แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕๘/๒๕๔๗
วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีศาลที่รับฟ้องคดีเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจ และศาลที่ส่งความเห็นและรับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๔ กรมเจ้าท่า โจทก์ ยื่นฟ้องนายอำพล ตียาภรณ์ ที่๑ กับพวก รวม ๕ คน จำเลย ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๗๙๐/๒๕๔๔ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย อันเนื่องมาจากจำเลยทั้งห้าซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นข้าราชการในสังกัดโจทก์ ปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณาเสนอความเห็นให้มีการต่ออายุสัญญาแก่บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้รับจ้าง ขัดต่อระเบียบของทางราชการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๓๒ โจทก์ทำสัญญาจ้างเหมาผู้รับจ้างให้ทำการขุดลอกร่องน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีกำหนดเวลาตั้งแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๓ ถึงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ ต่อมาผู้รับจ้างได้ทำหนังสือถึงจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ซึ่งเป็นคณะกรรมการตรวจการจ้าง ขอขยายเวลาการทำงานโดยอ้างเหตุสุดวิสัย จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ได้ร่วมกันพิจารณาและเสนอความเห็นต่อจำเลยที่ ๑ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมเจ้าท่า ในฐานะผู้บังคับบัญชาโดยผ่านจำเลยที่ ๒ ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายนิติการว่าควรต่ออายุสัญญาให้แก่ผู้รับจ้างตามที่ผู้รับจ้างร้องขอ โดยอ้างว่าเรือขุดลอกจีเซลล่าถูกมรสุมจมลงอันเป็นเหตุสุดวิสัยทำให้ผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานต่อไปได้ทั้งที่จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ทราบดีว่าผู้รับจ้างยังสามารถใช้เรือลำอื่นปฏิบัติงานแทนได้ กรณีจึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัย อันเป็นการขัดต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๒๑ ข้อ๖๔ตรี ส่วนจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ก็มิได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์ในการพิจารณาต่ออายุสัญญาดังกล่าว โดยต่างมีความเห็นว่าควรต่ออายุสัญญาจ้างตามข้ออ้างของผู้รับจ้างและตามรายงานของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ เป็นเหตุให้ปลัดกระทรวงคมนาคมอนุมัติให้ต่อสัญญาให้ผู้รับจ้าง ๒๙ วัน ตามความเห็นของจำเลยทั้งห้า ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่อาจเรียกร้องค่าปรับจากผู้รับจ้างที่ส่งมอบงานเกินกำหนดเวลาตามสัญญาเป็นเวลา ๒๙ วัน อัตราค่าปรับวันละ ๓๖,๔๐๐ บาท คิดเป็นเงินค่าปรับ ๑,๐๕๕,๖๐๐ บาท ก่อนฟ้องคดีโจทก์ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งและส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังพิจารณาซึ่งกระทรวงการคลังเห็นว่า การต่ออายุสัญญาดังกล่าวไม่ชอบด้วยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๒๑ ข้อ ๖๔ ตรี (๓) และสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับผู้รับจ้าง ข้อ ๖ โดยเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับการต่อสัญญาจะต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ทางราชการในกรณีที่ไม่ได้รับค่าปรับ ซึ่งโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งห้านำเงินจำนวน ๑,๐๕๕,๖๐๐ บาทมาชำระแล้วแต่จำเลยทั้งห้าเพิกเฉย
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ได้ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย ภายในกรอบของกฎหมายตามระเบียบและคำสั่งของทางราชการทุกประการ จำเลยที่ ๑ ได้เสนอความเห็นไปยังกระทรวงคมนาคมตามที่เจ้าหน้าที่ได้เสนอมาเป็นลำดับโดยสุจริตและโดยชอบด้วยหน้าที่ ทั้งการต่ออายุสัญญาจ้างให้แก่ผู้รับจ้างตามฟ้องไม่ได้อยู่ในอำนาจของโจทก์ที่จะอนุมัติหรือไม่อนุมัติ แต่อำนาจดังกล่าวเป็นอำนาจของปลัดกระทรวงคมนาคม การกระทำของจำเลยที่ ๑ จึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ ได้เสนอความเห็นโดยพิจารณาตามข้อสัญญาที่โจทก์กับผู้รับจ้างได้ทำกันไว้ก่อนแล้ว ประกอบกับจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ และผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องได้เสนอข้อเท็จจริงและความเห็นตามลำดับบังคับบัญชาซึ่งจำเลยที่ ๒ ก็ได้พิจารณาเสนอความเห็นไปโดยสุจริตและโดยชอบด้วยหน้าที่ มิได้เป็นการช่วยเหลือผู้รับจ้างแต่อย่างใด รวมทั้งมิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ทั้งการที่จะอนุมัติให้ผู้รับจ้างขยายเวลาออกไปหรือไม่ เป็นอำนาจหน้าที่ของปลัดกระทรวงคมนาคม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๒
จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ เป็นกรรมการตรวจการจ้างไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ผิดระเบียบตามที่โจทก์ฟ้อง แต่ได้เสนอความเห็นโดยอาศัยข้อเท็จจริงตามที่ผู้รับจ้างได้ยกขึ้นอ้างและข้อเท็จจริงอื่นประกอบการพิจารณาเสนอความเห็นต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นการอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้ขยายระยะเวลาอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของจำเลยทั้งห้า
ในระหว่างพิจารณา ศาลแพ่งกรุงเทพใต้เห็นว่า โจทก์เป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นกรมในรัฐบาลสังกัดกระทรวงคมนาคม จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดของโจทก์ว่า จำเลยทั้งห้าได้กระทำการโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อพิจารณาเสนอความเห็นต่อปลัดกระทรวงคมนาคมในกรณีที่บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับจ้างของโจทก์ในการขุดลอกร่องน้ำปากพนังได้ขอขยายระยะเวลาการทำงานตามสัญญาออกไปว่า เห็นควรให้ขยายระยะเวลาการทำงานตามสัญญาให้แก่ผู้รับจ้างดังกล่าว อันเป็นการขัดต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.๒๕๒๑ จนเป็นเหตุให้ปลัดกระทรวงคมนาคมอนุมัติให้มีการต่อสัญญาตามความเห็นของจำเลยทั้งห้า ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่ได้รับค่าปรับจากผู้รับจ้างที่ส่งมอบงานเกินกำหนดเวลากรณีนี้จึงถือได้ว่าเป็นคดีละเมิดระหว่างส่วนราชการกับข้าราชการในสังกัดอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
โจทก์และจำเลยทั้งห้าแถลงไม่คัดค้านที่จะนำคดีไปพิจารณาพิพากษาที่ศาลปกครอง
ศาลปกครองกลางเห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยทั้งห้าเป็นข้าราชการในสังกัดของโจทก์ การกระทำละเมิดของจำเลยทั้งห้าต่อโจทก์เกิดขึ้นเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๓๓-๒๕๓๔ ก่อนที่พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙จะมีผลใช้บังคับ ดังนั้น ในส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายสารบัญญัติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การพิจารณาความรับผิดของเจ้าหน้าที่ ความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม สิทธิไล่เบี้ย หรืออายุความฟ้องคดี จึงต้องบังคับตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะกระทำละเมิดนั้น จะนำหลักเกณฑ์สารบัญญัติตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๐ประกอบมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาใช้บังคับหาได้ไม่ แม้การใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ จะเป็นส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายวิธีสบัญญัติซึ่งอาจนำมาใช้บังคับได้ทันทีกับคำสั่งทางปกครองทั่วๆ ไปที่กำหนดให้ผู้ใดชำระเงินได้ก็ตาม แต่เนื่องจากมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ไว้ชัดแจ้งว่า การจะอาศัยอำนาจวิธีสบัญญัติเพื่อออกคำสั่งทางปกครองเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นชำระค่าสินไหมทดแทนภายในเวลาที่กำหนดตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๒ ได้ จะต้องเข้าหลักเกณฑ์กฎหมายสารบัญญัติตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๐ประกอบมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวเสียก่อน ข้อกล่าวหาของโจทก์ว่าจำเลยทั้งห้ากระทำละเมิดต่อโจทก์จึงต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อจำเลยทั้งห้าไม่ชำระค่าสินไหมทดแทนตามที่ทวงถามโจทก์จึงต้องใช้สิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวในทางแพ่งต่อศาลยุติธรรมเท่านั้น และแม้จะได้ความว่าในการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่ง คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งได้ดำเนินการสอบสวนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงการยืมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าวมาใช้แทนระเบียบความรับผิดชอบของข้าราชการในทางแพ่งซึ่งออกตามมติคณะรัฐมนตรีโดยหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วน ที่ นว ๑๕๕/๒๕๐๓ ลงวันที่ ๑ธันวาคม ๒๕๐๓ ที่ถูกยกเลิกไป เพียงเท่าที่จะให้โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่งและทางราชการเท่านั้น หามีผลทำให้การสอบสวนดังกล่าวกลายเป็นการสอบสวนตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ไม่ เมื่อคำสั่งของโจทก์ที่สั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลังให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทางราชการไม่มีสภาพบังคับเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ที่จะนำไปสู่การใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ การใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งห้าของโจทก์ในคดีนี้ จึงไม่เป็นคดีปกครองที่อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีแพ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ตามมาตรา ๒๗๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่จะต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา๒๗๖ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลด้วยกันซึ่งเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หรือเนื่องจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
คดีนี้ ขณะเกิดเหตุโจทก์เป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นกรมสังกัดกระทรวงคมนาคมตามมาตรา ๒๖ แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๓๔มาตรา๑๖ ส่วนจำเลยทั้งห้าเป็นข้าราชการในสังกัดโจทก์ โจทก์จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองและจำเลยทั้งห้าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙เมื่อข้อเท็จจริงตามฟ้องปรากฏว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้าให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่พิจารณาเสนอความเห็นตามลำดับบังคับบัญชาให้มีการต่ออายุสัญญาแก่บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้รับจ้าง ซึ่งเป็นคู่สัญญากับโจทก์ตามสัญญาจ้างเหมาขุดลอกร่องน้ำปากพนังจังหวัดนครศรีธรรมราช ขัดต่อระเบียบราชการ ฝ่าฝืนต่อกฎหมายและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการตรวจการจ้างได้เสนอความเห็นต่อจำเลยที่ ๑ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมเจ้าท่า ในฐานะผู้บังคับบัญชา โดยผ่านจำเลยที่ ๒ ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายนิติการว่าควรต่อสัญญาให้แก่ผู้รับจ้างตามที่ผู้รับจ้างร้องขอ โดยอ้างว่าเรือขุดลอกจีเซลล่าถูกมรสุมจมลงอันเป็นเหตุสุดวิสัยทำให้ผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานต่อไปได้ ทั้งที่จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ก็ทราบดีว่าผู้รับจ้างยังสามารถใช้เรือลำอื่นปฏิบัติงานแทนได้ ซึ่งโจทก์เห็นว่า กรณีดังกล่าวไม่ใช่เหตุสุดวิสัยการกระทำของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ เป็นการขัดต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๒๑ ข้อ ๖๔ ตรี ที่บัญญัติว่า การต่ออายุสัญญาโดยงดหรือลดค่าปรับให้แก่ผู้รับจ้างจะกระทำได้เฉพาะกรณีเป็นเหตุเกิดจากความผิดของฝ่ายผู้ว่าจ้างหรือเป็นเหตุสุดวิสัยหรือเป็นเหตุเกิดจากพฤติการณ์อันหนึ่งอันใดที่ผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย ส่วนจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มิได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์ในการพิจารณาเสนอความเห็น เป็นเหตุให้ปลัดกระทรวงคมนาคมอนุมัติให้ต่อสัญญาตามความเห็นของจำเลยทั้งห้า ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งห้าให้การในทำนองเดียวกันว่า จำเลยทั้งห้าได้ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย ภายในกรอบของกฎหมายตามระเบียบและคำสั่งของทางราชการแล้ว คดีนี้จึงเป็นกรณีพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗๖ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙วรรคหนึ่ง (๓) แม้มูลคดีพิพาทจะเกิดขึ้นก่อนพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มีผลใช้บังคับ แต่เมื่อลักษณะแห่งคดีเป็นคดีปกครอง โจทก์ฟ้องคดีหลังจากพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ใช้บังคับและศาลปกครองเปิดทำการแล้ว กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นที่กำหนดในบทเฉพาะกาล มาตรา ๑๐๕แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง กรมเจ้าท่า โจทก์ นายอำพล ตียาภรณ์ ที่ ๑
นายทวีโรจน์ วินมูน ที่ ๒ เรือตรี ประเวช รักแผน ที่ ๓ นายพงษ์วรรณ จารุเดชา ที่ ๔ นายสุริยา แต้ภักดี ที่ ๕ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลปกครองกลาง
(ลงชื่อ) ศุภชัย ภู่งาม (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายศุภชัย ภู่งาม) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท วิรัตน์ บรรเลง (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(วิรัตน์ บรรเลง) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
๗