คำวินิจฉัยที่ 57/2547

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕๗/๒๕๔๗

วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๗

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๙

ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีศาลที่รับฟ้องคดีเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
บริษัท จัตุรัสมันสำปะหลัง จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง องค์การคลังสินค้า จำเลย ต่อศาลแพ่งรวม ๒ คดี คดีแรกเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๘๙๗/๒๕๔๕ ความว่า เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม๒๕๔๔ โจทก์ ทำสัญญาซื้อมันสำปะหลังเส้นจากจำเลยจำนวน ๒ ฉบับ เป็นมันสำปะหลังเส้นจำนวน๔๙,๖๗๘.๓๘ ตัน ราคาตันละ ๒,๑๖๐ บาท โดยจำเลยตกลงจะส่งมอบมันสำปะหลังเส้นคุณภาพดีตามมาตรฐานของมันสำปะหลังเส้นทั่วไป คือแป้งไม่น้อยกว่าร้อยละ ๖๕ ของน้ำหนักความชื้นไม่เกินร้อยละ ๑๔ ของน้ำหนัก ทรายไม่เกินร้อยละ ๓ ของน้ำหนัก และเส้นใยไม่เกินร้อยละ ๕ ของน้ำหนัก ให้แก่โจทก์ ซึ่งขณะทำสัญญาซื้อขายกันนั้นมันสำปะหลังเส้นดังกล่าวเก็บรักษาไว้ที่คลังสินค้าเกษตรเพิ่มพูนทรัพย์ หลังที่ ๑ – ๓ เลขที่ ๖๐ ตำบลวะตะแบก อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ โดยจำเลยจะชั่งน้ำหนักและส่งมอบ มันสำปะหลังเส้นภายใน ๓ วัน นับแต่วันที่โจทก์ชำระเงินเป็นงวด ๆ ไปจนกว่าโจทก์จะได้รับมันสำปะหลังเส้นครบถ้วนตามสัญญาซื้อขาย และเพื่อเป็นหลักประกันว่าโจทก์จะปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว โจทก์ได้มอบเงินสด จำนวน ๕,๓๖๕,๒๗๕ บาท ให้จำเลยยึดถือไว้เป็นหลักประกัน ต่อมาเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๔๔ จำเลยส่งมอบมันสำปะหลังเส้นให้โจทก์ ๒,๐๐๐ ตัน แต่โจทก์ไม่สามารถจำหน่ายแก่ลูกค้าได้ เพราะมันสำปะหลังเส้นดังกล่าวไม่มีคุณภาพตามสัญญาซื้อขายและตามมาตรฐานทั่วไปของมันสำปะหลังเส้นที่ซื้อขายกันในท้องตลาด ถือว่าจำเลยผิดสัญญาทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและ ให้จำเลยคืนเงินประกันดังกล่าว แต่จำเลยเพิกเฉย จึงขอให้ศาลบังคับจำเลย ให้ชำระเงินจำนวน ๕,๔๐๐,๕๕๓ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงินจำนวน ๕,๓๖๕,๒๗๕ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระหนี้เสร็จ
คดีหลัง โจทก์โดยนายเทียนชัย กิตติสุรินทร์ ยื่นฟ้องจำเลย เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๐๕๗/๒๕๔๕ ความว่า เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๔๔ โจทก์โดยนางฐิติรัตน์ ถนัดค้าจิรโชติตัวแทนเชิด ได้ทำสัญญารับฝากเก็บรักษามันสำปะหลังเส้นของจำเลยไว้ ณ คลังสินค้าหลังที่ ๑ – ๔ เลขที่๒๐๒ หมู่ที่ ๑๓ ตำบลบ้านกอก อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ มีกำหนด ๖ เดือน หากครบกำหนดแล้วจำเลยยังไม่ได้นำสินค้าออก โจทก์ยินยอมรับฝากต่อไปจนกว่าจำเลยจะได้รับคืนไปครบถ้วน ตกลงค่าฝากสินค้าเมตริกตันละ ๒๑.๙๐ บาท ต่อเดือน ค่าขนย้ายสลับหมุนเวียนเพื่อรักษาคุณภาพสินค้าทุก๓เดือน (ค่าพลิกกองสินค้า) เมตริกตันละ ๑๖ บาท จำเลยนำมันสำปะหลังเส้นเข้าฝากเก็บไว้ ณคลังสินค้าดังกล่าวจำนวน ๔๙,๖๘๐ เมตริกตัน จนครบ ๖ เดือน แล้วยังไม่นำออกไป ถือว่าจำเลยคงฝากสินค้าต่อไปภายใต้สัญญาเดิม ต่อมาจำเลยนำมันสำปะหลังเส้นออกไป ๒,๐๐๐ เมตริกตันคงเหลือ๔๗,๖๘๐ เมตริกตัน แต่จำเลยไม่ชำระค่าฝากสินค้าหรือค่าพลิกกองสินค้าให้โจทก์ โจทก์ทวงถาม แต่จำเลยเพิกเฉย จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระเงินจำนวน ๑๕,๓๘๓,๖๔๖ บาท พร้อมดอกเบี้ย และชำระค่าฝากสินค้าอีกเดือนละ ๑,๐๔๔,๑๙๒ บาท นับแต่ วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะขนย้ายสินค้าออกไปจนหมด
