แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การรับช่วงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 226 ได้แก่การเอาทรัพย์สินอันหนึ่งเข้าแทนที่ทรัพย์สินอีกอันหนึ่งในฐานะนิตินัยอย่างเดียวกันกับทรัพย์สินอันก่อน การที่ทรัพย์สินของสามีจำเลยและของจำเลยตกไปเป็นของรัฐตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นไปตามกฎหมาย และนโยบายของรัฐบาลไม่ใช่เป็นการช่วงทรัพย์และไม่ใช่เหตุสุดวิสัยจำเลยจึงหาหลุดพ้นจากความรับผิดที่จะต้อง ชำระหนี้แก่โจทก์ไม่
มูลหนี้เดิมในคดีล้มละลายเกิดจากสัญญาจ้างเหมาให้โจทก์ก่อสร้างบ้านพักของจำเลยอันเป็นหนี้ที่ชอบด้วยกฎหมายแม้โจทก์ได้ฟ้องบังคับจำเลยให้ชำระหนี้ เพื่อโจทก์จะได้อาศัยหนี้ตามคำพิพากษาไปยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จากกระทรวงการคลัง ก็เป็นสิทธิอันชอบที่จะกระทำเช่นนั้นได้ การที่โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความชำระหนี้แก่โจทก์ ในคดีแพ่งดังกล่าว มิใช่เกิดจากการสมยอมโดยปราศจากมูลหนี้อันต้องห้ามตามพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช 2483 มาตรา 94 เมื่อหนี้เดิมได้แปลงมาเป็นหนี้ใหม่ตามคำพิพากษาตามยอมจึงหาทำให้หนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความกลายเป็นหนี้ที่ไม่อาจขอชำระได้ไม่และแม้จำเลยจะได้ชำระหนี้ให้โจทก์แล้วถึงร้อยละ 79.01 เมื่อปรากฏว่าจำเลยค้างชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงินถึงหนึ่งล้านสามแสนบาทเศษ และจำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบแล้วว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้ และทรัพย์สินของจำเลยถูกยึดไปเป็นของรัฐหมดแล้วเช่นนี้ย่อมถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 8, 9 จำเลยนำสืบไม่ได้ว่า อาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด ทั้งไม่เป็นการแน่นอนว่าสามีจำเลยและจำเลยจะได้รับทรัพย์สินที่ถูกยึดคืนตามที่ร้องขอหรือไม่ คดีจึงมีเหตุสมควรให้ลูกหนี้ (จำเลย) ล้มละลายได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่า จำเลยยอมใช้เงิน ๘๐๐,๙๕๖ บาท ให้โจทก์โดยชำระเสร็จภายใน ๓ เดือน นับแต่วันทำยอม ศาลแพ่งพิพากษาตามยอมเมื่อครบกำหนด จำเลยไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหลายครั้ง แต่จำเลยไม่ชำระ จำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช ๒๔๘๓ ขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การว่า การที่จำเลยยังไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ไม่ใช่ความผิดของจำเลย เป็นเหตุสุดวิสัยและการทำสัญญาประนีประนอมยอมความก็ เป็นการที่โจทก์ยอมให้จำเลยทำขึ้นโดยรู้อยู่แล้วว่าจำเลยไม่มีทางชำระหนี้ได้เพราะทรัพย์สมบัติถูกยึดไปหมดแล้ว หนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความไม่อาจขอรับชำระหนี้ได้จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์แล้ว ร้อยละ ๗๙.๐๑ จึงไม่สมควรที่จะสั่งให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช ๒๔๘๓ มาตรา ๑๔
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ จำเลยจ้างเหมาให้โจทก์ก่อสร้างบ้านพักในที่ดินของจำเลยที่ชายหาดพัทยารวม ๓ หลัง เป็นเงิน ๓,๗๒๖,๙๕๖ บาท จำเลยชำระค่าจ้างให้โจทก์แล้วบางส่วนคงค้างชำระอยู่อีก ๘๐๐,๙๕๖ บาท วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๑๗ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้มีคำสั่งที่ สลร. ๓๕/๒๕๑๗ ให้ทรัพย์สินของสามีจำเลยและของจำเลยซึ่งรวมทั้งที่ดินและอาคารบ้านพักที่จำเลยจ้างเหมาให้โจทก์ปลูกสร้างดังกล่าว ตกไปเป็นของรัฐเป็นเหตุให้จำเลยไม่มีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้ เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๑๗ โจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งขอบังคับให้ชำระหนี้ดังกล่าวระหว่างพิจารณาโจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อหน้าศาลโดยจำเลยยอมชำระเงินจำนวน ๘๐๐,๙๕๖ บาท ให้โจทก์ภายใน ๓ เดือน นับแต่วันทำยอม (วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๑๗) ศาลพิพากษาตามยอมตามคดีหมายเลขแดงที่ ๖๘๙๓/๒๕๑๗ แต่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว แล้ววินิจฉัยว่าที่จำเลยฎีกาว่ากระรวงการคลังได้รับข่วงทรัพย์และหน้าที่ในการชำระหนี้ค่าจ้างสร้างอาคารบ้านพักที่ จำเลยยังค้างชำระแก่โจทก์ไปแล้ว จำเลยย่อมหลุดพ้นหนี้สินที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้นเห็นว่าการรับช่วงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๖ ได้แก่การเอาทรัพย์สินอันหนึ่งเข้าแทนที่ทรัพย์สินอีกอันหนึ่งในฐานะนิตินัยอย่างเดียวกันกับทรัพย์สินอันก่อน การที่ทรัพย์สินของสามีจำเลยและของจำเลยตกไปเป็นของรัฐตามคำสังนายกรัฐมนตรีไม่ใช่เป็นการช่วงทรัพย์ จำเลยหาหลุดพ้นจากหนี้สินที่จะต้องรับผิดต่อโจทกไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
จำเลยฎีกาว่า จำเลยยังมีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์สินที่ถูกยึดซึ่งมีราคามากกว่าหนี้สิน และการที่จำเลยยังชำระเงินให้โจทก์ไม่ได้ ไม่ใช่ความผิดของจำเลย หากแต่เป็นเพราะเหตุสุดวิสัยโดยมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีมายึดทรัพย์ของสามีจำเลยและจำเลยไปนั้น เห็นว่าการที่ทรัพย์สินของสามีจำเลยและของจำเลยตกไปเป็นของรัฐตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นไปตามกฎหมายและนโยบายของรัฐบาล และไม่เป็นการแน่นอนว่า สามีจำเลยและจำเลยจะได้รับทรัพย์คืนตามที่ร้องขอหรือไม่ ส่วนการที่ทรัพย์สินของสามีจำเลยและของจำเลยตกไปเป็นของรัฐดังกล่าว ก็หาใช่เหตุสุดวิสัยอันจะทำให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดที่จะต้องชำระหนี้แก่โจทก์ไม่
จำเลยฎีกาอีกว่า การก่อหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความหลังจากทรัพย์สินถูกยึดไปหมดแล้ว และโจทก์ทราบอยู่แล้วว่าจำเลยไม่มีทางชำระหนี้ได้ หนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความจึงไม่เป็นหนี้ที่โจทก์จะขอรับชำระหนี้ได้ ทั้งโจทก์ได้รับชำระหนี้แล้วถึงร้อยละ ๗๙.๐๑ จึงไม่สมควรที่จะให้จำเลยล้มละลายนั้น เห็นว่ามูลหนี้เดิมในคดีนี้เกิดจากสัญญาจ้างเหมาให้โจทก์ก่อสร้างบ้านพักของ จำเลยอันเป็นหนี้ที่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จะได้ความว่า โจทก์ได้ฟ้องบังคับจำเลยให้ชำระหนี้เพื่อโจทก์จะได้อาศัยหนี้ตามคำพิพากษาไปยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จากกระทรวง การคลัง ก็เป็นสิทธิอันชอบที่จะกระทำเช่นนั้นได้ การที่โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความชำระหนี้แก่โจทก์ในคดีแพ่งดังกล่าว มิใช่เกิดจากการสมยอมโดยปราศจากมูลหนี้อันต้องห้ามตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ มาตรา ๙๔ เมื่อได้ความว่าหนี้เดิมได้แปลงมาเป็นหนี้ใหม่ตามคำพิพากษาตามยอม จึงหาทำให้หนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความกลายเป็นหนี้ที่ไม่อาจขอรับชำระหนี้ได้ไม่และแม้จำเลยจะได้ชำระหนี้ให้โจทก์แล้วถึงร้อยละ ๗๙.๐๑ เมื่อปรากฏว่าจำเลยค้างชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงินถึงหนึ่งล้านสามแสนบาทเศษ และจำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบแล้วว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้และทรัพย์สินของจำเลยถูกยึดไปเป็นของรัฐหมดแล้วเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ มาตรา ๘๙ จำเลยนำสืบไม่ได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด คดีจึงมีเหตุสมควรให้ลูกหนี้ (จำเลย) ล้มละลายได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ชอบแล้ว
พิพากษายืน