คำวินิจฉัยที่ 59/2547

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕๙/๒๕๔๗

วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๗

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลจังหวัดสุรินทร์
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดสุรินทร์โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาล และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๕ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายประทีป ลาภบุตร ที่ ๑ นายวิชิต มีแก้ว ที่ ๒ นางวิภาดา เต้าทอง ที่ ๓ นายกันศิษฏ์มะกรวัฒนะ ที่ ๔ จำเลย ต่อศาลจังหวัดสุรินทร์ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๕๔/๒๕๔๕ (คดีหมายเลขแดงที่ ๘๙๗/๒๕๔๕) ข้อหาละเมิด เรียกค่าเสียหาย ความว่า จำเลยทั้งสี่รับราชการอยู่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นส่วนราชการของโจทก์ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการพิจารณา ผลการประกวดราคาจ้างเหมาขุดลอกหนองโครงการปฏิรูปที่ดินเขตทุ่งกุลาร้องไห้ระยะที่ ๓ อำเภอ ชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ มีหน้าที่ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๓๕ ข้อ ๕๐ ในการตรวจสอบคุณสมบัติผู้เสนอราคา ใบเสนอราคาเอกสารหลักฐาน พิจารณาคัดเลือกสิ่งของหรืองานจ้างหรือคุณสมบัติของผู้เสนอราคา รายงานผลการพิจารณาและความเห็นพร้อมเอกสารที่ได้รับทั้งหมดต่อหัวหน้าส่วนราชการ จำเลยที่ ๔ มีตำแหน่งเป็นปฏิรูปที่ดินจังหวัด เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุและเป็นผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ มีหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติงานของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๓๕ อย่างเคร่งครัด เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๓๘ อันเป็นวันกำหนดยื่นซองประกวดราคา จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ได้พิจารณาผลการประกวดราคาที่มี ผู้ยื่นซองรวม ๘ ราย แล้วมีความเห็นว่า ผู้ยื่นซองประกวดราคาจำนวน ๖ ราย เสนอราคาไม่ถูกต้อง จึงไม่รับพิจารณา และมีผู้ยื่นซองประกวดราคาถูกต้องตามเงื่อนไข ๒ ราย คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัดสุรินทร์ประสานมิตร เสนอราคา ๔,๑๗๕,๘๐๐ บาท และห้างหุ้นส่วนจำกัดท่าตูมสรรพกิจ เสนอราคาไว้ ๒ แห่ง แห่งที่หนึ่งเขียนเสนอราคาไว้ในช่องตามแบบพิมพ์ แผ่นที่ ๑ ของใบเสนอราคาโดยเสนอราคาเป็นเงิน ๔,๗๑๘,๑๔๕ บาท ส่วนแห่งที่สองเขียนไว้ที่ด้านล่างของใบเสนอราคาแผ่นที่สอง โดยมีข้อความว่า ห้างฯ ยินดีลดราคาให้คงเหลือเป็นเงินทั้งสิ้น ๓,๗๓๕,๙๑๐ บาท ต่อมาจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ได้ทำบันทึกข้อความ ลงวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๓๘ ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ผ่านจำเลยที่ ๔ ให้คัดเลือก ห้างหุ้นส่วนจำกัดสุรินทร์ประสานมิตร เป็นผู้รับจ้างขุดลอกหนองดังกล่าวโดยจำเลยที่ ๔ ได้บันทึกเสนอความเห็นถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๓๘ ว่าจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ได้พิจารณาถูกต้องตามระเบียบพัสดุและประกาศและได้ปรึกษากองกฎหมาย สำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว เห็นควรอนุมัติจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดสุรินทร์ประสานมิตร ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ได้ลงนามอนุมัติให้ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดสุรินทร์ประสานมิตรเป็นผู้รับจ้างขุดลอกหนองน้ำ เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๓๘ ตามเสนอ การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งโดยจงใจหรือประมาท ไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๓๕ ข้อ ๕๐ เป็นเหตุให้โจทก์เสียหายเป็นเงิน ๔๓๔,๐๙๐ บาท โจทก์ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งและทำการสอบสวนแล้ว จึงได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๔ จึงได้มีคำสั่งเรียกให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉย จึงขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๔๓๔,๐๙๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันละเมิดจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน ๒๒๒,๗๓๘ บาท และให้เสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ และในฐานะหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุของจำเลยที่ ๔ ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยเคร่งครัด มิได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออันเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายแต่ประการใด และคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ความรับผิดทางละเมิดเห็นว่าจำเลยทั้งสี่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๓๕ สมควรยุติเรื่องซึ่งตรงกับผลการสอบสวนทางวินัยโดยคณะกรรมการกลางของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อ.ก.พ.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เห็นสมควรยุติเรื่องเช่นกัน แต่กรมบัญชีกลางไม่เห็นด้วยและได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์เรียกให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกัน รับผิดชดใช้ค่าเสียหาย โจทก์ได้มีคำสั่งเรียกให้จำเลยทั้งสี่ชดใช้ค่าเสียหายตามบันทึกข้อความที่ กษ ๑๒๐๓/ว๔๖๑ ลงวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๔ จำเลยทั้งสี่เห็นว่าคำสั่งเรียกให้ชดใช้เงินดังกล่าว เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่เป็นธรรมจึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๕๖๑/๒๕๔๔ จำเลยทั้งสี่ได้โต้แย้งคำวินิจฉัยให้ชดใช้เงินไปยังอธิบดีกรมบัญชีกลาง โดยได้รับ คำชี้แจงว่าเพื่อให้ได้ข้อยุติที่เกิดความเป็นธรรมให้รอผลคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง แต่โจทก์กลับมาฟ้องเป็นคดีนี้โดยมิได้ปฏิบัติตามความเห็นของกรมบัญชีกลาง อีกทั้งเห็นว่าเป็นคดีที่ขาด อายุความ ขอให้ศาลยกฟ้อง
จำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องโต้แย้งอำนาจศาลว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของ ศาลปกครอง
ศาลจังหวัดสุรินทร์พิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์เป็นหน่วยงานทางปกครองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐชดใช้ค่าเสียหายโดยอ้างว่าจำเลยทั้งสี่พิจารณาผลการประกวดราคาโดยไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย การพัสดุ พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นเหตุให้ทางราชการเสียหาย จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น รวมทั้งเป็นคดีพิพาทที่หน่วยงานของรัฐเป็นโจทก์เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นจำเลย ตามคำนิยามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ อีกด้วย ซึ่งการฟ้องคดีของโจทก์เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๕ หลังจากแจ้งจำเลยให้ชดใช้สินไหมทดแทนในวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๔ ก่อนครบ ๑ ปี นับแต่วันที่โจทก์มีคำสั่งถึงจำเลยตามความเห็นของกรมบัญชีกลางเป็นไปตามมาตรา ๑๑ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้ แต่ปัจจุบัน ศาลปกครองได้ทำหน้าที่แทนคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกาตามมาตรา ๑๑ ที่จำเลยทั้งสี่ใช้สิทธิฟ้องคดีหรือร้องทุกข์ไปยังศาลปกครองขอให้พิจารณาคำสั่ง ดังกล่าวว่าไม่เป็นธรรม และความในมาตรา๑๒ แห่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวยังได้บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐที่เสียหายมีอำนาจออกคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ของรัฐคือจำเลยทั้งสี่ชำระเงินได้ภายในเวลากำหนดหลังจากทราบผลคำพิพากษาของศาลปกครอง ดังนั้นการที่โจทก์นำคดีมาฟ้องศาลยุติธรรมในข้อหาละเมิดและเรียกค่าเสียหายให้จำเลยทั้งสี่รับผิดอีก จึงเป็นเรื่องที่กระทำมิได้ เพราะมีกฎหมายบัญญัติเฉพาะถึงอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครองไว้แล้วถึง ๒ ฉบับ โดยเฉพาะตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโจทก์ ได้ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน ๔๓๔,๐๙๐ บาท ข้อหากระทำละเมิดต่อโจทก์เมื่อปี ๒๕๓๘ อันเป็นปีก่อนที่พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่พ.ศ. ๒๕๓๙ จะมีผลใช้บังคับ ดังนั้น ในส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายสารบัญญัติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การพิจารณาความรับผิดของเจ้าหน้าที่ความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม สิทธิไล่เบี้ยหรืออายุความฟ้องคดี จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะกระทำละเมิดนั้น จะนำหลักเกณฑ์สารบัญญัติตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๐ประกอบมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาใช้บังคับหาได้ไม่ แม้การใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ จะเป็นส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายวิธีสบัญญัติซึ่งอาจนำมาใช้บังคับได้ทันทีกับคำสั่งทางปกครองทั่ว ๆ ไป ที่กำหนดให้ผู้ใดชำระเงินได้ก็ตาม แต่เนื่องจากมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ไว้ชัดแจ้งว่าการจะอาศัยอำนาจวิธีสบัญญัติเพื่อออกคำสั่งทางปกครองเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นชำระเงินค่าสินไหมทดแทนภายในเวลาที่กำหนดตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๒ดังกล่าวได้ จะต้องเข้าหลักเกณฑ์กฎหมายสารบัญญัติตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๐ ประกอบมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวเสียก่อน เมื่อข้อเท็จจริง ปรากฏว่า ข้อกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสี่กระทำละเมิดต่อโจทก์จะต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่อาจบังคับตามมาตรา ๑๐ ประกอบมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติ ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้เสียแล้ว โจทก์จึงไม่อาจอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๒ ประกอบมาตรา ๘ และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ออกคำสั่งทางปกครองเรียกให้จำเลยทั้งสี่ชำระเงินค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวภายในเวลาที่กำหนดเพื่อนำไปสู่การใช้มาตรการบังคับทางปกครองด้วยการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ดังกล่าวได้ โจทก์จะต้องใช้สิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวในทางแพ่งต่อศาลยุติธรรมเท่านั้น แม้จะได้ความว่าในการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งจะดำเนินการสอบสวนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ ก็ตาม แต่การดำเนินการดังกล่าวก็เป็นเพียงการยืมระเบียบดังกล่าวมาใช้แทนระเบียบความรับผิดของข้าราชการในทางแพ่ง ซึ่งออกตามมติคณะรัฐมนตรีโดยหนังสือสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่ นว ๑๕๕/๒๕๐๓ ลงวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ ที่ถูกยกเลิกไปทั้งนี้เพียงเท่าที่จะให้โจทก์ รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่งแก่ทางราชการเท่านั้น หามีผลทำให้การสอบสวนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ดังกล่าวกลายเป็นการสอบสวนตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ที่จะทำให้โจทก์มีอำนาจออกคำสั่งทางปกครองเรียกให้ จำเลยทั้งสี่ในฐานะเจ้าหน้าที่ชำระเงินค่าสินไหมทดแทนภายในเวลาที่กำหนดตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวเพื่อนำไปสู่การใช้มาตรการบังคับทางปกครองด้วยการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตามมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธิปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ แต่อย่างใดไม่ เมื่อคำสั่งของโจทก์สั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลังให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทางราชการไม่มีสภาพบังคับเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ที่จะนำไปสู่การใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ดังนั้นการใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของโจทก์จากจำเลยทั้งสี่ในคดีนี้จึงไม่เป็นคดีปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีแพ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ตามมาตรา ๒๗๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๔๐
ต่อมาศาลปกครองกลางได้ทำความเห็นเพิ่มเติมลงวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๔๗ ว่าคดีนี้ แม้โจทก์จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง และจำเลยทั้งสี่จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓และการฟ้องให้จำเลยทั้งสี่รับผิดในการกระทำละเมิดจะอยู่ในความหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์และจำเลยทั้งสี่ต่างอยู่ในฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐตามลำดับ ตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ และปรากฏว่าการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยทั้งสี่เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ จะมีผลใช้บังคับ จึงไม่อาจบังคับตามหลักกฎหมายสารบัญญัติมหาชนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐ ประกอบมาตรา ๘ เพื่อใช้อำนาจตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ออกมาตรการบังคับทางปกครองตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ กับจำเลยทั้งสี่ได้ หากแต่จะต้องใช้สิทธิทางศาลฟ้องบังคับให้รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมซึ่งเป็นหลักกฎหมายสารบัญญัติเอกชนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ข้อหาละเมิดที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมดังกล่าว จึงเป็นข้อหาละเมิดใน ทางแพ่งอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม มิใช่ข้อหาละเมิดทางปกครองที่ให้แต่ละคนรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะส่วนของตนที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบมาตรา ๑๐ และมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คือ คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา๒๗๖ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือ ในกำกับดูแลของรัฐบาลกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลด้วยกัน ซึ่งเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หรือเนื่องจากการกระทำหรือ การละเว้นการกระทำที่หน่วยราชการหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ” และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎคำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
สำหรับคดีนี้ โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนจำเลยทั้งสี่รับราชการอยู่ในสังกัดของโจทก์จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้ สรุปได้ว่า จำเลยทั้งสี่รับราชการอยู่ในสังกัดของโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง โดยจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาจ้างเหมาขุดลอกหนองโครงการปฏิรูปที่ดินเขตทุ่งกุลาร้องไห้ระยะที่ ๓ แต่ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ทำการพิจารณาผลการประกวดราคา โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นเหตุให้ทางราชการเสียหายส่วนจำเลยที่ ๔ เป็นผู้บังคับบัญชาและมีหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๓๕ แต่ไม่ควบคุมดูแล การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ต่อมา โจทก์ได้มีคำสั่งเรียกให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย แต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉยจึงฟ้องขอให้ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว กรณีจึงถือได้ว่าเป็นคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเป็นมูลคดีเกี่ยวกับการกระทำละเมิดโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗๖ ในเรื่องนี้ แม้มูลคดีพิพาทจะเกิดขึ้นก่อนพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙มีผลใช้บังคับ แต่เมื่อลักษณะแห่งคดีเป็นคดีปกครอง โจทก์ฟ้องคดีหลังจากพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ใช้บังคับและศาลปกครองเปิดทำการแล้วกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นที่กำหนดในบทเฉพาะกาล มาตรา ๑๐๕ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดี ระหว่าง สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โจทก์นายประทีป ลาภบุตร ที่ ๑ นายวิชิต มีแก้ว ที่ ๒ นางวิภาดา เต้าทอง ที่ ๓ นายกันศิษฏ์ มะกรวัฒนะ ที่ ๔ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลปกครองกลาง

(ลงชื่อ) ศุภชัย ภู่งาม (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายศุภชัย ภู่งาม) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท วิรัตน์ บรรเลง (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(วิรัตน์ บรรเลง) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share