ระหว่างพิจารณาศาลแพ่งเห็นว่า มีปัญหาว่าคดีทั้งสองสำนวนจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแพ่งหรือศาลปกครอง โดยคู่ความแถลงว่า มันสำปะหลังเส้นตามสัญญาซื้อขายและสัญญาฝากทรัพย์เป็นมันสำปะหลังเส้นจำนวนเดียวกัน เก็บไว้ที่คลังสินค้าเลขที่ ๒๐๒ หมู่ที่ ๑๓ตำบลบ้านกอก อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ ศาลแพ่งจึงมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาคดีทั้งสองเข้าด้วยกันเพื่อทำความเห็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยเป็นองค์การของรัฐบาล สังกัดกระทรวงพาณิชย์จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ให้ดำเนินการตามโครงการรับจำนำผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ปี ๒๕๔๓/๒๕๔๔ เพื่อยกระดับราคา หัวมันสำปะหลังสด ให้ประโยชน์ตกถึงเกษตรกร โดยร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรในการรับจำนำ มีจำเลยเป็นผู้รับฝากผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเก็บไว้ในคลังสินค้าที่กำหนด และนำ ใบประทวนสินค้าที่จำเลยออกให้ไปจำนำกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หลังจากนั้น ให้จำเลยเป็นผู้จำหน่ายมันสำปะหลังที่เกษตรกร ไม่มาไถ่ถอนต่อไปโดยมีโจทก์ทั้งสองสำนวนเข้าร่วมโครงการรับจำนำผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ดังนั้นการทำสัญญาฝากทรัพย์และซื้อขายมันสำปะหลังเส้นดังกล่าว จึงเป็นกระบวนการยกระดับราคามันสำปะหลัง สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่หน่วยงานทางปกครองตกลงให้บุคคลผู้กระทำการแทนรัฐเข้าร่วมดำเนินการบริการสาธารณะโดยตรง ถือเป็นสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะอันเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่โจทก์ในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่๘๙๗/๒๕๔๕ ฟ้องว่า จำเลยทำผิดสัญญาซื้อขายมันสำปะหลัง ขอให้จำเลยคืนเงินประกันแก่โจทก์และโจทก์ในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๐๕๗/๒๕๔๕ ฟ้องว่า จำเลยผิดสัญญาฝากเก็บรักษา มันสำปะหลังเส้น ขอให้จำเลยชำระค่าฝากเก็บสินค้าและค่าพลิกกองสินค้าแก่โจทก์ ซึ่งศาลแพ่งได้มีคำสั่งให้รวมการพิจารณาคดีทั้งสองสำนวนเข้าด้วยกัน จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายมันสำปะหลังเส้น และคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาฝากเก็บรักษามันสำปะหลังเส้นตามลำดับ ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไป คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทั้งสองฉบับเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองอันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือไม่ เห็นว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ. ๒๔๙๘ มีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการบริการสาธารณะทำกิจการทั้งปวงเกี่ยวกับสินค้าเกษตร และสินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภค นอกจากนั้น คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ ๑๕/๒๕๔๓ เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน๒๕๔๓ ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรและจำเลยดำเนินการตามโครงการรับจำนำผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังปี ๒๕๔๓/๒๕๔๔ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร โดยให้จำเลยรับฝากเก็บผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลังไว้ในคลังสินค้าที่กำหนด และออกใบประทวนสินค้าให้แก่เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกร ผู้ฝากเก็บ เพื่อนำไปจำนำไว้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เมื่อพ้นกำหนดไถ่ถอนแล้ว ให้จำเลยดำเนินการจำหน่ายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่เกษตรกรไม่มาไถ่ถอน และให้โอนหนี้เกษตรกรที่จำนำใบประทวนสินค้าเป็นหนี้ของจำเลย โดยที่คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุนรวม เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร พ.