นต้นเดินเผชิญสืบเป็นเวลาเกือบ 3 ปี ยังไม่ได้มีการตกแต่งภายในคงมีเพียงการเดินสายไฟและท่อร้อยสายไฟบางห้อง แสดงให้เห็นว่าจำเลยเพียงนำแบบแปลนไฟฟ้าของโจทก์ไปใช้เพียงบางส่วนตรงกับที่นายวิชาญเบิกความ ส่วนแบบตกแต่งในกระดาษไขเอกสารหมาย จ.7 เป็นแบบที่ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่มีรายละเอียดของวัสดุที่จะใช้รวมทั้งระยะต่าง ๆ ถือเป็นเพียงแบบเสนอยังไม่ได้รับอนุมัติจากผู้ว่าจ้างตามคำของนางเสาวนีย์ จึงยังไม่มีการนำแบบไปใช้ตกแต่ง ถือว่าโจทก์ทำงานยังไม่แล้วเสร็จ เมื่อโจทก์ไม่เขียนแบบต่อไป และให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระค่าจ้าง จำเลยก็ไม่ชำระค่าจ้างทั้งโจทก์จำเลยปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยมาโดยมิได้จัดการอย่างหนึ่งอย่างใด พฤติการณ์ของโจทก์จำเลยแสดงให้เห็นว่า โจทก์จำเลยต่างมีเจตนาเลิกสัญญาต่อกันแล้วและเมื่อเลิกสัญญากันแล้วคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจะต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 โดยจำเลยต้องใช้เงินแก่โจทก์ตามควรค่าแห่งการงานของโจทก์ และเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยใช้ค่าแห่งการงานที่โจทก์ได้กระทำเป็นเงิน 250,000 บาทแม้โจทก์จะฟ้องเรียกค่าว่าจ้าง แต่เมื่อศาลเห็นว่าโจทก์สมควรได้เป็นค่าแห่งการงานที่ได้กระทำให้แก่จำเลย ศาลก็มีอำนาจกำหนดให้โจทก์ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 250,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์