แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕๖/๒๕๔๗
วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลปกครองสงขลา
ระหว่าง
ศาลจังหวัดยะลา
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองสงขลาโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคสอง ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลหนึ่งไม่รับฟ้องเพราะเหตุว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง เมื่อมีการฟ้องคดีต่ออีกศาลหนึ่งแล้ว ศาลดังกล่าวเห็นว่าคดีนั้นไม่อยู่ในเขตอำนาจเช่นกัน
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๗ นายณรงฤทธิ์ พิณสุวรรณ์ โจทก์ ได้ยื่นฟ้อง พันตำรวจโท สมศักดิ์ ตั้งนภาดล ที่ ๑ และพันตำรวจโท ประสิทธิ์ จันทร์สว่าง ที่ ๒ เป็นจำเลย ต่อศาลจังหวัดยะลา ความว่า เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ได้ร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ กล่าวคือ ได้มีความเห็นว่าควรสั่งฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญา ฐานทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสียหรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งพินัยกรรมหรือเอกสารใดของผู้อื่น ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ทั้งที่มูลคดีเป็นความผิดในทางแพ่ง และในระหว่างที่จำเลยทั้งสองเสนอเรื่องต่อพนักงานอัยการจังหวัดยะลาเพื่อพิจารณาสำนวนคดี โจทก์ต้องยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวต่อพนักงานอัยการจังหวัดยะลา ซึ่งต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดยะลาได้มีคำสั่งไม่ฟ้องโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง อับอาย ขายหน้าและถูกดูหมิ่นจนเป็นที่รังเกียจแก่สังคม จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่า จะชำระเสร็จ
ศาลจังหวัดยะลาพิเคราะห์แล้วมีความเห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองตามคำฟ้อง ของโจทก์เป็นกรณีกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดยะลา แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง จึงมีคำสั่งไม่รับฟ้อง
ศาลปกครองสงขลาพิเคราะห์แล้วมีความเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเนื่องจากการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย เมื่อการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่โดยใช้อำนาจตามมาตรา๑๒๑ และมาตรา ๑๔๒ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงเป็นการฟ้องเรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันสืบเนื่องจากการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งอยู่ในอำนาจ การควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งตามนัยมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ศาลปกครองมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการกระทำทางปกครอง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗๖ ซึ่งรวมถึงอำนาจในการพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีที่มีการฟ้องเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ในกรณีที่เป็นการกระทำ ทางปกครองด้วย ส่วนศาลยุติธรรมมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวงที่ไม่อยู่ในอำนาจ ของศาลอื่น ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗๑ ซึ่งได้แก่คดีอาญา คดีแพ่ง และคดีอื่น ๆ ที่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ
สำหรับการดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น เป็นขั้นตอนเพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดในคดีอาญาอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ดังนั้น แม้ว่าในขั้นตอนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ คือ พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ อาจจะมีการกระทำทางปกครองปะปนอยู่ด้วย แต่ขั้นตอนใดเป็นการกระทำตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะโดยตรง การกระทำ ในขั้นตอนนั้นก็ย่อมอยู่ในอำนาจการควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม แต่หากการกระทำนั้น เป็นการกระทำที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการกระทำนอกเหนือหรือมิได้กระทำตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และเข้าเกณฑ์เป็นการกระทำละเมิดหรือเป็นความรับผิด อย่างอื่นตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ การกระทำนั้นก็จะอยู่ในอำนาจการควบคุมตรวจสอบของศาลปกครอง
คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีได้ฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและเป็นเจ้าหน้าที่ ของรัฐที่ทำหน้าที่พนักงานสอบสวนว่าร่วมกันกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ในการที่มีความเห็นว่าควรสั่งฟ้องผู้ฟ้องคดีเป็นคดีอาญา ในความผิดตามมาตรา ๑๘๘ แห่งประมวลกฎหมายอาญา และส่งตัวผู้ฟ้องคดีต่อพนักงานอัยการจังหวัดยะลา ทั้งที่มูลคดีเป็นความผิดในทางแพ่ง ทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวต่อพนักงานอัยการจังหวัดยะลา อันเป็นการกล่าวอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเมื่อการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ในฐานะพนักงานสอบสวน โดยใช้อำนาจตามมาตรา ๑๒๑ และมาตรา ๑๔๒ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในการพิจารณาสำนวนการสอบสวนและควบคุมตัวผู้ต้องหาเพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดอาญา จึงเป็นการดำเนินการของพนักงานสอบสวนตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้อำนาจไว้เป็นการเฉพาะโดยตรง มิใช่การกระทำละเมิดเนื่องจากการใช้อำนาจ ทางปกครอง คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาพิพากษา ตามนัยมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ ได้แก่ ศาลจังหวัดยะลา
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายณรงฤทธิ์ พิณสุวรรณ์ ผู้ฟ้องคดี พันตำรวจโท สมศักดิ์ ตั้งนภาดล ที่ ๑ พันตำรวจโท ประสิทธิ์ จันทร์สว่าง ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลจังหวัดยะลา
(ลงชื่อ) ศุภชัย ภู่งาม (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายศุภชัย ภู่งาม) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท วิรัตน์ บรรเลง (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(วิรัตน์ บรรเลง) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
๔