ศ. ๒๕๓๔ มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการบริการสาธารณะเกี่ยวกับการพิจารณาเสนอแนะนโยบายและมาตรการเกี่ยวกับการวางระบบช่วยเหลือเกษตรกรต่อคณะรัฐมนตรี กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการช่วยเหลือเกษตรกร กำหนดมาตรการและเงื่อนไข การให้ความช่วยเหลือด้านการตลาดสินค้าเกษตรและปัจจัยการผลิต พิจารณากำหนดสินค้าเกษตรและราคาเป้าหมายนำ พิจารณาอนุมัติการใช้เงินตามวัตถุประสงค์ของระเบียบนี้ การที่คณะกรรมการฯ มอบหมายให้จำเลยเข้าร่วมโครงการรับจำนำผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง โดยให้เป็นผู้รับฝากเก็บผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไว้ในคลังสินค้า และออกใบประทวนสินค้าให้แก่เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรผู้ฝากเก็บเพื่อนำไปจำนำไว้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จึงเป็นกรณีคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรมอบหมายให้จำเลยดำเนินการบริการสาธารณะแทนคณะกรรมการ ฯ ดังกล่าว สำหรับสัญญาซื้อขายมันสำปะหลังเส้นแม้จะมีจำเลยซึ่งมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้ขาย แต่สัญญาดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน หรือสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ หรือเป็นสัญญาที่หน่วยงานทางปกครองให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเข้าดำเนินการ หรือเข้าร่วมดำเนินการบริการสาธารณะโดยตรง หรือเป็นสัญญาที่มีข้อกำหนดในสัญญาซึ่งมีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐ ทั้งเพื่อให้ดำเนินกิจการทางปกครองอันเป็นบริการสาธารณะบรรลุผล สัญญาซื้อขายมันสำปะหลังเส้นจึงมิใช่สัญญาทางปกครองแต่อย่างใด ดังนั้น คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาซื้อขาย มันสำปะหลังเส้น (คดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๘๙๗/๒๕๔๕) จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ โดยสัญญาซื้อขายมันสำปะหลังเส้น คู่สัญญาทำขึ้นโดยมุ่งผูกพันด้วยใจสมัครบนพื้นฐานแห่งความเสมอภาค จึงเป็นสัญญาทางแพ่ง ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ส่วนสัญญาฝากเก็บรักษามันสำปะหลังเส้น มีจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้ฝากและโจทก์เป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้รับฝาก จำเลยทำสัญญาดังกล่าวกับโจทก์เนื่องจากจำเลย มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการบริการสาธารณะรับฝากเก็บผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไว้ในคลังสินค้าตามโครงการรับจำนำผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง แต่จำเลยไม่มีคลังสินค้าเพียงพอที่จะรับฝากเก็บผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังตามโครงการรับจำนำผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไว้ได้ทั้งหมด จึงต้องทำสัญญาให้โจทก์ซึ่งเป็นเอกชนรับฝากเก็บผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไว้แทนจำเลย สัญญาฝากเก็บรักษามันสำปะหลังจึงมีลักษณะให้โจทก์เข้าร่วมดำเนินการบริการสาธารณะตามอำนาจหน้าที่ของจำเลย จึงเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาฝากเก็บรักษามันสำปะหลังเส้น (คดีแพ่งหมายเลขดำที่๑๐๕๗/๒๕๔๕) จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติ ฉบับเดียวกัน
โดยที่สำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๘๙๗/๒๕๔๕ เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาซื้อขาย มันสำปะหลังเส้น ส่วนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๐๕๗/๒๕๔๕ เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาฝากเก็บรักษา มันสำปะหลังเส้น ซึ่งเป็นสัญญาต่างฉบับกัน แม้จำเลยในสำนวนคดีทั้งสองจะเป็นรายเดียวกัน แต่โจทก์ในสำนวนคดีทั้งสองต่างรายกัน และคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทั้งสอง สามารถพิจารณาแยกกันได้โดยไม่ต้องรวมการพิจารณาเข้าด้วยกัน ดังนั้นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายมันสำปะหลังเส้นในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๘๙๗/๒๕๔๕ มิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญา ทางแพ่ง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ส่วนคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาฝากเก็บรักษา มันสำปะหลังเส้นในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๐๕๗/๒๕๔๕ เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองโดยเห็นพ้องกับศาลแพ่ง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คือ คดีหมายเลขดำที่ ๘๙๗/๒๕๔๕ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่ง รวม ๒ คดี ดังนี้ คดีแรกเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๘๙๗/๒๕๔๕ โดยตั้งข้อหาว่าจำเลยผิดสัญญาซื้อขายมันสำปะหลังเส้น ส่วนคดีหลังคดีหมายเลขดำที่ ๑๐๕๗/๒๕๔๕ โดยโจทก์ตั้งข้อหาว่าจำเลยผิดสัญญาฝากเก็บรักษา มันสำปะหลังเส้น สำหรับคดีหลังนี้ ศาลแพ่งและศาลปกครองกลางมีความเห็นพ้องต้องตรงกันว่า สัญญา ฝากเก็บรักษามันสำปะหลังเป็นสัญญาทางปกครอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง จึงไม่เป็นกรณีขัดแย้งอำนาจหน้าที่กันระหว่างศาล คณะกรรมการจึงไม่จำต้องวินิจฉัยชี้ขาด ส่วนคดีแรกนั้น ศาลทั้งสองมีความเห็นแตกต่างกัน คดีจึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า สัญญาซื้อขายมันสำปะหลังเส้นที่พิพาทเป็นสัญญาทางปกครองหรือไม่ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึง “สัญญาที่คู่สัญญา อย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ” สัญญาพิพาทฉบับนี้เป็นสัญญาที่มีองค์การคลังสินค้า จำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ. ๒๔๙๘ มีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง จึงเป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่ง เป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่อย่างไรก็ตาม สัญญาทางปกครองจะต้องมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือ แสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สำหรับสัญญาซื้อขายมันสำปะหลังเส้นแม้จะมีจำเลยซึ่งมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองและเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้ขายก็ตาม แต่สัญญาดังกล่าวก็ไม่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน หรือสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ หรือเป็นสัญญาที่หน่วยงานทางปกครองให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเข้าดำเนินการหรือ เข้าร่วมดำเนินการบริการสาธารณะโดยตรง หรือเป็นสัญญาที่มีข้อกำหนดในสัญญาซึ่งมีลักษณะพิเศษ ที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐ ทั้งเพื่อให้การดำเนินกิจการทางปกครองอันเป็นบริการสาธารณะบรรลุผลแต่อย่างใด สัญญาซื้อขายมันสำปะหลังเส้นที่พิพาทนี้ จึงมิใช่สัญญาทางปกครองแต่อย่างใด แต่เป็นสัญญาที่คู่สัญญา ทำขึ้นโดยมุ่งผูกพันด้วยใจสมัครบนพื้นฐานแห่งความเท่าเทียมกัน อันเป็นสัญญาทางแพ่งที่มีคู่สัญญา เป็นฝ่ายปกครองเท่านั้น ดังนั้น คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายมันสำปะหลังเส้นจึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีหมายเลขดำที่ ๘๙๗/๒๕๔๕ ระหว่าง บริษัท จัตุรัสมันสำปะหลัง จำกัด โจทก์ องค์การคลังสินค้า จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลแพ่ง

(ลงชื่อ) ศุภชัย ภู่งาม (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายศุภชัย ภู่งาม) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท วิรัตน์ บรรเลง (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(วิรัตน์ บรรเลง) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share